ข่าว

ไปนอนนับดาวกัน ชวนดูฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 13 ธ.ค. ถึงรุ่งเช้า 14 ธ.ค.นี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชวนดู "ฝนดาวตกเจมินิดส์" คืน 13 ธ.ค. ถึงรุ่งเช้า 14 ธ.ค.นี้ คาดปีนี้อัตราการตกเฉลี่ยมากถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง โอกาสดีไร้แสงจันทร์รบกวน สังเกตด้วยตาเปล่าได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชม "ฝนดาวตกเจมินิดส์" คืนวันที่ 13 ธ.ค. ถึงรุ่งเช้า 14 ธ.ค.63 โดยคาดว่าปีนี้จะมีอัตราการตกเฉลี่ยมากถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง โอกาสดีไร้แสงจันทร์รบกวนสังเกตด้วยตาเปล่าได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย ซึ่งก่อนที่เราจะไปชมของจริงมาลองทำความรู้จักกับฝนดาวตกเจมินิดส์กันสักหน่อยดีกว่า


ไปนอนนับดาวกัน ชวนดูฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 13 ธ.ค. ถึงรุ่งเช้า 14 ธ.ค.นี้

 

 

ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids) เป็นฝนดาวตกชุดที่มีต้นกำเนิดจากดาวเคราะห์น้อยเฟทอน (3200 Phaethon) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรรูปร่างรีจนคล้ายวงโคจรดาวหาง ฝนดาวตกชุดนี้เป็นหนึ่งในฝนดาวตกไม่กี่ชุดที่มีต้นกำเนิดมาจากดาวเคราะห์น้อย ต่างจากฝนดาวตกส่วนใหญ่ที่มีต้นกำเนิดเป็นดาวหาง

 

ฝนดาวตกชุดนี้จะปรากฏให้เห็นประมาณวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี ช่วงที่มีอัตราดาวตกสูงสุดประมาณวันที่ 13-14 ธันวาคม มีอัตราดาวตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 120 ดวง/ชั่วโมง ฝนดาวตกเจมินิดส์นับเป็นหนึ่งในฝนดาวตกชุดที่น่าดูที่สุด เนื่องจากมีอัตราเร็วค่อนข้างช้า สังเกตได้ง่าย และยังมีอัตราดาวตกค่อนข้างสม่ำเสมอในแต่ละปี

 

ดาวตกในฝนดาวตกเจมินิดส์มีอัตราเร็วประมาณ 35 กิโลเมตร/วินาที ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับฝนดาวตกชุดอื่น อย่างฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ที่มีอัตราเร็วประมาณ 58 กิโลเมตร/วินาที หรือฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่มีอัตราเร็วประมาณ 71 กิโลเมตร/วินาที

 

ฝนดาวตกเจมินดส์ถูกกล่าวถึงในบันทึกทางประวัติศาสตร์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1862 ด้วยอัตราดาวตกประมาณ 10-20 ดวง/ชั่วโมง ก่อนที่จะมากขึ้นในปัจจุบัน ฝนดาวตกเจมินิดส์จึงถือว่าเป็นฝนดาวตกน้องใหม่เมื่อเทียบกับฝนดาวตกชุดอื่น อย่างฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์และฝนดาวตกลีโอนิดส์ ที่มีบันทึกถึงการปรากฏของฝนดาวตกเหล่านี้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 36 และ ค.ศ. 902 ตามลำดับ

 

ไปนอนนับดาวกัน ชวนดูฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 13 ธ.ค. ถึงรุ่งเช้า 14 ธ.ค.นี้

 

 

ข้อแนะนำในการดูฝนดาวตก

 

สภาพอากาศ ท้องฟ้าใส ไร้เมฆ

 

เวลา ช่วงเวลาที่เหมาะในการสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์จะเป็นช่วงดึกตั้งแต่ 21.00 น.เป็นต้นไป ในช่วงหลังเที่ยงคืนดาวตกจะมีอัตราการตกมากที่สุด เนื่องจากเวลาหัวค่ำจนถึงก่อนเที่ยงคืนเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก เราจะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง ทำให้สังเกตได้ยาก แต่หลังเที่ยงคืนไปจนถึงเวลาใกล้รุ่งจะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกวิ่งในอัตราเร็วที่ช้ากว่าจนมีเวลาที่สามารถชี้ชวนกันดูได้ และมองเห็นความสวยงามของดาวตกได้ชัดเจนขึ้น

 

สถานที่ สถานที่ชมฝนดาวตก ควรเป็นสถานที่ที่มีแสงไฟรบกวนน้อย ห่างไกลจากเมืองหรือแสงไฟตามถนน อุปกรณ์ที่ควรเตรียมเพื่อนอนดูฝนดาวตกประกอบด้วยเก้าอี้เอน เสื่อ ผ้าห่ม และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ให้ความอบอุ่น หากนอนดูดาวตกเพียงคนเดียว เวลานอนรอชมให้หันเท้าไปทางทิศใต้แล้วพยายามมองท้องฟ้าเป็นมุมกว้าง ไม่ควรมองเพ่งไปที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งบนท้องฟ้า เพราะดาวตกจะปรากฏกระจัดกระจายบนท้องฟ้า

 

เมื่อเริ่มนอนชมท้องฟ้าในความมืดประมาณ 30 นาทีแล้ว ดวงตาของเราจะปรับให้เข้ากับความมืด จากนั้นก็อดใจรอจนกว่าคุณจะเริ่มเห็นดาวตก ย้ำว่าควรมองท้องฟ้าเป็นมุมกว้างเข้าไว้ ดาวตกบางลูกอาจปรากฏกลางมุมมองของคุณ หรือส่วนหนึ่งอาจปรากฏบริเวณใกล้ขอบมุมมองสายตา

 

ที่มา FB NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ข้อมูลจาก พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ