ข่าว

กรุงเทพฯหลังยุคอาจารย์กฤษฎา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โลกนี้ได้สูญเสียบุคคลที่มีคุณค่าคนหนึ่งไป นั่นก็คือ ร้อยเอกกฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ที่เป็นอะไรหลายๆ อย่าง แต่จะขอสรุปส่วนที่ผมว่ามีความสำคัญที่จะกล่าวถึงในคอลัมน์ครั้งนี้ นั่นก็คือ สถาปนิกมือทองของสังคมไทยถึงขั้นได้รับการยกย่องให้เป

 เป็นอาจารย์ผู้วางรากฐานวิชาการผังเมืองในสังคมไทย และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันจนกระทั่งเรามีรถไฟฟ้าสายแรกเป็นผลสำเร็จ นับตั้งแต่เป็นรองผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครสมัยมหาจำลองนั่นแหละครับ

 สิ่งที่ อาจารย์กฤษฎา ทำนั้นไม่ได้มีผลต่อกรุงเทพฯ หรือประเทศไทยเท่านั้น แต่หมายถึงมีความหมายให้แก่โลกด้วย เพราะกรุงเทพฯ นั้นก็เป็นมหานครหนึ่งของโลก

 ตึกรามบ้านช่องในกรุงเทพฯ จำนวนมากนั้นเป็นฝีมือการออกแบบของ อาจารย์กฤษฎา และบริษัทของอาจารย์ ไม่ว่าเซ็นทรัล ชิดลม ธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ อาคารใหม่สวนอัมพร รวมไปถึงห้องสมุดเอยูเอ

 พูดง่ายๆ อย่างนี้ดีกว่า ว่าคนจำนวนมากในสังคม โดยเฉพาะชนชั้นกลางของกรุงเทพฯ นั้นล้วนแล้วแต่เติบโตขึ้นมาจากการออกแบบของ อาจารย์กฤษฎา ...ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งจากอาคาร นโยบาย และการขนส่ง

 ผมไม่ได้เขียนงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อสรรเสริญอาจารย์กฤษฎาอย่างเลิศลอย ผมคิดว่าในหลายๆ อย่างที่อาจารย์กฤษฎาท่านทำและท่านเป็นนั้น ผมคิดว่าความเป็นอาจารย์และนักวิชาการของท่านมีความโดดเด่นมากกว่าความเป็นนักการเมือง หรือข้าราชการ ดังนั้นท่านคงจะยินดีหากจะมีการถกเถียงและระลึกถึงท่านอย่างมีสติ มีหลักวิชา

 อย่างเช่นการถามคำถามว่า กรุงเทพมหานครนั้นจะสามารถก้าวไปพ้นยุคของอาจารย์กฤษฎา (Post-Krisda Bangkok) ได้ไหม? ในความหมายที่ว่า ถ้าอาจารย์กฤษฎานั้นเป็นบุคคลที่มีคุณูปากรต่อการเติบโตของกรุงเทพฯ ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน และความงดงามของอาคารธุรกิจของชนชั้นกลางเสียเป็นส่วนมาก สังคมของเราจะข้ามพ้นยุคของอาจารย์กฤษฎา มาสู่การตั้งคำถามอื่นๆ ได้ไหม

 อาทิ การเริ่มสนใจว่าคนยากคนจนนั้นเขามีสถาปัตยกรรมของเขาเองบ้างไหม เมื่อเทียบกับการมองว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่นั้นเป็นเรื่องของสถาปนิกชื่อดัง และบริษัทใหญ่ๆ และสถาปัตยกรรมโบราณหมายถึงการแสดงอำนาจของผู้ปกครอง

 การศึกษาทางสถาปัตยกรรมจะทำให้เราเข้าใจผู้คนธรรมดาในสังคมว่าเขาเป็นสถาปนิก หรือเป็นลูกค้าของสถาปนิกที่ถูกผลิตมาจากโรงเรียนสถาปัตยกรรม

 สถาปนิกและสถาปัตยกรรม (ไม่จำเป็นต้องหมายถึงศาสตร์ของสถาปนิก แต่อาจรวมถึงการทำให้ทุกคนมีจินตนาการทางสถาปัตยกรรมได้ และเป็นสถาปนิกในชีวิตของพวกเขาเอง) ของคนยากคนจน และของคนจำนวนมากที่ไม่สามารถจ้างสถาปนิกได้ แต่ได้รับผลกระทบจากการออกแบบของคนจำนวนน้อย และจากการตัดสินใจของเจ้าของอาคารที่มีอำนาจมากนั้นจะเป็นอย่างไร (นี่คือแนวทางใหม่ในการศึกษาสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกรุ่นใหม่เขาเริ่มสนใจกันแล้วครับ งานวิจัยเรื่องของสังคมไทยในด้านนี้ก็กำลังจะออกมาเร็วๆ นี้)

 และรูปแบบของชีวิตของคนที่เคลื่อนที่และได้รับอิทธิพล (อาจไม่ได้ประโยชน์เสมอไป) จากนโยบายขนส่งขนาดใหญ่ที่เรียกว่าการขนส่งมวลชน จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คนจำนวนมากจะสามารถแก้ปัญหาการขนส่งได้เองไหม และจะสามารถมีโอกาสเข้าถึงและได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่ดินในเมืองที่มุ่งเอาประโยชน์จากโครงสร้างรถไฟฟ้าและรถใต้ดินอย่างที่เป็นอยู่อย่างไร 

 ผมไม่รู้ว่าเราจะข้ามพ้นมรดกของอาจารย์กฤษฎาไปได้แค่ไหน ผมคิดว่าอาจารย์กฤษฎาท่านคงจะภูมิใจถ้าเราสามารถมีเมืองที่งดงาม สะดวกสบาย และเป็นธรรม อาจารย์ท่านได้วางรากฐานบางเรื่องไว้ให้เราแล้ว พวกเรา สถาปนิก นักผังเมือง และพลเมืองของกรุงเทพฯ ก็ควรจะคุยกัน คิดกัน และผลักดันกันต่อไปครับ

 อย่ารอแค่นโยบายและโครงการของผู้ว่าฯ ยิ้มหวานคนปัจจุบันเท่านั้นครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ