
"เจ้ติ๋ม ทีวีพูล"เฮ ชนะคดีฟ้อง กสทช. ผิดสัญญาทีวีดิจิทัล หลังสู้มากว่า 5 ปี
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดี"เจ้ติ๋ม ทีวีพูล"ฟ้อง กสทช. ผิดสัญญาทีวีดิจิทัล โดยสั่งให้ กสทช. คืนเงินค่าใบอนุญาต งวดที่ 1 ที่จ่ายเกินไปจำนวน 152 ล้านบาทและให้ กสทช.คืนหนังสือค้ำประกันทั้งหมดให้กับ"เจ้ติ๋ม ทีวีพูล"หากคืนไม่ได้ให้ใช้คืนเป็นเงินสด1,750 ล้านบาท
วันที่ 8 มีนาคม 2564 ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ ระหว่าง บริษัท ทีวีพูล พับลิชชิ่ง จำกัด ของ นาง พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ เจ้ติ๋ม ทีวีพูล ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดย เจ้ติ๋ม ทีวีพูล เดินทางไปยังศาลปกครองสูงสุด ที่แจ้งวัฒนะ พร้อม นายโชกุล ศกุณต์ไชย นายกันต์พงษ์ ศกุณต์ไชย ซึ่งทั้งสองเป็นลูกชายของนางพันธุ์ทิพา ,ต้อย แอ๊คเนอร์ และนางสาวชลวิภา วิริยะกุล (ทนายความ) หลังจากฟ้องขอหนังสือค้ำประกันคืนทั้งสองช่อง จำนวน 1,750 ล้านบาท
ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้ พิพากษาคดีให้ “เจ้ติ๋ม ทีวีพูล” ชนะคดี กสทช โดยระบุว่า กสทช. ผิดสัญญา โดยให้ กสทช. คืนเงินค่าใบอนุญาต งวดที่ 1 ที่จ่ายเกินไป จำนวน 152 ล้านบาท และให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันทั้งหมด หากคืนไม่ได้ ให้ใช้คืนเป็นเงินสด จำนวน 1,750 ล้านบาท
โดยสรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า
1. การดำเนินการของ กสทช. ในการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลเกิดความล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนงานและตามที่ กสทช. ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ตามประกาศเชิญชวนผู้สนใจยื่นเอกสารแสดงคุณสมบัติเพื่อคัดเลือกเป็นผู้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล
2. การแจกคูปองเป็นไปอย่างล่าช้าเป็นเวลาถึง 6 เดือน นับตั้งแต่วันออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลให้แก่ไทยทีวี
3. การประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์ทำได้ไม่ทั่วถึง ประชาชนไม่เข้าใจวิธีการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์รวมทั้งการใช้คูปอง ทำให้เกิดความสับสนกับขั้นตอนและกระบวนการแจกคูปองไม่สามารถแจกคูปองให้ถึงประชาชนได้ครบทุกพื้นที่ทำให้การแลกซื้อเครื่องรับสัญญาณเป็นไปอย่างล่าช้า
ประชาชนไม่มีความเข้าใจและขาดความเชื่อมั่นในการแลกเครื่องรับสัญญาณว่าจะสามารถรับชมช่องรายการโทรทัศน์ได้หรือไม่ หรือได้กี่ซ่องรายการ ทำให้ประชาชนไม่สนใจโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลมากเท่าที่ควร
4. การขยายโครงข่ายเป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อสัดส่วนจำนวนผู้ชม อันมีผลต่อการเสนออัตราค่าเช่าช่วงเวลาและอัตราค่าโฆษณาอันเป็นที่มาของรายได้ของไทยทีวี ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ
ทำให้ไทยทีวีได้รับความเดือดร้อนต้องแบกรับภาระต้นทุนทั้งด้านการบริหารจัดการสถานีต้นทุนในการบริหารช่องรายการและเนื้อหารายการค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี ค่าธรรมเนียมสมทบกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่
แม้ว่าจะมีการประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏว่า กสทช. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
5. อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า กรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้ดำเนินการติดตั้งและเปิดให้บริการโครงข่าย เนื่องจากการติดตั้งโครงข่ายติดขัดเรื่องงบประมาณ แม้ว่า กสทช. จะมีคำสั่งให้กรมประชาสัมพันธ์ชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 20,000 บาทก็ตาม
ซึ่งการที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งและเปิดให้บริการโครงข่ายได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลที่ต้องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ อันเป็นผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของผู้ให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ที่จะได้จากพื้นที่นั้นๆ