ข่าว

อ.เจษฎา บุก ศธ.ชูป้ายประท้วงปิดโรงเรียนชี้ "การปิดโรงเรียนควรเป็นทางเลือกสุดท้าย"

อ.เจษฎา บุก ศธ.ชูป้ายประท้วงปิดโรงเรียนชี้ "การปิดโรงเรียนควรเป็นทางเลือกสุดท้าย"

26 ม.ค. 2564

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ถือป้ายหน้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประท้วงปิดโรงเรียน ชี้ การปิดโรงเรียนควรเป็นทางเลือกสุดท้าย และโรงเรียนต้องเป็นสถานที่แรกๆที่เปิด หากมีการผ่อนคลาย

เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (25 มกราคม 2564) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปถือป้ายอ่านแถลงการณ์หน้ากระทรวงศึกษาธิการเพื่อประท้วงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักเรียน เนื่องมาจากการปิดเรียนในสถานการณ์โรคโควิด-19 ชี้ เด็กนักเรียนกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถเรียนทางไกลได้

สำหรับคำแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า "เด็กๆไม่สามารถรับผลกระทบของการปิดโรงเรียนต่อไปได้อีกปี ขณะที่เราได้เข้าสู่ปีที่ 2 ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ทุกฝ่ายต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดได้อย่างต่อเนื่อง หรือจัดให้เป็นสถานที่ที่เปิดได้ในลำดับต้นๆ ในมาตรการ

 

แม้ว่าจะมีหลักฐานมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการปิดโรงเรียน และแม้ว่าหลักฐานต่าง ๆ จะแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่หลักของการแพร่เชื้อ แต่ประเทศต่าง ๆ ก็ยังคงเลือกที่จะปิดโรงเรียนและสถานศึกษา ซึ่งบางแห่งได้ปิดมาแล้วเกือบหนึ่งปี

 

การปิดโรงเรียนในประเทศต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อนักเรียนร้อยละ 90 ทั่วโลกในช่วงที่มีการแพร่ระบาดสูงสุด โดยเด็กนักเรียนกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถเรียนทางไกลได้ ประมาณการณ์ว่า เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจะเพิ่มขึ้นถึง 24 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นปัญหาที่เราพยายามทุ่มเทแก้ไขมาโดยตลอด

 

ทักษะการอ่านออกเขียนได้และการคำนวณของเด็กกำลังได้รับผลกระทบ อีกทั้งทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตท่ามกลางเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 ก็กำลังถดถอย นอกจากนี้ สุขภาพ พัฒนาการ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เด็กกลุ่มเปราะบางที่สุดกำลังเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

 

การไม่ได้กินอาหารที่โรงเรียน ทำให้เด็กจำนวนมากหิวโหยและมีภาวะโภชนาการที่แย่ลง การขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และการไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวในแต่ละวัน ทำให้เด็ก ๆ ต้องสูญเสียสมรรถภาพทางกายและเกิดความเครียด และเมื่อขาดการสนับสนุนต่าง ๆ จากโรงเรียน ส่งผลให้เด็ก ๆ มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกทำร้าย การถูกบังคับให้แต่งงาน และการถูกใช้แรงงาน นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการปิดโรงเรียนจึงควรเป็นทางเลือกสุดท้าย หลังจากได้พิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว

 

การตัดสินใจเรื่องการเปิดปิดโรงเรียนควรประเมินจากความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ การปิดโรงเรียนทั่วประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงและระบบสาธารณสุขกำลังแบกรับภาระอย่างหนัก ซึ่งอาจจำเป็นต้องปิดโรงเรียน ก็ควรมีมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือเพื่อให้เด็กบางกลุ่มสามารถเรียนต่อได้ในห้องเรียน เช่น กลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อความรุนแรงในบ้าน หรือเด็กที่ต้องพึ่งพิงอาหารที่โรงเรียน หรือเด็กที่พ่อแม่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน

 

 

ในพื้นที่ ๆ มีการล็อกดาวน์ โรงเรียนต้องเป็นสถานที่แรก ๆ ที่เปิดก่อนเมื่อรัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการ นอกจากนี้ควรจัดชั้นเรียนพิเศษเพื่อช่วยให้เด็กที่ไม่สามารถเรียนทางไกล สามารถเรียนตามทันได้ เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หากเด็ก ๆ ต้องเผชิญกับการปิดโรงเรียนต่อไปอีก 1 ปี ก็จะส่งผลกระทบต่อไปอีกหลายรุ่นอายุทีเดียว”

 

แถลงการณ์ของนางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ

 

20 มกราคม 2021

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ มีการโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า "เมื่อวาน ยืนประท้วงที่หน้ากระทรวงศึกษา แล้วโดนตัดจบแบบแป้กๆ ฮะๆๆ เลยคิดว่าไปยืนเซลฟี่ที่อื่นบ้าง ดีมั้ย คิดว่า ไปที่ไหนดี ระหว่าง 1. ก. การอุดมศึกษา , 2. ก. สาธารณสุข , 3. ศาลาว่าการ กทม , 4. ทำเนียบรัฐบาล หรือ 5. ไม่ต้องไปไหนหรอก ทำไง เค้าก็ไม่สนใจ ฮะๆๆๆ"

 

 
 
CR เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant