
เปิดคลิปการทำงานของหุ่นยนต์เติมสินค้าบนชั้นวางร้านสะดวกซื้อในโตเกียว
ร้านสะดวกซื้อในโตเกียว เริ่มประจำการหุ่นยนต์เพื่อทำหน้าที่เติมสินค้าบนชั้นวาง
สำนักข่าว CNN รายงานว่า ในสัปดาห์นี้ ลอว์สัน แฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เริ่มใช้หุ่นยนต์เติมสินค้าบนชั้นวางเป็นครั้งแรกแล้วที่สาขาหนึ่งในกรุงโตเกียว ส่วนแฟมมิลี่มาร์ท ทดลองหุ่นยนต์แบบเดียวกันเมื่อเดือนก่อน พร้อมระบุว่ามีแผนติดตั้งหุ่นยนต์ 20 ตัวตามสาขาต่างๆในปี 2022
หุ่นยนต์ดังกล่าวมีชื่อว่า โมเดล-ที ( Model-T) ผลงานการพัฒนาของ Telexistence สตาร์ทอัพญี่ปุ่น มีความสูง 2 เมตรเศษเมื่อตั้งตรงเต็มที่ เคลื่อนที่บนฐานล้อ ติดกล้อง ไมโครโฟนและเซ็นเซอร์ ใช้นิ้วกล 3 นิ้วคีบจับสินค้า อาทิ ขวดน้ำ กระป๋อง และชามข้าว ใส่ชั้นวาง
ภาพ Telexistence Inc
แมตต์ โคมัตสึ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจและปฏิบัติการของ Telexistence เปิดเผยกับ ซีเอ็นเอ็น บิสเนส ว่า โมเดล-ที สามารถหยิบจับ และจัดวางวัตถุหลากหลายรูปทรงและขนาดใส่ในตำแหน่งต่างๆได้ แตกต่างจากหุ่นยนต์ที่ใช้ในหลายห้างเวลานี้ เช่น วอลมาร์ท ที่ใช้หุ่นยนต์สแกนสต็อกบนชั้น หรือหุ่นยนต์แบบที่ใช้เติมกล่องในโกดัง ที่จะหยิบจับของอย่างเดียวกันจากตำแหน่งเดียวกันและวางบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ซึ่งการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์แบบนั้นจำกัดมากเมื่อเทียบกับหุ่นยนต์ที่บริษัทพัฒนาขึ้น
ภาพ Telexistence Inc
การทำงาน - หุ่นยนต์ “โมเดล-ที” ตั้งชื่อตามรถยี่ห้อฟอร์ดรุ่นบุกเบิกต้นศตวรรษที่ 20 ใช้พนักงานร้านเป็นผู้ควบคุมระยะไกล โดยสวมแว่น VR หรืออุปกรณ์แสดงภาพ 3 มิติเหมือนจริง กับถุงมือพิเศษให้ผู้ควบคุมรู้สึกถึงการสัมผัสสินค้าที่หุ่นยนต์กำลังจับอยู่ด้วยมือตัวเอง และสื่อสารกับคนในร้านผ่านไมโครโฟนกับหูฟัง
ไม่ขายแต่ให้เช่า -Telexistence ไม่มีแผนขายโมเดล-ที และระบบวีอาร์แก่ร้านค้าโดยตรง แต่เป็นบริการให้เช่าแทน บริษัทไม่เปิดเผยอัตราค่าบริการ แต่ยืนยันว่าต้นทุนไม่ได้แพงไปกว่าแรงงานคน
ภาพ Telexistence Inc
โคมัตสึ กล่าวว่า ในทางทฤษฎี สามารถควบคุมหุ่นยนต์ตัวนี้จากที่ไหนก็ได้ ระหว่างการทดลองที่ร้านแฟมมิลีมาร์ทในกรุงโตเกียวเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้ควบคุม (pilot) บังคับจากห้องวีอาร์ที่ออฟฟิศบริษัท ห่างกันประมาณ 8 กม. การควบคุมหุ่นยนต์ทำได้ง่าย ไม่ต้องอาศัยทักษะอะไรมากมาย
ซาโตรุ โยชิซาวะ ผู้แทนแฟมมิลี่มาร์ท กล่าเสริมว่า ทุกวันนี้ การหาคนทำงานในเวลาสั้นๆ วันละ 3-5 ชม.เพื่อเติมของ ไม่ใช่เรื่องง่าย การมีหุ่นยนต์ เท่ากับว่าบริษัทสามารถจ้างพนักงานบังคับทางไกลคนเดียว ทำงานส่วนนี้ให้กับหลายสาขาได้ และเน้นจ้างคนทำงานตรงแคชเชียร์เท่านั้น
ลอว์สัน ก็เผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นเดียวกัน จึงทดลองใช้หุ่นยนต์เพื่อสำรวจว่าจะช่วยได้จริงหรือไม่ หากได้ผลก็จะพิจารณาประจำการหุ่นยนต์เพิ่มเติม
โคมัตสึ กล่าวว่า การมาของโควิด-19 กระตุ้นความสนใจใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้นมาก เหตุผลหนึ่งคือช่วยลดการสัมผัสติดต่อระหว่างคนกับคน แต่หุ่นยนต์โมเดล-ที ยังต้องพัฒนาอีกมากเพื่อให้ทำงานได้มาตรฐานเดียวกับคน ขณะนี้ การหยิบจับของ 1 ชิ้นวางบนชั้น ใช้เวลา 8 วินาที ขณะคนใช้เวลา 5 วินาที และยังหยิบจับได้เฉพาะสินค้าในบรรจุภัณฑ์เท่านั้น ไม่ใช่ของที่หักแตกได้ เช่น ผัก ผลไม้หรือเบเกอรี Telexistence กำลังมุ่งปรับปรุงข้อจำกัดเหล่านี้ และหวังว่าจะไปไกลถึงการสอนหุ่นยนต์เลียนแบบการเคลื่อนไหวของมนุษย์โดยอัตโนมัติเพื่อให้สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องอาศัยผู้ควบคุม
Telexistence Inc
Gee Hee Hong นักเศรษฐศาสตร์กองทุนการเงินระหว่างประเทศ แสดงความเห็นว่า การรับเทคโนโลยีประหยัดแรงงาน เป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น แต่ยังมีอีกหลายอุปสรรคที่ญี่ปุ่นจะต้องก้าวข้าม รวมถึงกรอบกฎหมายในการใช้เทคโนโลยีนี้ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภคและการปกป้องข้อมูล อีกทั้งจำเป็นต้องมีเครือข่ายสังคมที่มีประสิทธิภาพ ชดเชยผลกระทบทางลบต่อแรงงานไร้ฝีมือ