
เปิดประเดินร้อน"ขอทาน"ในมุมมองคนสังคม
ท่ามกลางความงามของแสงสีและพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ไม่มีวันหยุด แต่ซีกหนึ่งของสังคม "ขอทาน" เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ จากเพียงความด้อยโอกาสของคนพิการ ก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการค้ามนุษย์ จนนำไปสู่ปรากฏการณ์ "จัดระเบียบขอทาน" ที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่
เริ่มต้นความเห็นแรกด้วยหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการการค้ามนุษย์มูลนิธิกระจกเงา เอกลักษณ์ หลุ่มชุมแข ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการประสานงานหรือนัดประชุมที่จริงจัง แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าควรจะมี 2 มาตรการหลัก มาตรการแรกคือ การบังคับใช้กฎหมาย เริ่มต้นจากการสำรวจพื้นที่และเช็กปริมาณขอทานทั้งหมด มาตรการที่สอง คือ มาตรการรณรงค์ทางสังคมที่ต้องทำไปพร้อมๆ กับมาตรการแรกให้ได้ เพราะต่อให้มีการบังคับใช้ทางกฎหมายมากแค่ไหน หากคนในสังคมยังมองการบริจาคในลักษณะนี้ว่าเป็นการทำบุญ และร่วมบริจาคเงินให้เรื่อยๆ กลุ่มคนขอทานก็จะพยายามใช้ช่องทางความใจบุญของคนมาสร้างแนวทางการขอทานใหม่ๆ อยู่ตลอด
"ไม่ได้ตัดสินว่าการขอทานเป็นสิ่งที่ผิด แต่ไม่ควรอย่างยิ่งที่มีการใช้เด็กมาเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะมาพร้อมกับครอบครัวหรือถูกซื้อมาจากที่อื่นก็ตามล้วนเป็นสิ่งที่ผิด ผมเข้าใจว่าสภาพสังคมในปัจจุบันย่อมมีคนที่พิการหรือรู้สึกพ่ายแพ้จนไม่สามารถทำงานหรือหางานทำได้ จนต้องลดศักดิ์ศรีของตัวเองมานั่งขอเงินจากคนอื่น แม้ว่าเราต้องเคารพการตัดสินใจตามสิทธิพวกเขา แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งขอทานเพราะคนพิการมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากสวัสดิการทางสังคมของรัฐอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีงานวิจัยและแนวทางกับการลงทุนกับคนด้อยโอกาสอย่างจริงจัง" เอกลักษณ์ กล่าว
อาจารย์ สุพัตรา สุภาพ อดีตหัวหน้าภาควิชาสังคม วิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าปัญหาขอทานไทยในฐานะนักวิชาการด้านสังคมว่า ขอทานเหล่านี้จะมีอยู่ 2 รูปแบบ อย่างแรกคือเป็นชาวต่างด้าว อีกรูปแบบของคนไทยที่แกล้งทำเป็นป่วยเจ็บ แกล้งไม่มีขาบ้าง และเช่าเด็กๆ มาขอทานจนเกิดเป็นอาชีพนายหน้าหลอกคนส่งไปขอทานในย่านต่างๆ บางทีขอทานก็อยู่ในรูปแบบของขโมยที่มาเกาะแกะนักท่องเที่ยวแล้วล่วงกระเป๋าไปซึ่งจะ ซึ่งปัจจุบันมีขอทานมากขึ้นน่าจะมีเรื่องของผลประโยชน์ของในการนำคนเข้าเมืองด้วย
"เรื่องของการใช้เด็กเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ที่หลอกเด็กมาทารุณบังคับให้ขอเงินทั้งๆ ที่เด็กควรจะได้รับโอกาสที่จะเรียนรู้สังคมในทางที่ดีและถูกต้องเป็นพื้นฐานก่อน คนพิการถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเลี้ยงดูแล ในเมื่อเกิดมาด้อยโอกาสอยู่แล้ว ก็ไม่ควรปล่อยให้มีชีวิตที่ด้อยตามสภาพร่างกายของเขาควรช่วยให้เขามีรายได้ และห้ามเด็กมานั่งขอทานเป็นอันขาด" นักวิชาการด้านสังคม กล่าว
นอกจากนี้อาจารย์สุพัตรา ยังกล่าวถึงข้อคิดเห็นในการจัดระเบียนขอทานในไทยว่า หากเป็นต่างประเทศจะไม่มีปัญหาในเรื่องของขอทาน เพราะเขาต้องมีการลงทะเบียนขออนุญาตให้เป็นคนเร่ร่อนก่อน และมีจุดสถานที่ที่กำหนดให้สำหรับขอทานได้เท่านั้น ไม่เหมือนประเทศไทยที่สามารถขอได้ในทุกๆ ที่
“ ดีแล้วที่จะจัดระเบียบออกมา แต่ขอให้ปฏิบัติกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง มีความเข้มงวดอย่างเหมือนมาตรการอื่นๆ ที่ออกมาแล้วพอนำไปทำจริงๆ ก็มีการผ่อนผันกัน ที่สำคัญอย่าทำด้วยความรู้สึกผักชีโรยหน้า ที่เมื่อเกิดปัญหาก็จะมาเร่งปฏิบัติและอย่าใช้เรื่องอื่นมาเบี่ยงเบนปัญหานี้ถ้าสุดท้ายแล้วไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามที่ตั้งเป้าไว้ได้” อาจารย์กล่าว
ด้านไฮโซนักวิชาการพาณิชย์ "ก้อง" ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กล่าวว่า ปัญหาขอทานในสังคมไทยถือว่ามีมานานแล้ว หากมีการแก้ไขเกี่ยวกับการจัดระเบียบขอทานนั้น ควรมีการตวรจสอบดูว่าพวกเขาเหล่านั้นมีความตั้งใจที่จะเป็นขอทานจริงหรือไม่ เพราะบางคนเลือกที่จะเป็นขอทานเพราะสภาพแวดล้อมที่เขาเป็นอยู่ หรือไม่สามารถประกอบอาชีพอื่นได้แล้วจริงๆ ขณะที่อีกกลุ่มกับเป็นพวกเอาเปรียบมนุษย์ด้วยกันโดยการหาผลประโยชน์จากผู้ด้อยโอกาสเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง บุคคลกลุ่มนี้ควรรีบเร่งแก้ไข เพราะถือว่าเป็นบุคคลอันตรายต่อสังคมไทยเราเป็นอย่างมาก
"เมื่อก่อนตัวผมเองก็ให้เงินขอทานตามสะพานหรือข้างถนน แต่ปัจจุบันไม่ได้ให้แล้ว เพราะคิดว่ายิ่งให้ก็เหมือนเป็นการส่งเสริมให้มีขอทานและพวกค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้น ตอนนี้จึงหันไปทำบุญในด้านอื่นแทน เช่น การบริจาคสมุดหนังสือ หรืออุปกรณ์การเรียนให้แก่เด็กที่ยากไร้ตามชนบทดีกว่า เพราะคิดว่าน่าจะมีประโยชน์มากกว่าการให้เงินขอทานตามสะพานลอย แต่สำหรับคนเล่นดนตรีเพื่อแลกเงินนั้นก็ยังอยากให้อยู่เพราะอย่างน้อยก็ถือว่าเป็นการใช้ความสามารถที่ตัวเองมีมากกว่าการนั่งเฉยๆ" หนุ่มนักวิชาการพาณิชย์ กล่าว
พร้อมกันนี้ยังแสดงความคิดเห็นต่อด้วยว่า การที่ขอทานบางกลุ่มที่คิดว่าจะยึดอาชีพนี้เป็นหลักนั้นรู้สึกไม่เห็นด้วยจริงๆ เพราะคนเราควรสู้ชีวิต สู้ให้ถึงที่สุดก่อน ควรที่จะหางานทำเอาแรงกายของเราเพื่อแลกกับเงิน ที่สำคัญรัฐบาลควรให้การส่งเสริม ด้วยการช่วยให้มีการจัดอบรมให้ความรู้เบื้องต้นเพื่อที่ไม่ให้เป็นเหยื่อของพวกค้ามนุษย์ หากทางรัฐบาลมีการจัดระเบียบขอทานแบบนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในสังคม เพราะจะสามารถช่วยลดปัญหาขอทานและการค้าแรงงานมนุษย์ในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
เห็นอย่างนี้แล้วคนใจบุญทั้งหลายคงต้องหยุดคิดสักนิดว่า...การให้ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร?
เรื่อง ศิริรัตน์ จำรูญหิน,ณุวภา ฉัตรวรฤทธิ์, ประณีต วรรณวิภูษิต