
เคอิโงะตามหาพ่อกับหม่องเครื่องบินกระดาษ
ในรอบปี 2552 มีข่าวเกี่ยวกับ 2 เด็กชายผู้มีความฝันและมุ่งมั่นทำในสิ่งที่หวังจนประสบความสำเร็จ "เคอิโงะ ซาโต" วัย 9 ขวบ เด็กชายผู้ตามหาพ่อชาวญี่ปุ่น กับ "หม่อง ทองดี" วัย 12 ขวบ ลูกแรงงานต่างด้าวที่ไปคว้าแชมป์พับเครื่องบินกระดาษจากประเทศญี่ปุ่น
เคอิโงะเด็กชายผู้ยึดมั่นในคำสั่งเสียสุดท้ายของมารดาที่จากโลกไปเมื่อ 3 เมษายน 2552 ให้ติดตามหา "คัตซูมิ ซาโต" พ่อที่หนีกลับประเทศญี่ปุ่นไปตั้งแต่เขายังเล็กๆ หลังจากสูญเสียผู้เป็นแม่ เด็กชายวัย 9 ขวบอยู่ในอุปการะของป้าประกอบอาชีพขายปลาปล่อยที่วัดท่าหลวง อ.เมือง จ.พิจิตร วันหยุดเขามักจะมาช่วยป้าขายปลาที่วัด พอว่างก็ถือภาพถ่ายพ่อเข้าไปสอบถามนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่มาสักการะหลวงพ่อเพชร พระประธานในโบสถ์
"เคยเห็นหรือรู้จักคนในภาพนี้ไหม เขาเป็นพ่อของผม" คำถามที่เอ่ยถามครั้งแล้วครั้งเล่าที่เคอิโงะเทียวถามนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ได้คำตอบทว่าเขาก็ไม่ละความพยายาม
แล้ววันหนึ่งกลางเดือนพฤษภาคม ภาพและเรื่องราวของเคอิโงะก็ปรากฏออกไปสู่สังคมวงกว้าง จากการนำเสนอของสื่อมวลชนหลายแขนง ทำให้คนทั้งประเทศรู้จักเด็กลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นคนนี้
ความฝันของเคอิโงะเริ่มปรากฏเค้าลางแห่งความจริง เมื่อ "สมชัย หทยะตันติ" พ่อเมืองพิจิตร ยื่นมือเข้ามาให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ด้วยการตรวจสอบกับสำนักทะเบียนกลางหาข้อมูลเกี่ยวกับคัตซูมิ กระทั่งพบว่าคัตซูมิเกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2551 ในเมืองคัทซูซิกะ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จดทะเบียนสมรสกับแม่ของเคอิโงะถูกต้องตามกฎหมาย
ตลอดทั้งสัปดาห์นั้น เคอิโงะกลายเป็นเด็กเนื้อหอมที่รุมทึ้ง ไม่เว้นแม้แต่สื่อจากเมืองปลาดิบก็นำเสนอเรื่องราวของเขา เพื่อช่วยตามหาพ่ออีกแรงหนึ่ง ในขณะที่หลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วงว่าการตามหาตัวคัตซูมิจะล้มเหลว พ่อเมืองพิจิตรยิ่งร้อนใจประสานสถานทูตญี่ปุ่นและกงสุล และยังฝากข้อความผ่านผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นหลายสำนักทำนองว่า ถ้าติดขัดมาไม่ได้ก็ขอให้โทรมาหาบ้าง จะได้เป็นกำลังใจแก่เด็ก ด้านเคอิโงะยิ่งรู้สึกเสียใจที่ไม่มีข่าวคราวจากพ่อเลยแม้แต่น้อย แม้ว่าสิ่งที่เขาต้องการจะเป็นเพียงได้เจอหน้าและอ้อมกอดอันอบอุ่นเพียงชั่วครู่...เท่านั้น
15 พฤษภาคม กระทรวงการต่างประเทศแจ้งกลับมาว่า พบบิดาของเคอิโงะแล้วและจะขอติดต่อกับญาติลูกชายเอง จากนั้น 1 สัปดาห์ให้หลังห้วงเวลาแห่งการรอคอยก็มาถึง เมื่อสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยประสานให้สองพ่อลูกได้พูดคุยโทรศัพท์กันเป็นครั้งแรก นานเกือบ 1 ชั่วโมง ท่ามกลางการเกาะติดและนำเสนอเรื่องราวการพิชิตฝันของเคอิโงะ บริษัททำหนังการ์ตูนติดต่อขอนำชีวิตของเคอิโงะไปทำเป็นการ์ตูนชื่อเรื่อง "เคอิโงะ นักล่าฝันตามหาพ่อสุดขอบฟ้า" เพื่อเป็นกำลังใจและให้เด็กที่มีความฝันตามหาพ่อได้อ่านและเรียนรู้
4 เดือนต่อมา เคอิโงะก็ได้รับข่าวดี คัตซูมิเดินทางมากับสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 717 มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 15.00 น.วันที่ 2 ตุลาคม โดยมีเคอิโงะรอรับด้วยใจจดจ่อ จวบจนล้อเครื่องบินแตะพื้นรันเวย์และสองพ่อลูกได้พบหน้ากันครั้งแรก เคอิโงะเรียก "พ่อ" เสียงดังลั่นก่อนจะโผเข้ากอดกันแล้วหลั่งน้ำตาแห่งความปีติใจ
"หนูเจอพ่อแล้ว หนูได้หอมแก้ม ได้กอดพ่อแล้ว" เคอิโงะ บอกด้วยน้ำเสียงดีใจ
หลังจากนั้นสองพ่อลูกก็ใช้ชีวิตร่วมกันสั้นๆ ไปเที่ยวสวนสยาม ร่วมลงนามถวายพระพร เที่ยววัดใหญ่ จ.พิษณุโลก ฯลฯ จนถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม วันสุดท้ายที่จะได้อยู่ด้วยกัน เคอิโงะนำสมุดมาวาดวิวทะเล ต้นมะพร้าว และภาพตัวเอง มอบให้พ่อเป็นของขวัญ
หลายคนยังไม่ทันลืมการต่อสู้ของเคอิโงะก็ปรากฏการต่อสู้ของเด็กชายชาวต่างด้าวอีกคน "หม่อง ทองดี" นักเรียนชั้น ป.4 ร.ร.วัดห้วยทราย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วัย 12 ขวบ เด็กไร้สัญชาติที่ไม่มีสิทธิ์ทำหนังสือเดินทางจนเกือบไม่ได้ไปแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษที่ประเทศญี่ปุ่น !?!
หม่องได้รับรางวัลชนะเลิศแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 และได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งเครื่องบินกระดาษพับ รายการ Japan Origami-Airplane Association (JOAA) เมืองชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2552 แต่ก่อนจะเดินทางไม่กี่วันเขาและทีมงานก็ได้รับข่าวร้ายว่า เด็กชายหม่องไม่มีสิทธิ์ทำหนังสือเดินทาง เพราะเป็นคนไร้สัญชาติ "ดวงฤทธิ์ เกติมา" ผอ.ร.ร.บ้านห้วยทราย จึงพาหม่องเข้าพบ "วงศ์สวัสดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์" อธิบดีกรมการปกครอง และ "ชำนิ บูชาสุข" ที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย เพื่อขออนุญาตให้ทำหนังสือรับรองเดินทางออกและกลับเข้าประเทศไทยได้
แต่ก็ได้รับคำชี้แจงว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่มีอำนาจออกหนังสือรับรองได้ เนื่องจากบิดามารดาของหม่องเป็นแรงงานต่างด้าว ไม่ใช่บุคคลที่มีสัญชาติไทย หม่องจึงมีสถานะเป็นผู้ติดตาม ดังนั้น การเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจึงไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ?!!
"ผมเสียใจที่อาจไม่ได้ไปต่างประเทศ ที่มาก็เพราะอยากให้ผู้ใหญ่ช่วย ผมฝึกพับกระดาษมาตลอด หากไม่ได้ไปจริงก็จะฝึกซ้อมต่อไป เชื่อว่าสักวันจะสามารถไปได้ ผมเข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่หารือกันว่า ที่ผมไปไม่ได้เพราะเป็นแรงงานต่างด้าว" หม่องบอกสีหน้าเศร้า
แล้วอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านผู้ไร้สัญชาติ ชนชาติ ผู้พลัดถิ่น และแรงงานข้ามชาติ สภาทนายความ ก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยการยื่นฟ้อง รมว.มหาดไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายน ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรและไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 รวมทั้งขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
วันเดียวกันน้องหม่องมีโอกาสเข้าพบ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" นายกรัฐมนตรี ซึ่งสอบถามถึงเอกสารการเดินทางไปและกลับประเทศญี่ปุ่นของเขากับ รมว.ต่างประเทศ และได้รับการยืนยันว่าคืนนี้ทุกอย่างจะเสร็จเรียบร้อย รอเพียงเอกสารจากกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น
วันรุ่งขึ้น...กระทรวงการต่างประเทศได้มอบเอกสารเดินทางชั่วคราวสำหรับคนต่างด้าว (Travel Document for Alien) ให้ ด.ช.หม่อง ทองดี สามารถใช้เดินทางไปกลับต่างประเทศได้เพียงครั้งเดียวภายใน 90 วัน
แล้วน้องหม่องก็ไม่ทำให้คนไทยผิดหวัง เขาสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประเภททีมได้เป็นผลสำเร็จ และลงแข่งขันในประเภทบุคคลได้ที่ 3
แม้จะเป็นก้าวย่างเล็กๆ ของความสำเร็จ ทว่ายิ่งใหญ่ในความรู้สึกของเด็กไร้สัญชาติคนหนึ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงเตรียมแต่งตั้งหม่องให้เป็นยุวทูตวิทยาศาสตร์ และมอบทุนการศึกษาให้จนจบปริญญาเอก หรือเท่าที่หม่องจะสามารถเล่าเรียนศึกษาได้ เพราะนอกจากสิ่งที่เด็กน้อยวัย 12 ทำลงไปจะสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติแล้ว ยังเป็นการจุดประกายฝันให้เด็กและเยาวชนไทย หันมาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ที่สำคัญยังเป็นการจุดประกายวงการวิทยาศาสตร์ไทยให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วย
...ฝันอันยิ่งใหญ่ของเด็กชายตัวเล็กๆ 2 รายนี้ กลายเป็นจริงขึ้นมาได้ นอกจากจะเป็นความร่วมมือกันของผู้ใหญ่ในสังคมขัดแย้งแล้ว ยังเป็นการต่อสู้ฝ่าฝันของพวกเขา จนกลายเป็นเรื่องดีๆ ในปี 2552 ที่เต็มไปด้วยความแตกต่างและแตกแยก