ข่าว

ชุมชนวัดเกตผนึกกำลังอนุรักษ์ย่านเก่าแก่เมือง

ชุมชนวัดเกตผนึกกำลังอนุรักษ์ย่านเก่าแก่เมือง

31 ธ.ค. 2552

การเคลื่อนไหวและการต่อสู้ของชาวบ้านย่านวัดเกต ชุมชนเก่าแก่ที่แทรกตัวอยู่ท่ามกลางความเจริญของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในกฎหมายผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ได้กำหนดให้ย่านวัดเกตอยู่ในโซนสีแดง "เขตพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่น"

  ทำให้ชาวบ้านย่านวัดเกตต้องรวมตัวกันเคลื่อนไหวคัดค้าน เพื่อให้มีการแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของย่านวัดเกตใหม่ โดยเรียกร้องให้ใช้สีพิเศษที่มีความหมาย เพื่อการอนุรักษ์ มากกว่าการกำหนดโซนสี เพื่อเปลี่ยนย่านวัดเกตให้เป็นย่านพาณิชยกรรม เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการขยายถนนเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด

 ย่านวัดเกต เป็นย่านการค้าสำคัญ เพราะทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำปิง จึงมีผู้คนหลายเชื้อชาติหลายศาสนาเข้ามาตั้งรกรากทำมาค้าขาย ก่อสร้างบ้านเรือน แม้ปัจจุบันชุมชนเก่าแก่แห่งนี้จะถูกลดบทบาทในฐานะย่านเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญเมื่อเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีร่องรอยของอดีตที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ ทั้งอาคารบ้านเรือนที่สร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว 

 น.ส.วรวิมล ชัยรัต ผู้ประสานงานและประชาสัมพันธ์คณะทำงานชาวบ้านย่านวัดเกต ในฐานะแกนนำชาวบ้าน กล่าวว่า จากการเคลื่อนไหวเรื่องร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ของชาวบ้านย่านวัดเกต จนขยายตัวสู่การตั้งกลุ่มรักบ้านรักเมือง พบว่า ในช่วงที่เกิดสุญญากาศ ผังเมือง มีแต่กฎหมายควบคุมอาคาร เกิดผลกระทบมากมายกับเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะย่านวัดเกต มีการอนุญาตให้สร้างอาคารสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป จนถึงอาคารขนาดใหญ่ สร้างชิดแนวถนน ไม่มีที่จอดรถ บางพื้นที่ถูกขายไป มีการสร้างสถานบันเทิง จนมีบรรยากาศไม่น่าดูเกิดขึ้น

 "ชาวบ้านย่านวัดเกตรู้สึกไม่สบายใจ ทำให้บรรยากาศของเมืองเสียไป จึงออกมาเคลื่อนไหว เพราะเขาเหล่านี้ตระหนักว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับย่านวัดเกตกำลังจะส่งผลกระทบต่อชุมชน จึงมีแนวคิดจะหารือกันกับผู้ประกอบการ และชาวบ้านในย่านนี้ภายในต้นปี 2553 เพื่อหาข้อตกลงรวมกันและขับเคลื่อนเป็นกลุ่ม เพราะกฎหมายผังเมืองยังไม่ออกมา จึงต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่มีจิตสำนึกที่ดี อยากให้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่สวยงามน่าอยู่ เพราะจุดขายของเมืองเชียงใหม่ คือ บรรยากาศ และภูมิทัศน์เมือง หวังว่าผู้ประกอบการจะร่วมมือกับชาวบ้านย่านวัดเกต"

 น.ส.วรวิมล กล่าวว่า อีก 5 ปีหากชาวบ้านยังร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ภาพของเมืองเชียงใหม่น่าจะดีขึ้น แต่หากทุกคนยังเห็นแก่ได้ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และลืมนึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเมืองที่จะย้อนมาส่งผลกระทบ ในขณะที่ปัญหาภาวะโลกร้อนรุกไล่เข้ามา ถ้ายังไม่ลุกขึ้นมาช่วยกันทำอะไร เมืองเชียงใหม่จะย่ำแย่กว่านี้

 นางศิริพร บุญประเสริฐ ชาวบ้านย่านวัดเกต กล่าวว่า การอนุรักษ์รักษาพื้นที่และการต่อสู้เรื่องผังเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนจะต้องออกมาปกป้อง รู้จักหวงแหนสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ เพราะย่านวัดเกตมีความเก่าแก่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน การจะให้ชาวบ้านมีส่วนรวมต้องให้ทุกคนรู้ถึงคุณค่าและรู้สึกหวงแหน โดยไม่ให้ความเจริญจากการกำหนดผังเมืองรุกล้ำเข้ามา ทำให้สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตได้รับผลกระทบ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในย่านนี้ตกต่ำลง

 "ชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการขยายถนนเจริญราษฎร์ เพราะทำลายวิถีชีวิต ทำลายโบราณสถาน ศาสนสถาน รวมทั้งบ้านเรือนเก่าแก่ที่ควรอนุรักษไว้ ถ้าขยายถนนให้กว้างขึ้นจะทำให้จำนวนรถวิ่งผ่านย่านนี้เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ กระทบวิถีชีวิตของชาวบ้านย่านนี้ ที่สงบเรียบง่าย" นางศิริพรกล่าว

 นายสุรชัย เลียวสวัสดิพงศ์ เจ้าของร้านเดอะ แกลลอรี่ กล่าวว่า อาคารที่ตั้งของร้านเดอะ แกลลอรี่ สร้างมากว่า 100 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ด้านหน้าเป็นศิลปะจีน ตัวบ้านสร้างด้วยไม้สัก ตนในฐานะทายาทเห็นว่าอาคารหลังนี้เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ ที่บ่งบอกได้ถึงวัฒนธรรมของผู้อยู่อาศัยตั้งแต่สมัยเริ่มต้นเมื่อกว่า 100 ปี

 "การอนุรักษ์อาคารเป็นเรื่องยากมาก เพราะอาคารสร้างติดแม่น้ำปิง ระยะหลังเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง โครงสร้างอาคารเป็นไม้สัก ไม่ใช่คอนกรีต จึงทำให้ตัวอาคารทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ผมพยายามซ่อมแซมใช้เวลาบูรณะนานกว่า 1 ปี ที่ผ่านมาอาคารหลังนี้ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย เช่น รางวัลอนุรักษ์เชียงใหม่ จากกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา เมื่อปี 2534 รางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยการคัดเลือกของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี 2536"

 นายสุรชัยกล่าวว่า ต้องการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่หลังนี้ไว้ เพราะย่านวัดเกตถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ที่ชี้บอกความเป็นมาตั้งแต่อดีต และการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างคนจีนและคนเมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องน่าแปลกที่ร่างผังเมืองได้กำหนดให้มีการขยายถนนในย่านนี้ เป็นการพัฒนาที่ไม่ถูกต้อง

 แม้ร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ชาวบ้านยังพยายามต่อสู้เพื่อรักษาพื้นที่ไว้ไม่ให้ความเจริญรุกคืบเข้ามา สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการอนุรักษ์รากเหง้าของบรรพบุรุษไว้ไม่ให้สูญหายไปจากแผนพัฒนาที่ผิดพลาดของภาครัฐ

จันจิรา จารุศุภวัฒน์