ข่าว

"หมอประกิต" เตือนก.คลังอย่าเป็นไดโนเสาร์ทำโครงสร้างภาษียาสูบหลายขั้นหวังอุ้ม ยสท.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอประกิต" เตือน กระทรวงคลังอย่าเป็นไดโนเสาร์ทำโครงสร้างภาษียาสูบหลายขั้นหวังอุ้ม ยสท.

   

“หมอประกิต” ออกโรงเตือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ผ่านแถลงการณ์ด่วนของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ เรียกร้องให้พิจารณา 7 ข้อเสนอในการปรับโครงสร้างภาษียาสูบที่กระทรวงการคลังจะนำเสนอต่อ ครม. ย้ำชัดว่าอย่าใช้วิธีคิดยุคไดโนเสาร์ที่ทำโครงสร้างภาษีบุหรี่เป็นหลายอัตราเพื่อจะอุ้มสถานภาพการยาสูบฯ ให้อยู่รอดและมีกำไร ในขณะที่ประเทศทั่วโลกพยายามปรับโครงสร้างภาษียาสูบมาใช้ภาษีแบบมูลค่าอัตราเดียวและเป็นไปตามหลักการสากล แต่ไทยกำลังจะออกนโยบายหลงยุคเดินถอยหลังตกคลอง   

    

กลายเป็นประเด็นร้อนทันทีเมื่อการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ออกมาให้ข้อมูลว่า มีแนวคิดที่จะพัฒนาบุหรี่ใหม่ในปีนี้มาจำหน่ายในราคา 50-55 บาท แต่ต้องขึ้นอยู่กับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ที่ ยสท.เสนอให้กรมสรรพสามิตพิจารณาบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จะผ่านความเห็นชอบหรือไม่    
    

"หมอประกิต" เตือนก.คลังอย่าเป็นไดโนเสาร์ทำโครงสร้างภาษียาสูบหลายขั้นหวังอุ้ม ยสท.

 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า หากโครงสร้างภาษียาสูบที่รัฐบาลจะประกาศออกมาใหม่ทำให้ ยสท.สามารถออกสินค้าบุหรี่ในราคาต่ำในตลาดระดับล่างได้ และหวังว่าจะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นด้วยนั้น เท่ากับว่า รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งอัตราการบริโภคยาสูบก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของรัฐบาลเองที่ตั้งเป้าจะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้ได้ตามเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนด 
    

“มีความเป็นไปได้ที่โครงสร้างภาษียาสูบใหม่จะถูกแบ่งออกเป็นหลายขั้น แทนที่จะปรับมาเป็นภาษีอัตราเดียวตามหลักสากล วิธีคิดแบบนี้มันคือยุคไดโนเสาร์ ที่ผ่านมา 3 ปีไทยใช้อัตราภาษีมูลค่า 2 ขั้นคือ 20% กับ 40% รัฐก็มองเห็นปัญหามากมายที่เกิดจากช่องว่างทางภาษีที่ทำให้บุหรี่ต่างประเทศนำเข้าสินค้ามาขายในราคาต่ำเพื่ออยู่ในระดับภาษี 20% ในขณะที่ ยสท.ต้องเพิ่มราคาบุหรี่ ตลาดของยสท.จึงหายไปและกำลังจะเจ๊งเพราะยอดขายลด กำไรลด ในขณะที่บุหรี่ต่างประเทศมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม มันเป็นผลลัพธ์ที่ผิดพลาดมาแล้ว ไม่ควรจะเกิดซ้ำอีก” ศ.นพ.ประกิต กล่าวและชี้ประเด็นว่าหาก ยสท.ทำสินค้าราคาต่ำได้  กระทรวงการคลังไม่คิดหรือว่าบุหรี่ต่างประเทศก็ทำสินค้าราคาต่ำมาแข่งขันได้เช่นกัน  ยสท.เอาอะไรมามั่นใจว่าตลาดล่างจะเป็นของ ยสท.รายเดียว   


“เรามีบทเรียนกันแล้วเมื่อครั้งที่ใช้โครงสร้างภาษี 2 ขั้นตั้งแต่ปี 2560 ถ้าครั้งนี้ยังให้น้ำหนักกับการอุ้ม ยสท.ให้อยู่รอด แล้วทำโครงสร้างภาษีเป็นหลายขั้น เพราะคิดว่าตลาดล่างต่างชาติไม่สนใจ และราคาบุหรี่ต่ำจะแก้ปัญหาบุหรี่เถื่อนได้ตามที่ผู้ว่าการยสท.บอก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการจัดการบุหรี่เถื่อนมันใช้กลไกราคาสินค้ามาแก้ไขไม่ได้ มันต้องใช้ระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลต้องไปใส่ใจจุดนั้น  โครงสร้างภาษียาสูบใหม่รอบนี้ควรจะเป็นโครงสร้างภาษีอัตราเดียว จึงอยากให้กระทรวงการคลังได้พิจารณาข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อที่ภาคีเครือขายควบคุมยาสูบเสนอ” ศ.นพ.ประกิต กล่าวย้ำ
    

"หมอประกิต" เตือนก.คลังอย่าเป็นไดโนเสาร์ทำโครงสร้างภาษียาสูบหลายขั้นหวังอุ้ม ยสท.

 

อีกมุมมองจากนักวิชาการ ดร.อิศรา ศานติศาสน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ยาสูบและผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ระบุว่า หากกระทรวงการคลังจะใช้แนวทางการแบ่งชั้นภาษีเป็นหลายขั้น ก็ต้องกำหนดภาษีชั้นล่างสุดในอัตราที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้  แต่แนวทางที่ควรจะเป็นคือ ควรใช้โครงสร้างภาษีอัตราเดียวและให้เป็นไปตามแนวทางหลักสากล  โดยโครงสร้างภาษีอัตราเดียวที่มีความเหมาะสมและเอื้อประโยชน์ให้ทุกฝ่ายทั้งภาคธุรกิจ  ภาครัฐ  และเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ภาษีควรจะอยู่ในอัตรา 30% เป็นขั้นต่ำ  ซึ่งจะทำให้ระดับราคาบุหรี่เฉลี่ยในตลาดขยับขึ้นไปที่ไม่เกิน 70 บาทต่อซอง จากปัจจุบันที่ใช้โครงสร้างภาษี 2 ขั้น ราคาบุหรี่เฉลี่ยในตลาดอยู่ที่ 66 บาทต่อซอง

 

"หมอประกิต" เตือนก.คลังอย่าเป็นไดโนเสาร์ทำโครงสร้างภาษียาสูบหลายขั้นหวังอุ้ม ยสท.

 


ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษียาสูบ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำข้อเสนอโครงสร้างภาษียาสูบส่งไปยังกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลัง โดยแนะว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบควรรวมอัตราภาษีมูลค่าให้เหลืออัตราเดียวในระดับที่เหมาะสมกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในยุคที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังซบเซาโดยยกตัวอย่างระดับภาษีที่เหมาะสมคือ  23% ซึ่งเป็นระดับที่ช่วยเพิ่มรายได้รัฐและเพิ่มราคาบุหรี่ที่เหมาะสมกับกำลังซื้อผู้บริโภค 

“ผมไม่เห็นด้วยกับการที่กระทรวงการคลังจะกำหนดนโยบายภาษีเพื่อเอื้อให้ ยสท.ทำสินค้าราคาต่ำลงได้ เพราะจะต้องมีการเพิ่มอัตราภาษีจาก 2 อัตราที่มีปัญหามากอยู่เล้วให้เป็น 3 อัตรา โดยลดอัตราภาษีลงอีกสำหรับอัตราล่างสุด ซึ่งการใช้ระบบภาษีมาอุ้มผู้ประกอบการในประเทศเป็นหลักการที่ล้าสมัย ไม่มีใครทำเเล้ว  หรือหากทำจริงก็ไม่สามารถปกป้องอุตสาหกรรมยาสูบในประเทศได้ อย่างที่ทราบกันดีว่าในปี 2560 มีการกำหนดภาษี 2 อัตราและได้ผลออกมาตรงกันข้าม เพราะรัฐไม่มีทางรู้ได้ว่าตลาดบุหรี่โดยเฉพาะบุหรี่นำเข้าจะมีการปรับราคาอย่างไรภายใต้โครงสร้างภาษีใหม่” ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าว


ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ที่มีปัญหาโครงสร้างภาษียาสูบ พบว่า ยิ่งกำหนดภาษีมากอัตราปัญหาก็ยิ่งมาก เพราะเป็นตัวเร่งให้บุหรี่ทั้งในและนอกประเทศลดราคาลงมาแข่งขันกันจนกระทบเป้าหมายด้านรายได้ของรัฐและสุขภาพประชาชน  หลายประเทศจึงหันมาใช้ภาษีอัตราเดียวกันมากขึ้น  มีตัวอย่างประเทศที่มีโครงสร้างภาษีที่ดีใช้แล้วได้ผล ซึ่งกระทรวงการคลังควรจะได้นำข้อมูลไปพิจารณา  เช่น ฟิลิปปินส์ สหราชอารณาจักร และสิงคโปร์ ที่มีการใช้ภาษีอัตราเดียวและมีอัตราภาษีมูลค่าเป็นสัดส่วนน้อยหรือแทบไม่มีเลย  


ศ.ดร.อรรถกฤติ กล่าวอีกว่า  โครงสร้างภาษีอัตราเดียวน่าจะช่วย ยสท.ได้ดีกว่าโครงสร้างภาษีหลายอัตรา หลักคิดคือ ถ้าวัดระดับการทำกำไรของบริษัทเอกชนโดยดูอัตรากำไรของบุหรี่ที่ปัจจุบันเสียภาษี  40% ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่า ไม่มีบริษัทบุหรี่เอกชนต้องการเสียภาษีในอัตราที่สูงเท่ากับ 79% ของราคาขายบุหรี่ขายดีในตลาดที่ปัจจุบันขายกันที่ราคาซองละ 60 ดังนั้น หากมีการใช้ภาษีอัตราเดียวในระดับที่เหมาะสม คือ ไม่สูงจนเกินไป จะทำให้มีโอกาสสูงที่บุหรี่นอกจะขึ้นราคาขายไปจับตลาดบนมากกว่ามาอัดแข่งขันกับบุหรี่ของ ยสท. ที่ราคา 60 บาทต่อซอง  ช่วยเพิ่มความหลากหลายด้านราคาของบุหรี่ และส่งผลดีต่อ ยสท. และชาวไร่ยาสูบ 


สำหรับ 7 ข้อเสนอของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ประกอบด้วย
1) ภาษียาสูบที่จะปรับใหม่ต้องส่งผลดีต่อทั้งการจัดเก็บภาษีของรัฐ และทำให้การสูบบุหรี่ลดลง ตามหลักการที่ระบุไว้ในอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี 
2)โครงสร้างภาษีที่ปรับใหม่ต้องไม่ทำให้ภาระภาษีของสินค้ายาสูบโดยรวมลดลงเพราะภาระภาษีที่ลดลงจะทำให้คนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น
3)โครงสร้างภาษีใหม่ควรจะประกอบด้วย ส่วนที่เก็บตามปริมาณ และส่วนที่เก็บตามมูลค่าราคาขายปลีก
4)โครงสร้างอัตราภาษีที่เก็บตามมูลค่าควรจะมีเพียงอัตราเดียวเพื่อป้องกันการลดราคาของบริษัทบุหรี่และเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะนำของอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก   
5) ภาษีที่คิดตามมูลค่าราคาขายปลีกควรจะกำหนดเป็นอัตราเดียว เช่น 32-35% ของราคาขายปลีก
6)โครงสร้างภาษีที่คิดตามปริมาณที่ปัจจุบันเก็บ 1.2 บาทต่อมวนควรจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 หรือ 1.4 บาทต่อมวน และปรับขึ้นทุก 2 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อและ 
7)ควรมีการกำหนดแผนระยะยาวที่จะขึ้นภาษียาเส้นเพื่อลดความแตกต่างด้านราคาระหว่างบุหรี่ซิกาแรต และยาเส้นซึ่งจะช่วยป้องกันการที่ผู้สูบบุหรี่จะหันมาสูบยาเส้นที่มีราคาถูกกว่า

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ