ข่าว

กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนสร้าง"ระบบน้ำ"ในไร่นาสู่ความมั่นคงด้านน้ำสมาชิกสหกรณ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนสร้าง"ระบบน้ำ"ในไร่นาสู่ความมั่นคงด้านน้ำสมาชิกสหกรณ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าน้ำคือชีวิตของเกษตรกร หลังกรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาแก่สมาชิกสถาบันเกษตร ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ที่อนุมัติจัดสรรเงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จำนวน 300 ล้านบาทให้แก่กรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อนำไปดำเนินโครงการดังกล่าว
โดยเบิกจ่ายจากเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อนำไปสนับสนุนเงินกู้แก่สมาชิกสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง ให้สามารถบริหารจัดการน้ำ ได้เพียงพอตลอดฤดูกาลผลิตและตลอดทั้งปี โดยมีกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ ปี 2559 – 2564 โดยปลอดการชำระหนี้ 2 ปีแรก หลังจากนั้นแบ่งจ่ายเป็นงวดๆภายใน 5 ปีตามระยะเวลาของโครงการ

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าอย่างมาก มีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เข้าร่วมโครงการฯจำนวน 6,010 ราย แบ่งเป็นขุดสระเก็บกักน้ำ 2,016 ราย ขุดเจาะบ่อบาดาล 2,715 ราย และจัดหาเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น เครื่องสูบน้ำท่อส่งน้ำในระบบน้ำหยดหรือพ่นละอองน้ำอีกจำนวน 1,279 ราย  
จากความสำเร็จดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการระยะที่ 2 ขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่อนุมัติเงินกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพิ่มให้อีก 500 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินงาน 6 ปี ตั้งแต่ปี 2563 – 2568  
“โครงการนี้ดอกเบี้ยไม่มี เป็นโครงการปลอดดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรเพื่อขอเงินทุนไปพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นาของเขาเอง จะขุดสระน้ำหรือเจาะบ่อบาดาลแล้วแต่ความต้องการของเกษตรกร บางรายอาจจะมีโรงเรือนทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแหล่งน้ำที่ปลอดภัย ไม่ปนเปื้อนสารเคมีหรือสารพิษ”นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยรายละเอียดโครงการฯ

                          กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนสร้าง"ระบบน้ำ"ในไร่นาสู่ความมั่นคงด้านน้ำสมาชิกสหกรณ์

                          นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

และยอมรับว่าโครงการนี้เป็นที่สนใจของเกษตรอย่างมาก เพราะว่าเมื่อเขามีน้ำแล้วก็จะสามารถทำการเกษตรต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เป็นการจูงให้เกษตรกรกลุ่มหัวไวใจสู้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรแบบเดิม ๆ ปลูกพืชเชิงเดี่ยวมีรายได้ปีละครั้งให้หันมาทำเกษตรผสมผสานปลูกพืชที่หลากหลายมากขึ้น  เนื่องจากมีแหล่งน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งปี 
 จากข้อมูลการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 นั้น ปรากฎว่ามีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการมากถึง 10,250 ราย แบ่งเป็นขุดสระเก็บกักน้ำ 3,234 ราย ขุดเจาะบ่อบาดาล 6,871 ราย และจัดหาเฉพาะอุปกรณ์อีก 145 ราย

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการติดตามผลการดำเนินงานและลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการสนับสนุนสมาชิกและกลุ่มเกษตรกรในอนาคต กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้จัดทำพิกัดแผนที่บริเวณแหล่งน้ำของสมาชิก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน 2564
อย่างไรก็ตามการดำเนินการโครงการดังกล่าวมีการบูรณาการหน่วยที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล           กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน รวมถึงกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่มาคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำปรึกษาและวางแผนในด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดอีกด้วย
 

ลุงสมศักดิ์ บุญมา เกษตรกรหัวก้าวหน้าใน ต.สาลิกา อ.เมือง จ.นครนายกและสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเมืองนครนายก จำกัด ซึ่งกู้เงินโครงการฯมาจำนวน 3 หมื่นบาทเพื่อปรับปรุงบ่อน้ำเดิมให้สามารถเก็บกักน้ำได้ตลอดทั้งปี จนทุกวันนี้ไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด
“กู้เงินโครงการมา 3 หมื่นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนี้ได้ใช้คืนเขาไปหมดแล้ว ก็รู้สึกว่าดีขึ้น ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี         จากเมื่อก่อนได้แต่พึ่งพาฟ้าฝนอย่างเดียว ถ้าฝนไม่ตกก็ทำอะไรไม่ได้เลย ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น แต่ตอนนี้ปลูกได้ทุกอย่าง” ลุงสมศักดิ์ เผยความรู้สึกหลังมีบ่อน้ำใหม่จากเงินกู้ของโครงการฯ

                    กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนสร้าง"ระบบน้ำ"ในไร่นาสู่ความมั่นคงด้านน้ำสมาชิกสหกรณ์

                          ลุงสมศักดิ์ บุญมา เจ้าของสวนมะยงชิดในต.สาลิกา อ.เมือง จ.นครนายก

ปัจจุบันลุงสมศักดิ์มีพื้นที่ทำนา(เช่า)ประมาณ  3 ไร่ พร้อมกับปลูกไม้ผลต่าง ๆ  เช่น มะม่วง มะยงชิด กล้วย ส้มโอ ตลอดจนพืชผักต่าง ๆ ภายในบริเวณบ้าน ทำให้มีรายได้ทั้งรายวัน รายเดือนและรายปี จากการจำหน่ายผลผลิตพืชผักและผลไม้ที่ปลูกไว้ ซึ่งเป็นผลอานิสงค์จากโครงการฯ 
ปัญหาน้ำของลุงสมศักดิ์ ไม่ต่างจาก”นุชา บุญมา” เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 29 ปีที่มีปัญหาเรื่องน้ำทำการเกษตรเช่นกัน   จะต่างกันก็ตรงที่นุชาผ่านประสบการณ์งานเกษตรในต่างแดนที่มีแหล่งน้ำภาคการเกษตรอุดมสมบูรณ์ ด้วยระบบชลประทานที่ครบวงจร หลังเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมผู้นำเยาวชนเกษตรกรไทย ณ เมืองไซดามะ ทางตอนกลางของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2560

กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนสร้าง"ระบบน้ำ"ในไร่นาสู่ความมั่นคงด้านน้ำสมาชิกสหกรณ์                                นุชา บุญมา เกษตรกรรุ่นใหม่ในต.สาลิกา อ.เมือง จ.นครนายก

ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยไปอาศัยอยู่กับครอบครัวชาวญี่ปุ่น ทำให้ได้เรียนรู้งานเกษตรแบบครบวงจรในแดนอาทิตย์อุทัย ก่อนนำประสบการณ์มาต่อยอดงานเกษตรที่บ้านเกิดในต.สาลิกา อ.เมือง จ.นครนายกในปัจจุบัน
“ที่ญี่ปุ่นเขามีระบบชลประทานที่ดีมาก แปลงเกษตรไม่ว่าจะอยู่มุมไหนน้ำเข้าถึงทุกแปลง แต่บ้านเขาจะมีปัญหา       เรื่องดินมากกว่า ตรงข้ามกับบ้านเรา สภาพดินไม่เป็นปัญหา แต่จะมีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ”นุชา สะท้อนภาคการเกษตรระหว่างญี่ปุ่นกับไทย หลังใช้ชีวิตเรียนรู้งานเกษตรที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 1 ปี
หลังจากกลับมาก็เริ่มต้นอาชีพการเกษตรอย่างเต็มตัวด้วยการเริ่มปลูกเมล่อนตามกระแสนิยมในขณะนั้น แต่ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก ก่อนจะหันมาเอาดีปลูกมะเดื่อฝรั่ง บนเนื้อที่ 2 ไร่ และผลไม้อื่น ๆ อาทิมะยงชิด มะม่วง กล้วย ฝรั่ง และพืชอีกหลากหลายชนิด หลังเข้าร่วมโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาแก่สมาชิกสถาบันเกษตร เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา โดยกู้เงินจากโครงการฯจำนวน 5 หมื่นบาทมาปรับปรุงพัฒนาบ่อน้ำเดิมให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มมากขึ้น

               กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนสร้าง"ระบบน้ำ"ในไร่นาสู่ความมั่นคงด้านน้ำสมาชิกสหกรณ์
“เพิ่งกู้เงินโครงการฯมา 5 หมื่นเมื่อปีที่แล้วเพื่อเอามาปรับปรุงบ่อน้ำเดิมให้มีขนาดความจุมากขึ้น บ่อใหม่กว้าง 10 เมตร ยาว 50 เมตรและลึก 5 เมตร เพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นาน คิดว่าหลังจากนี้คงจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำอีกต่อไป” เกษตรกรคนเก่งเผยและยอมรับว่ากว่าจะได้เงินกู้ก้อนนี้มาจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่ โดยขั้นตอนแรกหลังจากทำเรื่องยื่นขอกู้ก็จะมีเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจพื้นที่ ตรวจสอบรายละเอียดในทุกขั้นตอน พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำการวางแผนการผลิต ชนิดพืชที่ปลูก รวมถึงช่วยวางแผนด้านการตลาดด้วย
“สิ่งแรกที่เขาต้องดูว่าเราทำจริงหรือไม่ ที่ดินมีโฉนดหรือไม่ เงินที่กู้มาไม่พอ เราก็ต้องออกเองบางส่วน หลังปรับปรุง บ่อน้ำเสร็จ ก็จะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายกเข้ามาแนะนำเรื่องการปลูกพืช ร่วมวางแผนการผลิต พืชชนิดใดเหมาะปลูกช่วงไหนเพื่อให้สอดรับกับการตลาดในแต่ละช่วง”นุชาย้ำทิ้งท้าย
โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาแก่สมาชิกสถาบันเกษตร จึงนับเป็นอีกความหวังของเกษตรกรสมาชิกในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำภาคการเกษตรในพื้นที่ที่ระบบชลประทานยังเข้าไปไม่ถึง 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ