ข่าว

อดีตรักษาการ หน.ไทยรักไทย."จาตุรนต์ ฉายแสง"ชี้ประชานิยม ไทยรักไทย เพิ่มช่องทางทำกินปชช.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อดีตรักษาการ หน.ไทยรักไทย."จาตุรนต์ ฉายแสง" ยันไม่ทราบ "ทักษิณ" ร่วมคลับเฮาส์คืนวานนี้ ย้ำความหมายประชานิยมยุคไทยรักไทย เพิ่มช่องทางทำมาหากินให้ปชช. ต่างจากนิยามปัจจุบัน ชี้ ทรท.ประสบความสำเร็จการเมือง มาจากปัจจัยหลายส่วนเอื้อ

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2564 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมสนทนาผ่าน Clubhouse ในห้องชื่อว่า “ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้” พร้อมใช้ชื่อบัญชีว่า “Tony Woodsome” เมื่อคืนวานนี้ ว่า ส่วนตัวไม่ทราบเจตนาแท้จริง และก็ไม่ได้ร่วมเปิดห้องสนทนานี้ เพราะอยู่ระหว่างเริ่มใช้

ทั้งนี้ ยอมรับว่าเห็นมีนัดกันเรื่องเกี่ยวกับไทยรักไทย ทำนองใครเกิดทันหรือจำได้ มาคุยกัน ซึ่งเป็นหัวข้อน่าสนใจ เพราะส่วนตัวเคยอยู่พรรคไทยรักไทยมาก่อน อีกทั้ง ไม่ทราบว่าจะมีใครเข้ามาบ้าง โดยเฉพาะนายทักษิณ ไม่ได้รู้ล่วงหน้า แต่พอเข้าไปแล้วถึงรู้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"นายกฯ"ลั่นไม่มีเวลาเล่น "คลับเฮ้าส์ " ต่อขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ถึง 31 มี.ค. เข้า ครม.

อย่างไรก็ตาม การสนทนาในห้องดังกล่าว มีการพูดถึงประชานิยม และพรรคไทยรักไทย ว่าประสบความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งตนแค่พูดในบางประเด็น เพราะหากพูดมากไปอาจเป็นการอภิปรายและไม่ตรงวัตถุประสงค์ และในห้องมีคำถามหลากหลาย และก็ได้แต่ฟัง

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวได้อธิบายถึงพรรคไทยรักไทย ประสบความสำเร็จในขณะนั้น มาจากหลายประการ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ที่ตอนนั้นเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง และรัฐบาลใช้เวลา 3 ปี ไม่สามารแก้ได้ ผนวกกับความต้องการของประชาชนอยากหารัฐบาลใหม่ รวมถึงผู้นำ เพื่อพาออกจากวิกฤติ ประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้พรรคการเมืองมีการแข่งขัน

ขณะเดียวกัน ช่วงเลา 3 ปีบวกลบก่อนตั้งพรรค ได้ทำนโยบายจริงจัง ฟังความเห็นต่างๆ และมีการเสนอนโยบายจนได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งไทยรักไทย ถือเป็นพรรคแรก นำนโยบายที่หาเสียง ไปแถลงต่อสภาฯ ชัดเจนเป็นรูปธรรม และต่อมาได้รับเสียงท่วมท้น ซึ่งปัจจัยหลายอย่างบังเอิญพอดีกัน
 

อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ย้ำถึงคำว่า ประชานิยม มีความเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งคำดังกล่าวเอามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกาใต้ แต่นโยบายเหล่านั้น แค่หาคะแนนนิยม เพื่อให้คนเลือก จนเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ แต่พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่ความหมายนั้น เพราะการดำเนินนโยบายขณะนั้น ต้องการให้ประชาชน มีช่องทางทำมาหากิน ใช้นโยบายไปแล้ว ประหยัดค่าใช้จ่ายประชาชน มีกำลังซื้อทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของพรรคไทยรักไทย มีการตั้งเป้า ก่อนเข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาบริหารขาดดุลงบประมาณ แต่ไทยรักไทย ตั้งเป้า 3-4 ปี ต้องทำให้งบกลับมาเป็นสมดุลให้ได้ จนขึ้นปีที่ 3 เข้าสู่ปีที่ 4 เศรษฐกิจกลับมาเป็นงบประมาณสมดุลในรอบหลายปี พร้อมใช้หนี้ไอเอ็มเอฟได้ ดังนั้น ประชานิมยมที่พรรคทำ จึงไม่ใช่คำนิยามความหมายที่เรียกกันมา เนื่องจากไม่ได้ผลาญงบเหมือนบางประเทศในอดีต

สำหรับนโยบายไทยรักไทยในอดีต จะนำกลับมาใช้ในยุคนี้ได้หรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่า บางเรื่องใช้อยู่ แต่อะไรที่ใช้แล้ว มันต้องปรับปรุงพัฒนาด้วย ดังนั้น ใครหรือพรรคไหนจะเอานโยบายเหล่านี้หาเสียง ต้องปรับปรุงให้ก้าวหน้า เช่น สาธารณสุข 30 บาท ให้ได้รับการรักษาเร็วขึ้น อีกทั้ง บ้านเมืองต้องการอะไรใหม่ๆ เช่น ศึกษา ใช้แท็บเล็ต เมื่อ 15 ปีก่อน แต่วันนี้ยังไม่ไปถึงไหน เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ต้องไปสิ่งใหม่ส่วนกรณีนายทักษิณ มีการวิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนจุดแข็งพรรคเพื่อไทย ส่วนตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว เพราะออกจากเพื่อไทยมาเกิน 2 ปีแล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ