ข่าว

"ประสิทธิ์ชัย หนูนวล"ลาออกจากกรรมาธิการฯขุดคลองไทยแล้ว ค้านตั้งธง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม "ประสิทธิ์ชัย หนูนวล"ลาออกจากกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนว่าด้วยการขุดคลองไทยฯแล้ว  หลังจากเห็นว่ากรรมาธิการฯพยายามผลักดันขุดคลอง ไม่ใช่ศึกษาว่าโครงการขุดคลองเหมาะสมหรือไม่

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการขุดคลองไทยและเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้  ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "จดหมายเปิดผนึก ขอลาออกจากกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการขุดคลองไทยและเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้" มีเนื้อหาว่า
ผมได้ส่งจดหมายลาออกอย่างเป็นทางการไปยังประธานกรรมาธิการวิสามัญฯและขอชี้แจงเหตุผลดังนี้
๑.กระบวนการพัฒนาของประเทศได้ดำเนินการบนเส้นทางการพัฒนาด้วยเมกกะโปรเจคส์มานานหลายสิบปี วิถีทางการพัฒนาเช่นนี้เป็นประโยชน์สำหรับคนมีอำนาจและกลุ่มทุนด้วยการอ้างผลประโยชน์ประชาชนแต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก่อเกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลาศักยภาพของประชาชนถูกทำลายตลอดเวลาจึงเพียงพอแล้วสำหรับเส้นทางการพัฒนาเช่นนี้

๒.กรรมาธิการควรมีบทบาทในการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ว่าการพัฒนาเช่นใดจึงจะเป็นประโยชน์กับประชาชนโดยรวม แม้ว่าจะตั้งต้นด้วยโครงการคลองไทย แต่รูปแบบการศึกษาควรเป็นกระบวนการทำให้เห็นอย่างรอบด้านว่าคลองไทยเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมหรือไม่ มิใช่ตั้งต้นว่าจะผลักดันคลองไทยอย่างไร
๓.ตลอดเวลาการทำงานของกรรมาธิการมีท่วงทำนองของการผลักดันมิใช่การศึกษาหาคำตอบว่าโครงการเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่ เช่น ที่ปรึกษากรรมาธิการหรืออนุกรรมาธิการประกอบด้วยบุคคลที่สนับสนุนการขุดคลองไทย ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ถึงความไม่เป็นกลางของกรรมาธิการ
๔.วิธีคิดของกรรมาธิการสะท้อนจากวิธีการทำงาน เช่น พยายามให้หน่วยงานรัฐบรรจุเรื่องคลองไทยเข้าสู่แผนงานในระดับชาติ เพื่อจะทำให้เกิดการเดินหน้าของโครงการขุดคลองหรือในกระบวนการรับฟังความเห็นของกรรมาธิการทั้งที่จังหวัดกระบี่และนครศรีธรรมราช ล้วนสะท้อนวิธีคิดและเจตนาในการผลักดันมากกว่าการศึกษาหาข้อเท็จจริง
๕.กรรมาธิการใช้ชุดข้อมูลการออกแบบของสมาคมคลองไทยในกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงเจตนาว่า กรรมาธิการกับสมาคมคลองไทยร่วมมือกันทำงานหรือไม่ การใช้กลไกนิติบัญญัติเพื่อการผลักดันโครงการของภาคเอกชนหรือต่างชาติเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่
๖.การผลักดันให้เกิดการศึกษาในเชิงรายละเอียดจะต้องใช้เงินนับหมื่นล้านคุ้มค่าหรือไม่ต่อความเสี่ยงในด้านอธิปไตย ด้านสิ่งแวดล้อม การย้ายผู้คนออกจากแผ่นดินไม่ต่ำกว่าหกหมื่นคนเฉพาะเส้นทางขุดคลอง การศึกษาในระดับมหภาค บทเรียนของคลองอื่นๆ หรือประเด็นเชิงยุทธศาสตร์น่าจะเป็นบทบาทของกรรมาธิการในการเสนอรัฐบาล มากกว่าผลักดันให้เกิดการศึกษาเพื่อการขุดคลอง นอกจากนี้การผลักดัน พรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้เพื่อให้คลองไทยเกิดขึ้นได้ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ไม่ควรอย่างยิ่ง
 สังคมไทยจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานการทำงานใหม่เพื่อการพัฒนาประเทศ เราไม่สามารถใช้ ‘การมโน’ ในการสร้างรูปแบบการพัฒนาประเทศ เช่น มีคลองแล้วจะแก้ปัญหาสามจังหวัด มีแต่คลองไทยเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาติ เหล่านี้เป็นความ ‘ไร้เดียงสาของวิธีคิด’
 ผมได้เคยเสนอในกรรมาธิการให้ศึกษาในเชิงยุทธศาสตร์ก่อน มิใช่มุ่งผลักดันให้เกิดการศึกษาเพื่อการขุดคลอง แต่ระดับนำในกรรมาธิการมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นการผลักดันในกรรมาธิการจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงใด การทำงานกับสังคมจึงเป็นทางออกของการที่จะทำให้สังคมร่วมกันตั้งคำถามและหาทางออกเช่นนี้ได้ดีกว่าเพราะโครงการคลองไทยเปลี่ยนแปลงมหาศาลในประวัติศาสตร์การพัฒนาของประเทศนี้ มิเพียงปัจจัยภายในประเทศแต่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกด้วย ผลกระทบอันกว้างขวางเช่นนี้ไม่สามารถใช้วิสัยทัศน์อันคับแคบมาดำเนินการได้ การตื่นของสังคมเป็นคำตอบสำคัญของความรอบคอบ

 ผมจึงขอทำหน้าที่ให้สังคมตั้งคำถาม จะเป็นประโยชน์สอดคล้องกับผลกระทบอันกว้างขวางเช่นนี้มากกว่า การเดินบนเส้นทางของกรรมาธิการ
โดยหวังว่ากรรมาธิการจะปรับทิศทางของตัวเองใหม่
ด้วยจิตคารวะ
ประสิทธิ์ชัย หนูนวล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ