ข่าว

20 ปีไม่เคยเจอแบบนี้ หมอสุภัทร จับผู้ร้ายได้แล้ว เหยื่อ 233 ราย ดำนาแล้วเกิดผื่นคัน

20 ปีไม่เคยเจอแบบนี้ หมอสุภัทร กับภารกิจที่ต้องจับผู้ร้ายที่จะนะให้จงได้ พบเหยื่อแล้วกว่า 233 ราย พูดเป็นเสียงเดียวกัน ดำนาแล้วเกิดผื่นคัน

11 พฤศจิกายน 2563 หมอสุภัทร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา รองประธานชมรมแพทย์ชนบทภาคใต้ โพสต์ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เผย ภารกิจที่ต้องจับผู้ร้ายให้จงได้ หลังผู้ป่วยกว่า 233 ราย เข้ามารักษาที่ รพ. โดยทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ดำนาแล้วเกิดผื่นคัน ซึ่งเมื่อประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทำการสอบสวนหาสาเหตุ เหลือ 2 สิ่งที่เป็นไปได้

 

หมอสุภัทร ระบุว่า ในเดือนที่ผ่านมา เริ่มมีอุบัติการณ์พบคนไข้มีผื่นคันจำนวนมาก มีตุ่มแดงคันนูนอย่างน่ากลัว คันมากตามแขนขา พบว่ามีผู้ป่วยกระจายในพื้นที่ 7 ตำบล คนไข้ทั้งหมดมีอาการผื่นคันหลังการดำนา โดยส่วนใหญ่คนไข้เริ่มคันหลังดำนาได้ 1 - 3 วัน

ผื่นมีลักษณะจำเพาะ คือ เป็นผื่นที่ขาทั้ง 2 ข้าง และแขนข้างที่ถนัดที่ใช้ปักดำกล้าเท่านั้น แขนอีกข้างที่ใช้วางต้นกล้าบนแขนซึ่งไม่ได้สัมผัสน้ำจะไม่มีผื่น ไม่มีผื่นบริเวณร่มผ้าหรือบริเวณอื่นที่ไม่สัมผัสน้ำ พบผู้ป่วยที่มาตรวจรักษามากถึง 233 ราย และมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่เป็นไม่มากและไม่ได้มาตรวจ คนไข้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ดำนามาทุกปี ไม่เคยเจอแบบนี้ ผมเป็นหมอที่โรงพยาบาลจะนะมากว่า 20 ปี ก็ไม่เคยเจอเช่นกัน

 

หมอสุภัทร ระบุต่อว่า คำถาม คือ สาเหตุของผื่นคันที่ระบาดหนักในครั้งนี้ เกิดจากอะไร เกิดจากมลพิษสารเคมีในน้ำ หรือเกิดจากเชื้อโรคเชื้อพยาธิ

ทางโรงพยาบาลจะนะได้รับการช่วยเหลือจาก สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ ที่มาจากกระทรวงสาธารณสุข สถาบันโรคผิวหนังภาคใต้ ซึ่งตั้งที่จังหวัดตรัง และคณะแพทย์จากโรงพยาบาลหาดใหญ่ และสงขลานครินทร์ ร่วมกันมาสอบสวนโรคและหาสาเหตุ จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ทำแผนที่การระบาด เหลือ 2 เหตุที่เป็นไปได้ คือ ผื่นคันจากเชื้อปรสิตที่มาจากหอย ซึ่งเป็นผู้ร้ายที่ต้องสงสัยที่สุด ส่วนน้ำเสียจากการเกษตรหรือโรงงานนั้นน่าจะไม่ใช่ แต่ยังต้องคิดถึงอยู่

 

"ดังนั้น เพื่อให้สามารถจับผู้ร้ายได้แม่นยำ จึงต้องได้นำน้ำและหอยในนาไปตรวจ และมีผู้ป่วย 4 คน ยินดีให้ทำ skin biopsy หรือ ผ่าเอาเนื้อผิวหนังไปตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์ และแล้วเราก็สามารถจับผู้ร้ายได้

ผลการตรวจ skin biopsy พบตัวอ่อนพยาธิตัวแบน cercaria ในผู้ป่วย 3 คน จากที่ผ่าส่งตรวจไป 4 คน และในน้ำที่ส่งตรวจก็พบเชื้อพยาธินี้ด้วย และจากการไปลงพื้นที่เพื่อสำรวจหอยในพื้นที่นา ก็พบทั้งหอยเชอรี่ หอยโข่ง และหอยคัน และหอยคันที่เก็บไปก็ตรวจพบเจอ Cercaria อีกด้วย

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ผื่นคันครั้งนี้ วินิจฉัยโรคว่า เป็น Cercarial dermatitis หรือ Swimmer’s itch หรือ ชื่อไทยๆ เรียกว่า โรคหอยคัน" หมอสุภัทร ระบุ

 

หมอสุภัทร ระบุอีกว่า อาการคันๆ หรือผื่นเกิดจากตัวอ่อนของพยาธิได้ไชเข้าไปสู่ผิวหนังของคนไข้ แต่พยาธินี้เป็นพยาธิใบไม้ในเลือดที่เติบโตได้จำเพาะเฉพาะในสัตว์ (Animal Schistome) ไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยในคนได้ เมื่อชอนไชเข้าสู่ร่างกายของคน พยาธิก็จะตายหลังจากไชไประยะเวลาหนึ่งบริเวณผิวหนัง แต่การไชไปตามผิวหนังก็กระตุ้นให้เกิดผื่นและอาการคัน ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย พบว่าคนไข้ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นได้เองหลังผ่านไป 1 - 2 อาทิตย์ การใช้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ทั่วไปก็สามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น

ส่วนคำถามใหญ่ที่ยังไม่มีใครตอบ คือ อะไรทำให้เกิดการระบาดของเชื้อพยาธิในครั้งนี้ หรือเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเติบโตของหอยและเชื้อพยาธิ หรือการไหลหมุนเวียนของน้ำท่าที่ถูกปิดกั้นจากการถมที่ หรือมีเหตุอื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึง แต่ที่แน่ๆ หากปีหน้าเกิดซ้ำ พื้นที่ทำนาของจะนะที่ลดลงต่อเนื่องอยู่แล้วน่าจะลดลงมากไปอีกอย่างแน่นอน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม