ข่าว

"เผ่าภูมิ" ฉายภาพ แผน ศก.สู้โควิด ระยะสั้น-ยาว

"เผ่าภูมิ" ฉายภาพ แผน ศก.สู้โควิด ระยะสั้น-ยาว

07 มิ.ย. 2563

"เผ่าภูมิ" ฉายภาพ แผน ศก.สู้โควิด ระยะสั้น-ยาว ชี้ก่อสร้างขนาดเล็ก ภาคอุตสาหกรรม คือคำตอบ

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2563 ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า มาตรการการคลังสำหรับระยะฟื้นตัวจากโควิดต้องตอบโจทย์ 3 ข้อ คือ

1. ต้องสรัางงานให้แรงงานที่ตกงานจำนวนมหาศาลในระยะสั้นได้

2. ต้องผลักเศรษฐกิจในระยะกลางได้

3. ต้องทำได้เร็ว

คำตอบของโจทย์นี้ ไม่ใช่ภาคบริการ รวมถึงท่องเที่ยว เพราะยังไม่มีอุปทานมารองรับ ต่างชาติยังเที่ยวไม่ได้ และไม่ใช่ภาคเกษตรที่แม้รองรับคนตกงานได้มาก แต่แรงผลักต่อเศรษฐกิจมีน้อย และยังไม่ใช่การแจกเงิน เพื่อหวังเรื่องกำลังซื้อ การแจกเงินเยียวยาเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำ แต่จะหวังให้เป็นตัวดันกำลังซื้อตลอดการฟื้นตัว คงไม่ใช่

คำตอบต่อโจทย์นี้ คือ "การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็ก หรือก่อสร้างขนาดเล็ก" เพราะซึมซับแรงงานตกงานได้เยอะ ทำได้เร็ว ไม่ต้องใช้ทักษะมาก ส่งผลบวกต่อ ศก. สูง และมีห่วงโซ่อุปทานกว้าง ในประเทศกำลังพัฒนา ลงทุน 1 บาท สร้างเงินได้ถึง 4 บาท สูงกว่ามาตรการทางการคลังแบบอื่นมาก

นั่นคือ "ระยะสั้น" ถามต่อว่า "ระยะยาว" โจทย์คืออะไร

พูดกันเยอะว่าไทยพึ่งพิงโลกมากไป ทั้งท่องเที่ยว ส่งออก ส่วนใหญ่เสนอว่า ก็หันมาพึ่งกำลังซื้อในประเทศ จะได้ไม่ต้องพึ่งพึงโลกเยอะ แต่กำลังซื้ออยู่ๆมันไม่เกิดขึ้นเอง ต้องสร้างมันขึ้นมา แต่การแจกเงิน กำลังซื้อเกิดขึ้นก็แค่ชั่วคราว

คำตอบสำหรับระยะยาว คือ การสร้าง “งานที่สร้างผลผลิตต่อหน่วยสูง

งานแบบนี้ ไม่ใช่ภาคเกษตร หรือแม้แต่ภาคบริการรวมถึงท่องเที่ยว ที่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ สิ่งปลูกสร้าง ลองคิดภาพว่า อ้อยมีอายุเก็บเกี่ยว 10 เดือน ใช้เทคโนโลยีพัฒนายังไง อีก 20 ปี อายุเก็บเกี่ยวก็อยู่ราวๆนี้ ผลผลิตต่อหน่วยมันพัฒนาไม่ได้มาก

แทบไม่มีประเทศไหนในโลก ที่ใช้ภาคบริการ และภาคเกษตร ยกระดับตัวเองจากรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูงได้สำเร็จ

แต่ “ภาคอุตสาหกรรม” สามารถทำได้ สินค้าจากที่เคยผลิต 1 เดือน สามารถพัฒนาให้ผลิตได้ใน 1 วันได้ ช่องว่างของการพัฒนามันแตกต่างกันมหาศาล

ถ้าเป้าหมายคือการยกระดับรายได้แบบก้าวกระโดด เพื่อสร้างงานรายได้สูงให้คนไทย เพื่อสร้างกำลังซื้อภายในประเทศให้ได้ อย่างที่หวัง

บทบาทภาครัฐเชิงรุกต่อ "ภาคอุตสาหกรรม" คือ คำตอบ