ข่าว

"ชวน" เปิดสัมมนาลดความเหลื่อมล้ำคนพิการในการเลือกตั้ง เปรียบธุรกิจการเมืองเหมือนโรคเอดส์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ชวน" เปิดสัมมนาลดความเหลื่อมล้ำคนพิการในการเลือกตั้ง เปรียบธุรกิจการเมืองเหมือนโรคเอดส์ แนะนักการเมืองอย่าสร้างเงื่อนไขรัฐประหาร ย้ำไทยต้องมีพระมหากษัตริย์

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2563 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการเลือกตั้งและโอกาสในการเมืองของคนพิการ ซึ่งจัดโดยนักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 24 บ้านรัชดา สถาบันพระปกเกล้า และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 
 

"ชวน" เปิดสัมมนาลดความเหลื่อมล้ำคนพิการในการเลือกตั้ง เปรียบธุรกิจการเมืองเหมือนโรคเอดส์

โดยนายชวน ได้กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ภายใต้หลักการที่ว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หลักการนี้เป็นหลักการที่ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศเป็นเข้าของอำนาจ โดยพระมหากษัตริย์ทรงใข้อำนาจผ่าน 3 สถาบันตามที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยเฉพาะอำนาจนิติบัญญัติถือว่าเป็นสัญลักษณ์โดยตรงของความเป็นประชาธิปไตย เพราะมีการนำประชาชนเข้ามาเป็นตัวแทนในการออกกฎหมายเพื่อบังคับคนทั้งประเทศโดยวิธีการเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย และไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญกี่ฉบับก็ตาม แต่ว่าทุกฉบับก็ยอมรับความสำคัญของการเลือกตั้ง เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็มีเงื่อนไขที่กำหนดองค์กรที่มีหน่วยงาน หรือกลุ่ม หรือตัวแทนโดยการแต่งตั้งเข้ามาเป็นสัดส่วนด้วย จะมากหรือน้อยเป็นไปตามยุคสมัย ซึ่งพัฒนาการประชาธิปไตยที่ผ่านมายาวนานหลายปี ทำให้ความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น และประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นทำให้เกิดการหวงแหนและผูกพัน และในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2534-2535 คิดว่าน่าจะไม่มีการยึดอำนาจมาอีกแล้ว แต่สิ่งที่เรานึกไม่ถึงคือมีเหตุการณ์ที่แปลกปลอมเข้ามา 

“ผมเคยใช้คำว่าเราเคยมีอหิวาตกโรค โรคเรื้อน วัณโรค รักษาไม่หายเพราะไม่มีวัคซีนสมัยนั้น ที่ผมเล่าเรื่องนี้เพราะว่า เปรียบการเมืองฉันใด โรคที่เราไม่คิดว่ารักษาหายได้ ต่อมามีวัคซีนมียา แต่ก็มีโรคใหม่เกิดขึ้นที่ไม่มีใครคืดคือโรคเอดส์ ซึ่งไม่มีการป้องกัน สมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โรคเอดส์เข้ามา สมัยนั้นก็ไม่มีวัคซีน มีปัญหาน่ากลัว อาจจะไม่ติดเชื้อรุนแรงเท่าปัจจุบันนี้ อันนี้คือสิ่งที่เราไม่คิดว่าโรคร้ายแรงหมดแล้วจะมา ฉันใดการเมืองก็เหมือนกัน”

นายชวน กล่าวต่อว่า ที่เปรียบเทียบครั้งหนึ่งทหารเคยเป็นเงื่อนไขของปัญหาที่ยึดอำนาจ วันหนึ่งเราเห็นประชาธิปไตยแข็งพอสมควรที่ไม่มีเงื่อนไขที่จะเกิดการยึดอำนาจแล้ว และในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี2สมัย ได้ห้ามให้พลเรือนมียศทหาร และได้มีการแต่งตั้งพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. หวังให้มำเรื่องสุจริต ไปตรวจสอบกรณีต่างๆที่มีข้อพิรุธ 

ทั้งนี้ นายชวน กล่าวว่า การยึดอำนาจทุกครั้งจะมีการกล่าวอ้างเรื่องของการทุจริต ดังนั้นนักการเมืองต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เขาเอาไปอ้าง และก็ไม่คิดว่าจะมีโรคใหม่เหมือนโรคเอดส์เกิดขึ้น คือ ธุรกิจการเมือง ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า ซื้อนักการเมือง ซื้อเสียงเลือกตั้ง ซื้อพรรคการเมือง ซื้อสื่อมวลชน ซื้อองค์กรอิสระ และลุกลามไปสถาบันยุติธรรม และหากย้อนไปดูคดีที่เกิดขึ้นมากมาย มีรัฐมนตรีติดคุกไม่น้อยกว่า 10 คน ซึ่งไม่เคยปรากฎใน 88 ปี และจะได้เห็นวิกฤติที่เกิดขึ้นกับการเมืองของไทยอันเกิดจากธุรกิจการเมือง 

นายชวน กล่าวต่อว่า เราเลือกแล้ว ว่าประเทศไทยจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะประเทศเรามีระบบการปกครองผ่านมาเกือบพันปีด้วยระบบที่มีพระเจ้าแผ่นดิน เพียงแต่มีการใช้ชื่อที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ยุคแล้วแต่สมัย แต่ไม่เคยเปลี่ยนเป็นระบบอื่น ไม่เคยไปทดลองเป็นระบบสาธารณรัฐ เราจึงตัดสินใจเมื่อ 88 ปีที่แล้ว ว่าเราเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นรูปแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำให้มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก เมื่อไปอ่านเนื้อหาอล้วก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าบ้านเมือง

“ทั้งที่ความจริงแล้วบ้านเมืองเราไม่ได้มีปัญหา แม้จะเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช พระเจ้าแผ่นดินของเราก็ไม่ได้เหี้ยมโหดเหมือนในหนังฝรั่ง เราเห็นข้อความที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ พระองค์ทรงเขียนบันทึกเป็นจดหมายไว้ชัดเจนว่าพระองค์สละราชสมบัติเนื่องจากพระองค์ไม่เห็นด้วยกับที่คณะราษฎร์ทำ พระองค์ยังรับสั่งไว้ในจดหมายว่าแม้จะเป็นพระมหากษัตริย์ในสัมยสมบูรณาญาสิทธิราชพระองค์ไม่เคยใช้อำนาจในทางไม่ดีที่มีผลร้ายต่อประชาชน อันนี้ก็เป็นอย่างหนึ่งที่ทำให้ระบบเราได้รับการยอมรับ” นายชวน กล่าว 

นอกจากนี้ นายชวน ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ทฤษฎีโดมิโนในขณะเกิดเหตุอินโดจีน ในปี 2518 ที่ประเทศในภูมิภาคเปลี่ยนไปทีละประเทศและมีการคาดหมายว่าประเทศไทยก็จะไม่รอดต้องเปลี่ยนตามไปด้วย โดยหากได้ศึกษาอย่างละเอียดจะทราบถึงเหตุใดที่ไทยถึงรอดจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งที่ประเทศไทยมีการป้องกันตัวเองโดยยอมให้สหรัฐอเมริกาตั้งฐานทัพโดยยึดหลักว่าให้ไปต่อสู้ข้างนอกดีกว่ามาต่อสู้ข้างใน แต่ทั้งนี้เราก็ไม่สามารถเอามาตรฐานปัจจุบันไปวัดอดีตได้

“นอกเหนือจากการที่รัสเซียล่ม แล้วก็ทำให้กำลังของบางประเทศที่รุกไทยอ่อนแอลงแล้ว ส่วนหนึ่งก็คือความผูกพันต่อประชาชนที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยพูดมา 3 ครั้งแล้ว ว่าสถาบันกษัตริย์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ไทยไม่ตกเป็นทฤษฎีโดมิโนอย่างที่ฝรั่งคาดหมายว่าจะเป็น เหตุผลเพราะว่าความผูกพันที่คนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นสูงมาก ในหลวงของเรานั้นมีพระมหากรุณาธิคุณและทรงครองราชย์ยาวนาน ได้เห็นปัญหาของประชาชน โครงการทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของปวงชน เมื่อจะเปลี่ยนแปลงอย่างที่เกิดขึ้นในอินโดจีนคนก็รับไม่ได้สถานการณ์ก็เปลี่ยน” นายชวน กล่าว 

ดังนั้นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย นอกเหนือจากเงื่อนไขของความเป็นประเทศที่มีสิทธิและหน้าให้กับประชาชน ซึ่งเราต้องพยายามย้ำเรื่องของสิทธิและหน้าที่คู่กัน เราไม่สามารถอยู่ได้เพียงรู้จักสิทธิที่จะเรียกร้องอย่างเดียว โดยไม่ทำหน้าที่ และในระบอบนี้แม้การเมืองจะมีการสั่นคลอนอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่ผ่านมา แต่การที่ความมั่นคงยังอยู่ได้เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือสถาบันศาล ไม่ว่าจะมีการยึดอำนาจ หรือไม่ยึดอำนาจ ศาลยังคงสถิตย์ความเป็นธรรมอยู่ ถึงจะไม่ 100% แต่ก็เป็นหลักที่เชื่อถือได้ แต่ฝ่ายที่ปฏิบัติผิดไม่พอใจก็เป็นธรรมดา แต่ขอเรียนว่าหากเราให้ศาลดำรงความเป็นกลางได้แบบนี้ตลอด ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นทางการเมือง บ้านเมืองก็สามารถไปได้ 

นายชวน ยังย้ำว่า เรื่องของความเท่าเทียมทางกฎหมายถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีตนจึงได้ใช้คำขวัญว่า “ผมไม่สามารถทำให้ทุกคนรวยเหมือนกันหมดได้ แต่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน” เพราะนี่คือสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าสังคมนี้น่าอยู่หรือไม่น่าอยู่ 

นอกจากนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังกล่าวชื่นชมนักศึกษาหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนักบริหารระดับสูงรุ่นที่24 หรือ ปปร.24 ที่เห็นความสำคัญของผู้พิการกว่า 1.7 แสนคน ในการเข้าถึงสิทธิขึ้นพื้นฐานและเข้าถึงการเลือกตั้งได้เหมือนกับบุคคลอื่น สังคมที่น่าอยู่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความจนความรวยเพียงอย่างเดียวแต่ขึ้นอยู่กับสังคมที่มีความเป็นธรรม ทั้งนี้หวังว่าจะสามารถทำให้การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการเลือกตั้งและโอกาสในการเมืองของคนพิการให้เป็นรูปธรรม และเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เพื่อให้คนพิการใช้สิทธิ์ได้โดยสะดวก ลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง

"ชวน" เปิดสัมมนาลดความเหลื่อมล้ำคนพิการในการเลือกตั้ง เปรียบธุรกิจการเมืองเหมือนโรคเอดส์

ลดจุกๆ ส่งสุขส่งท้ายปี ช้อปเลย...

"ชวน" เปิดสัมมนาลดความเหลื่อมล้ำคนพิการในการเลือกตั้ง เปรียบธุรกิจการเมืองเหมือนโรคเอดส์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ