
บุรุษแห่งปี52อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะผ่านปัญหานานา
ถ้าหากสถานการณ์ปกติ ไม่มีการแบ่งสี แยกเหล่า ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมการเมือง หรือความนิยม มีอิทธิพลต่อแนวคิดและการชี้นำสังคม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปีอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่ในเมื่อตลอดทั้งปี 2552 นั้น พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทางการเมือง ทั้งเหตุการณ์ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล และบานปลายไปจนถึงขั้นเผาบ้านเผาเมือง และล้มการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญที่ประเทศไทยเองเป็นเจ้าภาพ ที่พัทยา ในช่วงเดือนเมษายน ความบอบช้ำอย่างรุนแรงและความเสียหายของบ้านเมือง ทำให้ "คม ชัด ลึก" ไม่อาจยกย่อง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นบุคคลแห่งปีได้
ผู้ที่โดดเด่นขึ้นมาหลังจากเหตุรุนแรง และสถานการณ์การเมืองที่ไต่อยู่ปากเหว กลับเป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีทีมงานผนึกแน่นจนรวบรวมเสียงพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และอยู่รอดปลอดภัยมาจนผ่านปี 2552 ทำให้กองบรรณาธิการ "คม ชัด ลึก" ปฏิเสธไม่ได้ว่า นายอภิสิทธิ์ คือ "บุรุษแห่งปี 2552"
แม้ว่าตลอดเส้นทางของ อภิสิทธิ์ จะเริ่มต้นด้วยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบ และกลุ่มเพื่อนเนวินแตกออกมาในจังหวะที่เกิดสุญญากาศ จับมือกับประชาธิปัตย์ โดยมือประสาน อย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ และ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ภายใต้เงื่อนไขที่ อภิสิทธิ์ ไม่อาจชี้แจงต่อสมาชิกพรรคได้เต็มปากเต็มคำนัก
แม้แต่ สุเทพ เองก็ตอบได้เพียงว่า "ถ้าไม่มีเขา เราก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล"
ตรงนี้นี่เองที่ทำให้ อภิสิทธิ์ และ สุเทพ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่เริ่มต้น และถูกถามถึงความเป็นผู้นำตั้งแต่ก้าวแรกๆ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะในขณะที่คนในพรรคเข้าคิวกันยาวเหยียด แต่กับพรรคร่วมรัฐบาลกลับคักคึกด้วยเก้าอี้รัฐมนตรี ที่ดูเหมือนจะเลือกช็อปเอา "เกรด เอ" ไปครอง
ช่วงจังหวะที่ชี้เป็นชี้ตาย อภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นช่วงที่กลุ่มเสื้อแดงรวมพลไปล่มการประชุมอาเซียนที่พัทยา หลังจากก่อหวอดกันอยู่ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลมาแล้วหลายวัน
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ขั้วอำนาจอย่างกองทัพ กำลังลังเลสับสนต่อท่าทีของรัฐบาล แต่ถึงจะมีกระแสข่าวออกมาเช่นนั้น ในฐานะผู้นำรัฐบาลเมื่อเหตุการณ์บานปลายออกมาถึงขนาดนี้แล้ว ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการใช้มาตรการที่เข้มข้นเด็ดขาด เพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
อภิสิทธิ์ ตัดสินใจที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและพัทยา โดยใช้สถานที่กระทรวงมหาดไทยเป็นสถานที่ถ่ายทอดคำสั่ง
ทว่าตรงจุดนี้กลับทำให้ อภิสิทธิ์ เกือบจะตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญของชีวิต เมื่อกลุ่มเสื้อแดงที่ได้รับแจ้งข่าวว่า อภิสิทธิ์ อยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ก็เคลื่อนกำลังเข้ามาปิดล้อม จนนำไปสู่การบุกเข้าทำร้ายขบวนรถ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ จนปางตาย โดยที่ อภิสิทธิ์ หนีรอดไปได้อย่างหวุดหวิด
กระแสข่าวจากหลายสายยืนยันตรงกันว่า ความรุนแรงและความรู้สึกเดียวดายบวกกับความรู้สึกว่า ไม่มีต้นทุน ไม่มีแผล ไม่มีรอยด่างเรื่องทุจริต ทำให้ อภิสิทธิ์ เกือบตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี !
แต่แกนนำพรรคหลายคนก็ได้ร้องขอเอาไว้ ประกอบกับขุนทัพเปิดบ้านพักให้หลบภัย และวางแผนสลายการชุมนุม ก็ทำให้จิตใจกลับสู่ภาวะที่พร้อมเผชิญกับปัญหาอีกครั้ง
หลังเหตุการณ์สงบลง การต่อสู้ทางการเมืองก็ยังคงเดินหน้าต่อไป และเป็นขณะเดียวกันกับเกมการเมืองภายในรัฐบาลก็เริ่มระอุ เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลเริ่มผลักดันโครงการที่ล่อแหลมเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.และถูก อภิสิทธิ์ ยับยั้ง หรือสั่งให้เลื่อนวาระออกไป จนเดือดร้อนถึง สุเทพ ที่ต้องรับหน้าเสื่อไปเคลียร์ทุกเรื่องทุกพรรค กระทั่ง กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง บางครั้งก็ยังต้องรับบทนี้กับเขาด้วย
ในขณะที่ อภิสิทธิ์ นั้นกลับฉายภาพโดดเด่นขึ้นมาเพราะยืนในหลักการ และแสดงให้เห็นชัดเจนว่า หากพรรคร่วมไม่เดินไปในแนวทางเดียวกัน ก็พร้อมที่จะล้มโต๊ะ
จะมีก็แต่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ อภิสิทธิ์ ทำได้แค่เพียง "ติ๊ดชึ่ง" ยืดออกไป เพราะเป็นเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลว่ายังไงก็ต้องแก้ เพียงแต่ประเด็นที่พรรคร่วมจ้องจะแก้มันกระทบต่อประชาธิปัตย์เต็มๆ เท่านั้น โดยเฉพาะประเด็นแบ่งเขตเลือกตั้ง
เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการถามหาความเป็นผู้นำของ อภิสิทธิ์ อีกครั้งก็คือ เกิดเหตุคนร้ายยิงถล่ม สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รัฐบาลและอภิสิทธิ์ ถูกทั้งกระแสข่าวและเรื่องราวเก่าก่อนจนทำให้ไม่อาจเลี่ยงที่จะจัดการกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. โจทก์เก่าของพันธมิตรโดยตรง
เรื่องมันยุ่งก็ตรงที่ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นน้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พี่ใหญ่ของ "บูรพาพยัคฆ์" ที่คุมกำลังอยู่ในส่วนยอดของกองทัพบก และเป็นเสาหลักค้ำรัฐบาล
กระแสข่าวปลด พล.ต.อ.พัชรวาท ถูกปล่อยออกมาเป็นระยะ และกระทบต่อภาวะความเป็นผู้นำของ อภิสิทธิ์ ทุกครั้ง กระทั่งมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ไปปฏิบัติราชการในพื้นที่ภาคใต้บ้าง ประจำทำเนียบรัฐบาลบ้าง ซึ่งการทำเช่นนั้นแทนที่จะเป็นผลดี กลับเกิดแรงสะท้อนอย่างรุนแรงจาก พล.ต.อ.พัชรวาท
เพราะเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ซึ่งโดยกฎหมายแล้ว นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อผู้ที่เหมาะสมให้ ก.ต.ช.พิจารณา แต่ในที่ประชุมก็มีกระแสข่าวว่า พล.ต.อ.พัชรวาท เสนอชื่อ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ขึ้นเป็น ผบ.ตร.แข่งกับ อภิสิทธิ์ ที่เสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ
ยิ่งบานปลายไปกว่านั้น เมื่อ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในฐานะ ก.ต.ช.ก็เห็นดีเห็นงามที่จะเลือก พล.ต.อ.จุมพล เช่นเดียวกับ อนุทิน ชาญวีรกูล ผู้ลูก และเพื่อนรักของ เนวิน ชิดชอบ ที่เดินในเส้นทางสร้างบารมีอีกรูปแบบ ก็อ้างถึงสัญญาณพิเศษ
ที่หนักยิ่งไปกว่าก็คือ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็ยืนกรานว่าได้รับสัญญาณที่ว่ามาเช่นกัน
เมื่อเดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังยิ่งไม่ได้ อภิสิทธิ์ แสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำด้วยการยืนยันที่จะตั้งพล.ต.อ.ปทีป และยอมสละ นิพนธ์ ที่ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
แต่สิ่งที่ปรากฏต่อสาธารณะกลับเป็นว่า แม้กระทั่งตำแหน่ง ผบ.ตร.ที่อยู่ในอำนาจแท้ๆ นายกรัฐมนตรีก็ไม่อาจใช้ภาวะผู้นำแต่งตั้งได้ พล.ต.อ.ปทีป จึงว่า จะได้นั่งรักษาราชการแทน ผบ.ตร.ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สีกากี
เรื่องภาวะผู้นำนั้นยังไม่นับถึงการพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างพรรคอย่างไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะในเรื่องที่ล่อแหลม หรือเป็นที่กังวลว่าจะเกิดปัญหา เป็นที่รู้กันว่า อภิสิทธิ์ เลือกใช้ "ตัวเชื่อม" ไปสะกิด
แม้กระทั่งโครงการไทยเข้มแข็งที่ หมอบรรลุ ศิริพานิช กับ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ รับงานไปตรวจสอบนั่นก็เป็นอีก 1 เรื่องที่ อภิสิทธิ์ เลือกใช้ "ตัวเชื่อม"
ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการเป็นผู้นำรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการรวบรวมไพร่พลที่แตกทัพจากรัฐบาลเก่า และนำมาผูกด้วย "เค้ก" เกาะเกี่ยวกันเอาไว้ แบบหลวมๆ และมีกลุ่มผู้ชุมนุมโผล่ป่วนการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีในอีกหลายจังหวัด
แต่ด้วยเพราะเกมนี้เป็นเกมการต่อสู้ว่าด้วยเรื่องขั้วอำนาจ การผนึก-ประสานภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้แต่ "ผู้เฒ่า" ในพรรค ก็ยังต้องออกแรงหนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวชูโรง เป็นภาพของความใสสะอาด ในขณะที่ภาพของ ทักษิณ นั้นชัดเจนว่าถูกคำพิพากษาจำคุก 2 ปี จากกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ก้าวย่างของ อภิสิทธิ์ ตลอดปี 2552 จึงโดดเด่นอยู่ท่ามกลางวิกฤติ และการต่อรองจากกลุ่มการเมืองอย่างแท้จริง
แต่เพียงแค่ความโดดเด่นเมื่อผ่านพ้นศักราชก็ใช่ว่า "มาตรฐาน" ที่เคยเป็นจะนำพาให้ได้เป็นบุรุษแห่งปีอีกครั้งในปี 2553
ปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า ทั้งเรื่องปากท้อง ปราบทุจริต และปัญหาการเมืองยังคงรออยู่ในปี 2553 ท้าทายศักยภาพของ อภิสิทธิ์ อีกครั้ง ว่าของจริงหรือแค่โชคเข้าข้าง