
พระธุดงค์ เดินข้ามเทือกเขาภูพาน รับบิณฑบาตอาหารพอฉัน เก็บไว้แค่น้ำ 2 ขวด ที่เหลือแจกทานให้ชาวบ้านตามรายทาง
พระธุดงค์ เดินข้ามเทือกเขาภูพาน รับบิณฑบาตอาหารพอฉัน เก็บไว้แค่น้ำ 2 ขวด ที่เหลือแจกทานให้ชาวบ้านตามรายทาง จุดหมายมุ่งปฏิบัติธรรม ปลายทางชายแดน จ.อุบลราชธานี
เรื่องราวของพระดีๆ เดินธุดงค์แบกกลดสะพายบาตร มีธงธรรมจักร และธงชาติปักไว้อยู่ด้านหลัง เดินธุดงค์ปลีกวิเวกหาที่สงบ ตั้งใจศึกษาปฏิบัติธรรม พร้อมสงเคราะห์ทางธรรมแก่ชาวบ้าน ตามเส้นทางที่ผ่าน โดย ใช้เส้นทางผ่าน อ.เต่างอย จ.สกลนคร ตลอดเส้นทางได้มีชาวบ้านและญาติโยม นำกับข้าว อาหาร ผลไม้ และน้ำดื่ม คอยใส่บาตร แต่เมื่อรับบิณฑบาตแล้ว พระธุดงค์รูปนี้ก็จะนำสิ่งของที่รับบิณฑบาตมา คอยแจกทานให้กับชาวบ้านตามเส้นทางที่เดินผ่านไป และเก็บไว้พอฉันเท่านั้น แต่มีเพียงน้ำ 2 ขวด ติดย่ามไว้ตลอดการเดินทางของแต่ละวัน ถือเป็นภาพที่น่าประทับใจแก่ผู้พบเห็น
สอบถามพระธุดงค์รูปดังกล่าว ทราบว่า ออกเดินทางจากชายแดน จ.บึงกาฬ มาตามแผนที่ เดินยึดตามถนนทางหลวงแผ่นดิน เพราะไม่เคยธุดงค์ผ่านมาแถบนี้ โดยใช้เส้นทางผ่านจังหวัดสกลนคร ตั้งใจจะหาพื้นที่ปลีกวิเวกปฏิบัติธรรม มีจุดหมายที่ชายแดน จ.อุบลราชธานี แต่ไม่กำหนดว่าจะใช้เวลาเดินเท่าไร โดยทุกเช้าเมื่อเดินเท้าผ่านหมู่บ้านและชุมชน จะมีชาวบ้านคอยนำอาหารมาถวาย แต่จะรับไว้พอฉันเท่านั้น เก็บไว้แค่น้ำดื่ม ที่เหลือจะให้ทานชาวบ้านต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อการเดิน แต่ในช่วงที่ถุงเท้าที่ใส่เดินมาเกิดขาด ก็จะนำอาหารของบิณฑบาต ขอแลกกับถุงเท้าไว้เปลี่ยน เพื่อป้องกันเศษแก้ว เศษหินตามพื้นถนน ที่มีจำนวนมากตามเส้นทางที่ผ่านมา เกรงว่าจะได้รับบาดเจ็บไปไม่ถึงปลายทาง ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ก็บอกว่า ในเส้นทางแถบนี้จะมีพระธุดงค์ผ่านมาตลอด บางมากัน 2-3 รูป หรือมาองค์เดียว เพราะหากผ่านหมู่บ้านนี้ไปก็จะเป็นทางขึ้นเขาภูพาน เขตรอยต่อจังหวัดมุกดาหาร บนเทือกเขาภูพาน
สำหรับการ ‘ธุดงค์’ คือ วัตรหรือแนวทางปฏิบัติ 13 ข้อ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ให้พระสงฆ์ที่ตั้งใจสมาทานความเพียรได้เลือกนำไปปฏิบัติตามความสมัครใจ เพื่อมุ่งกำจัดกิเลสและขัดเกลาจิตใจ แต่ต่อมาความหมายของธุดงค์ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยหมายถึง วัตรของพระภิกษุที่แบกกลดเข้าป่าเพื่อฝึกปฏิบัติซึ่งกล่าวกันว่า การถือสันโดษเช่นนี้จะช่วยให้จิตพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว แตกต่างจากการอยู่สถานที่เดิมเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้ติดสถานที่และได้รับความสะดวกมากเกินพอดี โดยเฉพาะพระวัดป่า หรือ พระสายกรรมฐาน หลังช่วงออกพรรษา มักจะเดินตามรอยธุดงควัตร ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เนื่องจากถือกันว่าท่านคือพระบุพพาจารย์แห่งพระวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทย อันเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นศึกษาและปฏิบัติภาวนาอย่างจริงจังจนบรรลุถึงธรรม โดยหลวงปู่มั่น มักจะพำนักอยู่ตามป่าเขา เป็นที่มาของชื่อที่เรียกขานกันว่า พระฝ่ายอรัญวาสี พระธุดงคกรรมฐาน หรือ พระป่า
วทวีป ศรีสุชาติ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.สกลนคร