
"วิโรจน์ บุญวงศ์" กับสวนมังคุด GAP ที่ชะอวด บนแนวคิด ทำให้ดีมีคุณภาพ ไม่ต้องเร่งขาย
"วิโรจน์ บุญวงศ์" กับสวนมังคุด GAP ที่ชะอวด บนแนวคิด ทำให้ดีมีคุณภาพ ไม่ต้องเร่งขาย
ความสำเร็จในอาชีพทำสวนมังคุด คุณภาพ GAP เพื่อการส่งออกของ นายวิโรจน์ บุญวงศ์ เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เกิดขึ้นได้ในวันนี้ เป็นเพราะพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชดำริให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นที่ ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อครั้งเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรม ณ โรงปูนซีเมนต์ทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2521
“ก่อนหน้านี้ ลำบากมาก น้ำแม้จะกินจะใช้ก็ไม่มี ลำบากที่จะอยู่” ลุงวิโรจน์สะท้อนถึงสภาพชีวิตที่เคยเกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้แต่เมื่อมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกิดขึ้น มีน้ำเพื่อกินและใช้ รวมถึงทำการเกษตร จึงทำให้ลุงวิโรจน์มองเห็นถึงช่องทางการสร้างอนาคตใหม่ ด้วยการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการทำเกษตร จากเดิมที่ทำนาเพียงอย่างเดียวมาสู่การทำเกษตรผสมผสาน โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพ
“ เพราะว่าเกษตรผสมผสานจะทำให้เรามีกิน ทำให้เราไม่เดือดร้อนเรื่องปัญหาต่างๆ มีทุกอย่างที่กินแล้วกินทุกอย่างที่เราปลูก” ลุงวิโรจน์ กล่าว
ในการเริ่มต้นทำเกษตรผสมผสาน ลุงวิโรจน์ บอกว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. นับเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานหลักที่มีบทบาทอย่างมากในการเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนด้านต่าง ๆ จนสามารถสร้างความสำเร็จในอาชีพ
“ บอกได้ว่า ส.ป.ก. อยู่เคียงข้างผมมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้น เข้ามาให้ความรู้ ในเรื่องของการลดต้นทุนในการประกอบอาชีพ การเลี้ยงไส้เดือน เอาปุ๋ยมูลไส้เดือนมาปลูกผัก และอื่น ๆ ผมก็ปฏิบัติตามคำแนะนำในทุกเรื่อง”
ทั้งนี้สำหรับการพัฒนาในพื้นที่ตามโครงการพระราชดำริของจังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ได้เข้าไปดำเนินการในด้านการจัดที่ดินให้กับเกษตรกรทั้งที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ปัจจุบันผลแห่งการพัฒนาที่ ส.ป.ก. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมได้เกิดความสำเร็จขึ้นกับการประกอบอาชีพของเกษตรกรทั้งในลักษณะรายบุคคล รายกลุ่ม และเชิงพื้นที่ ดั่งเช่น ลุงวิโรจน์ เกษตรกรต้นแบบผู้นี้
ก้าวการพัฒนาในอาชีพของลุงวิโรจน์ ได้มีการปรับเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตร ที่สร้างรายได้ และในวันนี้ มังคุด ได้กลายเป็นไม้ผลสร้างรายได้หลักให้กับลุงวิโรจน์ โดยเฉพาะการผลิตมังคุดนอกฤดู
“ การทำอาชีพเกษตรปลูกไม้ผลที่ผมทำอยู่โดยเฉพาะมังคุด ถ้าไม่มีน้ำช่วยรับรองเราเดินไม่ได้ แต่พอมีโครงการพระราชดำริฝายส่งน้ำห้วยน้ำใส ทำให้เรายกระดับจากปีละครั้งมาเป็นปีละ2ครั้งได้ ผมพูดแล้วมันซาบซึ้งมาก ที่พระองค์ท่านสร้างเขื่อนไว้”
“ อีกสิ่งที่ต้องใส่ใจ นั่น คือ คุณภาพของดินในสวน เราต้องมีการปรับปรุงดินให้มีคุณสมบัติที่ดี เช่น การใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หญ้าก็ปล่อยให้ขึ้นบ้าง เพื่อช่วยคลุมหน้าดิน ป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน รวมถึงต้องเรียนรู้ถึงเทคนิคการจัดการดูแลต้นมังคุดในช่วงต่าง ๆ เพื่อให้ติดดอกออกผลดี” ลุงวิโรจน์ กล่าว
นอกจากจะต้องจัดการดูแลให้ต้นมังคุดติดดอกออกผลได้ดีตรงตามฤดูกาลแล้ว ลุงวิโรจน์ บอกอีกว่า ต้องเน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยต่อคนกินด้วย ดังนั้นเมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามาส่งเสริมด้านคุณภาพผลผลิต โดยการเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP ผมจึงสมัครเข้าร่วม และดำเนินการตามแนวทางการผลิตพืช GAP และได้รับการรับรองให้สวนมังคุดผ่านมาตรฐาน GAP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
“ การรับรอง GAP สิ่งแรกที่เราได้ คือ ลดการใช้สารเคมี โดยเฉพาะหญ้าไม่ฉีดเลย ทำให้จุลินทรีย์ในดินไม่เสื่อม เรียกว่ามีแต่ข้อดี ๆ เลย สำหรับ GAP”
จากการได้รับรองมาตรฐาน GAP จึงทำให้ผลผลิตมังคุดจากสวนของลุงวิโรจน์ได้กลายเป็นที่ต้องการของผู้ส่งออกในแบบที่เรียกว่า มีปริมาณผลผลิตเท่าไร พ่อค้าเข้ามารับซื้อหมด
“ดังนั้นจึงขอแนะนำเพื่อนเกษตรกรว่า ขอให้ทำของดีมีคุณภาพ เป็นหลัก ต้องอย่าทำแบบต้องไปเร่ขายเอง ทำทำไม ต้องทำให้เขามาซื้อที่สวนเอง” ลุงวิโรจน์ กล่าวในท้ายที่สุด
เพราะความทุ่มเทเพื่อการพัฒนา ผลแห่งการนำความรู้และแนวทางที่ได้รับไปปฏิบัติจริง เน้นผลผลิตที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด จึงก่อเกิดผลสำเร็จให้เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้นี้ วิโรจน์ บุญวงศ์ เกษตรกรต้นแบบในเขตปฏิรูปที่ดินแห่งจังหวัดนครศรีธรรมราช