ข่าว

ส่อง"เคส ไอเอช"รถตัดอ้อยพันธุ์แกร่งเพื่อชาวไร่อ้อย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่อง"เคส ไอเอช"รถตัดอ้อยพันธุ์แกร่งเพื่อชาวไร่อ้อย ได้รับการตอบรับจากชาวไร่เป็นอย่างดี

ถ้านึกถึงรถตัดอ้อยที่คุ้นชินชาวไร่ ต้องนึกถึงจอห์น เดียร์ รถตัดอ้อยพันธุ์แกร่งสัญชาติอเมริกันที่อยู่คู่กับเกษตรชาวไร่มาหลายทศวรรษแม้จะมีคู่แข่งอย่างคูโบต้า รถตัดอ้อยจากแดนอาทิตย์อุทัยมาร่วมแจมส่วนแบ่งการตลาด แต่ก็ไม่สามารถทำ จอห์นเดียร์ ได้มากนัก
    
วันดีคืนดีก็มีรถตัดอ้อยสัญชาติอเมริกันอีกราย เคส ไอเอช(Case IH) ของซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล หวังเข้ามาเจาะตลาดอ้อยเมืองไทย ที่ผ่านมาส่งเข้ามาทำตลาดหลายรุ่นและได้รับการตอบรับจากชาวไร่เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น A8000 ซีรีส์  8800 ซีรีส์ หรือ A 4000 ล่าสุดเมื่อปีที่แล้วส่ง  A8010 ซีรีส์และA8810 ซีรีส์  ขายหมดเกลี้ยงทั้ง 16 ตัว โดยสองตัวนี้ระบบทุกอย่างเหมือนกันจะต่างกัน ที่ล้อ  A 8010 ซีรีส์เป็นล้อยาง ขณะ A8810 ซีรีส์เป็นล้อตะขาบ(ล้อเหล็ก)
 
 

            ส่อง"เคส ไอเอช"รถตัดอ้อยพันธุ์แกร่งเพื่อชาวไร่อ้อย

เคส ไอเอช(Case IH)นั้นได้ถูกพัฒนามาจากรถตัดอ้อยของ AUSTOFT บริษัทสัญชาติออสเตรเลียที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1960 ก่อนที่ทางบราซิลได้เข้ามาเทคโอเวอร์กิจการ สร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่อยู่ใกล้เมืองซานเปาโล ประเทศบราซิล ซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล(ประเทศไทย)นอกจากนำเข้ารถใหม่แล้วยังนำเข้ารถตัดอ้อยมือสองจากบราซิลด้วย
 
ปัจจุบันบราซิลผลิตและส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ1 ของโลก  ขณะที่ประเทศไทยเป็นที่ 1 ในอาเซียน บราซิลผลิตน้ำตาลได้สูงสุดเฉลี่ย 37 ล้านตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีปริมาณการผลิต 10-11 ล้านตันต่อปี ส่งออกถึง 85% หรือกว่า 8 ล้านตัน ปัจจุบันบราซิลใช้รถตัดอ้อยแทนแรงงานคนมากกว่า 95% ขณะที่ประเทศไทยยังใช้แรงงานคน 70% มีรถตัดอ้อยใช้งานอยู่ประมาณ 3,000 คัน จากพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั่วประเทศรวม 47 จังหวัด  

                        ส่อง"เคส ไอเอช"รถตัดอ้อยพันธุ์แกร่งเพื่อชาวไร่อ้อย

                          ”สมนึก ประธานทิพย์”กรรมการผู้จัดการนครสวรรค์สตีลหรือเอ็นเคเอส(NKS)
 
เมื่อ 2 ปีที่แล้วซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล (ประเทศไทย) นำเข้ารถตัดอ้อยสองรุ่นล่าสุด Austoft 8010 ซีรีส์และAustoft 8810 ซีรีส์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของรถตัดอ้อยบนโลกใบนี้ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างถล่มทลาย ฟังจาก วิศว์ จูผาวัง ผจก.ฝ่ายขายซีเอ็นเอชฯบอกว่าที่ผ่านมามียอดขายไปแล้วสิ้น16 คัน สนนในราคาคันละ 12.2 ล้านบาท   

 ที่จริงซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล(ประเทศไทย) ไม่ใช่หน้าใหม่ในบ้านเรา แต่ได้เข้ามาทำตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2495  ภายใต้แบรนด์ New Holland Agriculture หรือที่รู้จักรถไถในแบรนด์ฟอร์ด(Ford) ก่อนต่อยอดมาสู่รถตัดอ้อยที่ซีเอ็นเอช นำเข้าทั้งรถใหม่และรถมือสอง ผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยหลากหลายบริษัท หนึ่งในนั้นคือ เคซีเอ(KCA) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง นครสวรรค์สตีล(NKS)กับโรงงานน้ำตาลประจวบฯหรือเคซีฟาร์ม ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคกลางและภาคตะวันตกเกือบทั้งหมด ภายใต้การคุมบังเหียนของบอสใหญ่ที่ชื่อ”สมนึก ประธานทิพย์” ที่รั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการนครสวรรค์สตีลหรือเอ็นเคเอส(NKS) 
 
นครสวรรค์สตีลหรือเอ็นเคเอส(NKS) ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรรายใหญ่เพื่อชาวไร่อ้อย มีทุกอย่างยกเว้นรถตัดอ้อย การจับมือกับเคซีฟาร์มเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายรถตัดอ้อยจากซีเอ็นเอช อินดัสเทรียล(ประเทศไทย)ครั้งนี้ก็เท่ากับการสร้างอาณาจักรนครสวรรค์สตีลอย่างครบวงจร

 "สมนึก"เกิดในครอบครัวทำธุรกิจโรงเหล็กโรงกลึงอยู่ที่มหาชัยก่อนย้ายไปสร้างโรงงานใหม่ที่ต.เนินมะกอก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์เมื่อปี 2537 เพื่อผลิตเครื่องจักรกลการการเกษตรเกี่ยวกับการผลิตอ้อยแบบครบวงจรตั้งแต่เตรียมดินยันการเก็บเกี่ยว
 ฟังมุมมองของ"สมนึก"ระหว่างประชุมตัวแทนจำหน่ายรถตัดอ้อยยี่้ห้อ เคส ไอเอช(Case IH)ที่โรงงานของบริษัท นครสวรรค์สตีลหรือเอ็นเคเอส(NKS)จำกัด ต.เนินมะกอก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยนั้น  เขาบอกว่าไม่ใช่แค่การหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตเท่านั้น  แต่ต้องสร้างองค์ความรู้กระบวนการผลิตควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย จึงเป็นที่มาของ“โรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS” แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่สำหรับการปลูกอ้อยจุดประกายให้กับชาวไร่ ไปสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ที่เขาได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2558 
 
“โรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS” ที่มีเขารั้งผู้อำนวยการฯในวันนี้ ได้ทำการเปิดอบรมแก่ลูกหลานเกษตรกรชาวไร่อ้อยจากทั่วประเทศ ปีละ 8-10 รุ่น ๆ ละ 40 คน ใช้ระยะเวลาอบรม 2 วัน แบ่งเป็นในห้องเรียน 1 วัน และออกภาคสนามอีก 1 วัน เรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันเปิดอบรมไปแล้ว 36 รุ่น จำนวน 1,400 คน  กลุ่มชาวไร่อ้อยรายใดสนใจรถตัดอ้อยพันธุ์แกร่งผลิตจากเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดหรือต้องการเข้าร่วมฝึกอบรมในโรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS สอบถามรายละเอียดเพื่มเติมได้ที่บริษัท นครสวรรค์สตีล จำกัด ต.เนินมะกอก อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ โทร.056-380006-7 ในวันทำการ"
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ