ข่าว

"ทิพานัน" เร่ง "ธนาธร" ตรวจสอบคดีบริษัทน้องชายเอี่ยวติดสินบน - มารดาครอบครองที่ดินผิดกฎหมาย

19 ธ.ค. 2563

"ทิพานัน" เร่ง "ธนาธร" ตรวจสอบคดีบริษัทน้องชายเอี่ยวติดสินบน - มารดาครอบครองที่ดินผิดกฎหมาย ลั่นหากตอบไม่ได้ "อุดมการณ์" ที่ผ่านมาล้วนหลอกลวง

19 ธ.ค.63 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ได้เคยขอความโปร่งใสให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจในฐานะผู้ถือหุ้นและเจ้าของบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดขณะนั้น ตอบคำถามกับสังคมกรณีที่น้องชายคือนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ พัวพันมีเอี่ยวการติดสินบน 500 ล้านบาท และได้จ่ายไปแล้วบางส่วนจำนวน 20 ล้านบาทเพื่อเป็นการจูงใจให้บริษัท เรียลแอสเสทฯ ได้สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาวโดยไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกตินั้น เวลาล่วงเลยมา 12 วันแล้ว ก็ยังไม่ได้คำตอบที่เป็นความจริงในฐานะผู้ถือหุ้นและเจ้าของบริษัทดังกล่าวแต่อย่างใดเลย นอกจากนี้ยังมีคดีที่มารดาของนายธนาธรถือครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวร ก็ยังไม่เห็นมีการชี้แจงใดๆ เช่นกัน

น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า หลังคำแถลงของนายสกุลธร น้องชายของนายธนาธร เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมานั้น สังคมยังมีคำวิจารณ์กันต่อว่า ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ขัดกับแถลงการของโฆษกอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ให้ข้อมูลว่า “ในส่วนของนายสกุลธร ผู้ให้เงินแก่ผู้ต้องหาที่ 1 และที่ 2 โดยมีเจตนาให้นำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำความผิดต่อหน้าที่จึงเข้าลักษณะเป็นการใช้ให้ผู้ต้องหาที่ 2 ไปกระทำความผิด นายสกุลธรจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย” ซึ่งอธิบายตามหลักกฎหมายได้ว่า ผู้เสียหายโดยนิตินัย หมายถึง ผู้ที่ไม่มีส่วนในการกระทำผิด หรือ ไม่เป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน หรือ รู้เห็นในการกระทำผิด หรือ ไม่เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ที่ผิดกฎหมายนั้นด้วย ดังนั้นจึงเป็นเหตุทำให้นายสกุลธรไม่สามารถฟ้องดำเนินคดีกับผู้ที่มาหลอกลวงได้ เพราะการจะฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญากับผู้รับเงิน ผู้ฟ้องจะต้องไม่มีส่วนร่วมกับการกระทำผิดนั้นด้วย หรือตามสุภาษิตกฎหมายที่ว่า เมื่อมาศาลด้วยมืออันสกปรก ศาลย่อมไม่รับบังคับบัญชาให้ 

"ทั้งนี้คำแถลงของนายสกุลธร สำหรับเงินจำนวน 20 ล้านบาทที่อ้างว่าเป็นเงินค่านายหน้านั้นก็มีพิรุธ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 845 ว่าด้วยเรื่องการจ่ายค่าบำเหน็จแก่นายหน้าบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น” ดังนั้นเมื่อนายสกุลธรยังไม่ได้เข้าทำสัญญากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ นายหน้าจึงยังไม่มีสิทธิได้รับเงิน อีกทั้งในการประมูลสิทธิในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ต้องทำตามขั้นตอนอย่างเปิดเผย ให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาประมูลได้ จึงไม่น่าจะต้องมีนายหน้าแต่อย่างใด" น.ส. ทิพานัน กล่าว

น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนสอบสวนคดีและคำพิพากษาจึงน่าเชื่อถือมากกว่าคำแถลงของนายสกุลธรที่กล่าวลอยๆ ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีหลักฐานเพียงพอต่อข้อสงสัยของสังคม และสุดท้ายหากนายธนาธร ที่เป็นต้นแบบให้กลุ่มเยาวชน ไม่สามารถตรวจสอบ ชี้แจง ตอบคำถาม หรือปฏิรูปเรื่องใดๆ ของครอบครัวตนเองได้ ย่อมอาจกลายเป็นผู้หากินกับอุดมการณ์ของประชาชน ดังนั้น ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า นายธนาธรสองมาตรฐาน ไม่ได้เท่าเทียมและโปร่งใสตามที่เขาหลอกลวง