ข่าว

"คาราบาว กรุ๊ป" คว้าสุดยอด "แบรนด์องค์กร" หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

"คาราบาว กรุ๊ป" คว้าสุดยอด "แบรนด์องค์กร" หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

11 ธ.ค. 2563

คาราบาว กรุ๊ป ผงาดรับรางวัล "ASEAN and Thailand's Top Corporate Brands 2020" คว้าสุดยอด "แบรนด์องค์กร" หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มูลค่าสูงถึง 56,462 ล้านบาท

         
บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รับรางวัล ASEAN’s and Thailand’s Top Corporate Brands 2020 หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีมูลค่าแบรนด์องค์กร 56,462 ล้านบาท รางวัลซึ่งจัดโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มอบให้แก่องค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดของประเทศไทย และในอาเซียน ประจำปี 2563 ซึ่งจัดติดต่อกันมาเป็นปีที่ 11  

\"คาราบาว กรุ๊ป\" คว้าสุดยอด \"แบรนด์องค์กร\" หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม


      

นายยืนยง โอภากุล กรรมการ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้คาราบาว กรุ๊ป ได้รับรางวัล มูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดในหมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนสำคัญมาจากสินค้าที่มีการวางจำหน่ายแล้วกว่า 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ อังกฤษ จีน ออสเตรเลีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอาเซียน ฯลฯ ซึ่งมีการเติบโตในด้านรายได้ต่อเนื่องรวมถึงปีนี้ แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยรายได้ของคาราบาว กรุ๊ป ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ยังคงเติบโตอยู่ที่ 18% ซึ่งมาจากตลาดส่งออกเป็นหลัก
         

“ปีนี้ถือเป็นปีที่ท้าทายอย่างยิ่ง จากปัญหาโรคระบาดไวรัสโควิด-19 แต่เราไม่ได้รับผลกระทบเรื่องยอดขายมากนัก เพราะคาราบาว กรุ๊ป ไม่ได้ทำธุรกิจโรงแรม หรือการท่องเที่ยว แต่ทำธุรกิจเครื่องดื่ม ทำให้เราไม่เจ็บตัว เพราะเครื่องดื่มถือเป็นปัจจัย 4 อีกทั้งมีการพัฒนาออกมาอีกหลายๆ แบรนด์ เช่น เครื่องดื่ม วู้ดดี้ ซี+ล็อค, กาแฟและน้ำดื่มคาราบาว และจากนี้ยังมีแผนผลิตสินค้าใหม่ๆ เกี่ยวกับเครื่องดื่มออกมาอย่างต่อเนื่อง”
      

\"คาราบาว กรุ๊ป\" คว้าสุดยอด \"แบรนด์องค์กร\" หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

 

ด้านนายกมลดิษฐ สมุทรโคจร กรรมการ และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงเคล็ดลับที่ทำให้มูลค่าแบรนด์องค์กรสูงถึง 56,462 ล้านบาท ว่า เมื่อพูดถึงแบรนด์คาราบาว ทุกคนจะนึกถึงคุณยืนยง โอภากุล ซึ่งเป็นแบรนด์ แอมบาสเดอร์ ในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่มีการแข่งขันอย่างมาก และถือเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ ด้วยกลุ่มแฟนเพลงคาราบาวกับกลุ่มผู้ดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง ถือเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ทำให้แบรนด์คาราบาว สามารถแจ้งเกิดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ด้วยความต่อเนื่องในการสร้างแบรนด์ของบริษัท ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ชื่อคาราบาว แต่มีทั้งโลโก้และคุณยืนยง จึงเป็นการผนึกกำลังของ 3 สิ่งที่ทำให้แบรนด์ที่ก้าวเข้าสู่ปีที่ 19 ยังคงมีความแข็งแกร่งจนถึงทุกวันนี้
    

“คาราบาว กรุ๊ป ใช้การทำงานด้านการตลาดที่หลากหลาย ไม่เพียงออกสื่อแมส มีเดีย แต่ตั้งแต่วันแรกที่เราเปิดตัว มีการลงพื้นที่จริง โดยพี่แอ๊ดเป็นแบรนด์ แอมบาสเดอร์ ที่ลงไปทำงานในพื้นที่ ไปพบผู้บริโภค ร้านค้า มีการใช้ทีมสาวบาวแดง ทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักตั้งแต่ระดับบนสุดถึงล่างสุด แม้จะเป็นเครื่องดื่มชูกำลังในกลุ่มผู้ใช้แรงงานก็ตาม” นายกมลดิษฐ กล่าว 
          

ด้วยแนวทางของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์อย่างมาก ไม่เพียงตลาดในประเทศ แต่มุ่งมั่นยกระดับแบรนด์สู่ระดับเวิลด์คลาส ผ่านการใช้กลยุทธ์ต่างๆ ทั้งการจัดการแข่งขันฟุตบอล “คาราบาวคัพ” ในต่างประเทศ เพื่อทำให้แบรนด์มีความแข็งแรงขึ้นในระดับอินเตอร์ รวมถึงการเป็นผู้สนับสนุนหลักทีมฟุตบอลเชลซี ในระดับโลก
    

นายกมลดิษฐ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีตลาดต่างประเทศที่แข็งแรงมาก ทั้งอาเซียน ตะวันออกกลาง ยุโรป ในประเทศอังกฤษ ที่สำคัญคือตลาดเพื่อนบ้าน เวียดนาม กัมพูชา พม่า ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่เกิดขึ้นจากทีมผู้บริหารเมื่อหลายปีที่ผ่านมา และวันนี้พิสูจน์ได้ว่าเมื่อเกิดวิกฤต กรณีโรคระบาดที่เกิดขึ้น บริษัทจึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ โดยรายได้จากการขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของคาราบาว ในช่วง 9 เดือน 60% มาจากตลาดต่างประเทศ และ 40% มาจากตลาดในประเทศ ซึ่งสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศของบริษัทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เทียบจากในปี 2561 ตลาดในประเทศ 55% และต่างประเทศ 45%
    

สำหรับแนวทางในการเพิ่มมูลค่าแบรนด์องค์กรให้สูงขึ้น บริษัทมุ่งมั่นสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าแบรนด์องค์กรเติบโตตามไปด้วย โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่มีโอกาสอีกมหาศาล รวมถึงการลงทุนใหม่ๆ ในด้านการผลิตซึ่งเป็นต้นน้ำ นอกเหนือจากโรงงานผลิตเครื่องดื่มทั้งขวดและกระป๋อง ปัจจุบันบริษัทมีการขยายไลน์ไปสู่โรงงานผลิตกล่องกระดาษ ผลิตฉลาก ฯลฯ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ต้นทุนในระยะยาวของบริษัทลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต  
           

ศ.ดร. กุณฑลี รื่นรมย์ และ ผศ.ดร. เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สร้างเครื่องมือวัดมูลค่าแบรนด์องค์กร CBS Valuation (Corporate Brand Success Valuation) ตั้งแต่ปี 2554 เปิดเผยว่า ปีนี้แม้จะมีสถานการณ์ไม่ปกติจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่คณะผู้วิจัยยังคงทำงานวิจัยวัดมูลค่าแบรนด์องค์กรของบริษัทจดทะเบียนทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจให้ความสำคัญต่อการสร้างและพัฒนาแบรนด์องค์กร (Corporate Brand) เพื่อความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว
        

เครื่องมือวัดมูลค่าแบรนด์องค์กร เป็นการนำตัวเลขจากงบการเงินในรายงานประจำปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยต่อสาธารณชนมาคำนวณโดยใช้สูตร CBS Valuation ใช้ค่าเฉลี่ยระยะเวลา 3 ปี ปัจจุบันในตลาดอาเซียนมีตลาดหลักทรัพย์ 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม โดยสูตรคำนวณ CBS Valuation ได้บูรณาการแนวคิดด้านการตลาด การเงิน และการบัญชี อย่างมีระบบทำให้สามารถคำนวณมูลค่าแบรนด์องค์กรออกมาได้เป็นตัวเลขทางการเงินโดยไม่มีความลำเอียง