
ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองตราด
ตราด เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยการเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มคนบางพวกถือเป็นถิ่นฐานของตัวเองมาแต่ดั้งเดิม เช่น ชาวชอง ซึ่งพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร มักอาศัยอยู่แถบ อ.เมือง อ.บ่อไร่ และ อ.เขาสมิง
ต่อมาสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ได้เริ่มมีชาวญวนเข้ามาด้วยเหตุผลทางการเมือง
ดังมีปรากฏอยู่ในบ้านแหลมญวน ต.อ่าวใหญ่ จ.ตราด กลุ่มชาวไทย-มุสลิม ที่ ต.น้ำเชี่ยว อ.แหลมงอบ ก็มาจากชาวเขมรกลุ่มหนึ่งที่นับถือศาสนาอิสลาม เรียกตัวเองว่าแขกจาม อพยพหนีการบีบบังคับทางด้านศาสนาของประเทศฝรั่งเศสที่ปกครองดินแดนเขมรอยู่ในขณะนั้น และชาวจีนที่เดินทางเข้ามาค้าขายทางเรือสำเภา
ปัจจุบันความแตกต่างของชนชาตินั้นแทบจะไม่มีหลงเหลืออยู่ เนื่องด้วยต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันจึงทำให้ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี มีการผสมผสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน
นามเมือง “ตราด” ยังไม่มีผู้ใดสรุปได้แน่ชัดว่าเรียกกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ที่พอมีอยู่ก็คือข้อสันนิษฐานของชาวเมืองตราดเองที่เล่าว่า “ตราด” น่าจะเพี้ยนมาจาก “กราด” หรือ “ตราษ” ซึ่งเป็นชื่อเรียกของ ไม้ยางในภาษาเขมร เป็นไม้พื้นเมืองยืนต้นขนาดใหญ่ ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน
คำว่า “ตราษ” กับ “กราด” มีปรากฏอยู่ในเอกสารโบราณ โดยเรียกปะปนกันไปแล้วแต่สำเนียงการพูด เช่นสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏชื่อเมือง “ตราษ” ในภาษีน้ำตาลทราย ส่วนชื่อเมือง “กราด” ปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษาในการเสด็จประพาสหัวเมืองฝั่งตะวันออก ในเอกสารฝรั่งเศสก็มีบันทึกเรื่องเมืองตราดเช่นกัน โดยเขียนว่า Kratt (กราด) ที่น่าจะเขียนตามสำเนียงพูดของชาวบ้านนั่นเอง
ด้วยการผสมกลมกลืนของผู้คนจากชาติพันธุ์ต่างๆ นี้ ชาวตราดจึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำความเข้าใจเรื่องการอยู่ร่วมกันของผู้คนหลายชาติหลายภาษาได้อย่างมีความสุข
แม้ว่าอาจมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่เชื่อว่าคงไม่มีการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาอย่างแน่นอน!