ข่าว

"ศรีสุวรรณ"ชี้เบี้ยยังชีพคนชราไม่ต้องส่งคืนถ้ารับไว้โดยสุจริต ใช้หมดแล้วและขาดอายุความ

"ศรีสุวรรณ"ชี้เบี้ยยังชีพคนชราไม่ต้องส่งคืนถ้ารับไว้โดยสุจริต ใช้หมดแล้วและขาดอายุความ

30 ม.ค.64  นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลาง ได้มีการตรวจสอบพบว่า มีคนชรารับเงินเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญไปพร้อมๆกันซึ่งซ้ำซ้อนกันเป็นจำนวนกว่า 15,000 คนทั่วประเทศ ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2552 จึงมีหนังสือแจ้งไปยังกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแจ้งให้ท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศตรวจสอบรายชื่อผู้สูงอายุในเขตอำนาจของตน เพื่อทวงคืนเงินทั้งหมดส่งกลับกรมบัญชีกลาง เพราะตามหลักกฎหมายถือว่า “เป็นลาภมิควรได้” จนกลายเป็นประเด็นปัญหาต่อผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากอยู่ในขณะนี้นั้น

แต่การมาเรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุในขณะนี้ ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากตามหลักกฎหมายว่าด้วย “เป็นลาภมิควรได้” ตาม ป.พ.พ.มาตรา 412 นั้นท่านว่า “เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริตจึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน” เท่านั้น และใน มาตรา 419 ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น”

กรณีการจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุดังกล่าว เป็นการดำเนินการของรัฐบาลผู้เสียหาย คือ  กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มมีระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2552 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.2552 แล้ว รวมระยะเวลาก็กว่า 11 ปีไปแล้ว และกระทรวงการคลังเริ่มมีการตรวจพบปัญหาความซ้ำซ้อนดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2562 และต่อมากรมบัญชีกลางก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้แจ้งจังหวัด อำเภอและท้องถิ่นต่าง ๆ ในการทวงถามการขอเงินคืนไปยังผู้สูงอายุต่างๆที่รับเงินซ้ำซ้อนดังกล่าว ซึ่งอาจเกินระยะเวลา 10 ปีตามที่กฎหมายกำหนดไปแล้ว
          

อกจากนั้นยังมีหลักฐานอีกว่านางนิโลบล แวววับศรี รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ก็ได้แถลงเองว่าเหตุผลที่เพิ่งมีการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว ทั้งที่การจ่ายเงินคนชราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 นั้นก็เพราะการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกรมบัญชีกลางในเรื่องดังกล่าว เพิ่งจะมีการเชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2563 ดังนั้น ข้อมูลที่พบว่ามีการรับเงิน 2 ทาง คือ ทั้งเบี้ยยังชีพคนชราและเงินบำนาญจึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า กรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลัง เริ่มรับรู้ถึงความเสียหายเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี หรือเกินระยะเวลา 10 ปีไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องเรียกเงินคืน เพราะ “ขาดอายุความ” ไปแล้วนั้นเอง

อีกทั้งมีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 10850/2559 ระบุไว้ชัดเจนว่า “จำเลยได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญไว้โดยสุจริตและนำไปใช้จ่ายหมดแล้วก่อนที่โจทก์จะเรียกคืน จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 412” ดังนั้นการที่กรมบัญชีกลางเรียกคืนเงินดังกล่าว จึงใช้อำนาจกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้นเอง นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

ข่าวยอดนิยม