ข่าว

อุทธรณ์ยืน! จำคุก 4 อดีตผู้บริหาร ม.สันติภาพโลก คนละ10ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ตามศาลชั้นต้น สั่งจำคุก 4 อดีตผู้บริหาร ม.สันติภาพโลก คนละ 10 ปี ยกฟ้อง 5 จำเลย

20 ส.ค.63  ที่ห้องพิจารณา 903  ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก  ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายสวัสดิ์ บรรเทิงสุข อธิการบดีผู้ก่อตั้ง WPU ที่เชียงใหม่  (ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.) จำเลยที่ 1, นายศุภณัฐ ดอนจันทร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสาขา 2 (WPU 2) และนายทะเบียนมหาวิทยาลัย (ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ดร.) จำเลยที่ 2, นายเรวัตร์ ชาตรีวิศิษฏ์ นายกสภามหาวิทยาลัย WPU  (ตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร.) จำเลยที่ 3, นางวรางคณา เผ่าวงศา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ใน จ.เชียงใหม่ เป็นผู้ช่วยนายสวัสดิ์ ดูแลเรื่องการเงิน จำเลยที่ 4  

นายมาณพ ภาษิตวิไลธรรม กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.) จำเลยที่ 5,  นายนาวิน พรมใจสา นายทะเบียนมหาวิทยาลัยคนที่ 2 (ตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.) จำเลยที่ 6, นายศุภชัย ขจรศิริภักดี อธก.WPU สาขานนทบุรี (ตำแหน่งทางวิชาการ ดร.) จำเลยที่ 7, นายนิยม ป้องคำสิงห์ อธก.WPU สาขาภาคตะวันเฉียงเหนือตอนล่างและประธานฝ่ายนิติกร WPU จำเลยที่ 8 และนางวัชราพร ป้องคำสิงห์ เป็นผู้ช่วยนายนิยมและดูแลการเงินมหาวิทยาลัยสาขาใน จ.ขอนแก่น จำเลยที่ 9  

ในความผิดฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ชอบ ตามความผิด พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2526, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 

ตามฟ้องของอัยการโจทก์ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2560 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 3 พ.ย. 2555 - 21 ก.ค. 2556 จำเลยทั้ง 9 คน ร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ชื่อ "มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก" (อาคารที่ตั้งเลขที่ 19 ถ.เทพฤทธิ์ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการ การอุดมศึกษา (สกอ.) และหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า มหาวิทยาลัยสันติภาพโลกดังกล่าวเป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกต้อง สามารถจัดการศึกษา การเรียนการสอนโดยบุคลากรที่มีคุณวุฒิ และได้รับการจัดตั้งโดยถูกต้องสามารถมอบใบปริญญาระดับต่างๆ และปริญญากิตติมศักดิ์ได้ มีสิทธิเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ  

ซึ่งข้อความดังกล่าว ยังได้ถูกนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์บนเว็บไซต์ www.wpucm.com กับบล็อกของมหาวิทยาลัย wpubkk.blogspot.com และ www.wpu15.com ซึ่งข้อมูลเป็นเท็จนั้นบิดเบือนว่า มหาวิทยาลัยสันติภาพโลกเป็นมหาวิทยาลัยมีการจดทะเบียนที่รัฐฟลอริดาสหรัฐอเมริกา มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ 506 ปาร์คไซต์เพลส  อินเดียฮาเบอร์บีช รัฐฟลอริดา ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นจริงตามที่อ้าง 

โดยการอ้างว่ามหาวิทยาลัยสันติภาพโลก เป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ขึ้นกับ สกอ. มีสิทธิเข้ามหาวิทยาลัยอื่น และเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ จนทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็เป็นการร่วมกันหลอกลวงประชาชนด้วยการทำให้ปรากฏต่อประชาชนทั่วไป หรือบุคคลตั้งแต่ 10 คนในลักษณะการแสดงข้อความอันเป็นเท็จด้วย ซึ่งความจริงแล้วมหาวิทยาลัยสันติภาพโลกไม่ได้จัดตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่สามารถมอบปริญญาโทหรือปริญญากิตติมศักดิ์ได้ เหตุเกิดที่ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่, อ.เมือง จ.เชียงราย, จ.นนทบุรี, จ.ปทุมธานี, จ.ลำพูน, จ.ขอนแก่น และ กทม. 

จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2562 พิพากษารวมโทษทุกกระทงความผิดของจำเลยทั้งหมดแล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ให้จำคุกได้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี จึงให้จำคุกจำเลยทั้งเก้าได้คนละ 10 ปี และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายกับผู้ได้รับใบปริญญา ซึ่งเป็นผู้เสียหายแต่ละรายตามจำนวนของแต่ละคนด้วย โดยหลังพิพากษา พวกจำเลยได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ1 ล้านบาท ยกเว้นจำเลยที่ 7-9 ที่ไม่ยื่นประกัน 

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว กรณีจำเลยที่ 5-6 มาร่วมรับปริญญาในภายหลังตามที่ได้รับเชิญจาก ม.สันติภาพโลก โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้งและทำข้อมูลเกี่ยวกับ ม.สันติภาพโลก เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ทั้งไม่ปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าจำเลยที่ 5-6 มีส่วนในการชักชวนผู้เสียหายให้มารับปริญญาดังกล่าว จำเลยที่ 5-6 ปฏิเสธว่ามิได้ลงลายมือชื่อในใบปริญญาของ ม.สันติภาพโลก และมีการแจ้งความดำเนินคดีผู้ปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 5-6 พยานหลักฐานยังมีข้อสงสัยตามสมควร ให้ยกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 5-6 

ส่วนกรณีจำเลยที่ 7-9 ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 7-9 ทราบเรื่องที่ ม.สันติภาพโลก ไม่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้อง และไม่สามารถมอบปริญญากิตติมศักดิ์ได้ จะถือว่าจำเลยที่ 7-9 ทราบข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงหาไม่ได้ จำเลยที่ 7-8 ถูกจำเลยที่ 1 กับพวกหลอกลวงให้ไปรับปริญญากิตติมศักดิ์และแต่งตั้งให้มีตำแหน่ง แต่อำนาจในการพิจารณาว่าจะให้ผู้ใดเข้ารับปริญญาขึ้นอยู่กับจำเลยที่ 1 เมื่อได้รับอนุมัติและผู้เสียหายโอนเงินค่าใช้จ่ายในการรับปริญญาให้แก่จำเลยที่ 7-8 ผ่านบัญชีจำเลยที่ 9 จะมีการโอนเงินต่อไปให้จำเลยที่ 4 จากพยานหลักฐานยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 7-9 กระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ให้ยกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 7-9 

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1-4 ฟังไม่ขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 5-9 ฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5-9 นอกจากที่แก้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (จำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 10 ปี) 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ