ข่าว

หมอแล็บคลายข้อสงสัย หลังผลตรวจเชิงรุกยะลา 40 คน ผิดพลาด จุดสำคัญอยู่ที่น้ำยาควบคุม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอแล็บคลายข้อสงสัย หลังผลตรวจเชิงรุกยะลา 40 คน ผิดพลาด จุดสำคัญอยู่ที่น้ำยาควบคุม

จากกรณีการรายงานติดเชื้อที่จังหวัดยะลา 40 รายนั้น ทางด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้แถลงว่าผลการค้นหาเชิงรุกภายในชุมชนจังหวัดยะลาวันที่ 18 ถึง 24 เมษายน มีการส่งตรวจทั้งสิ้น 3,277 คนพบเชื้อ 20 คนโดย 20 คนนี้มีผู้สัมผัสใกล้ชิดจำนวน 671 คน

 

 

 

และมีการตรวจหาเชื้อ 222 คน ซึ่งพบเชื้อ 6 คน  สถิติการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดจำนวน 311 คนที่อยู่ระหว่างการรอผลซึ่งสำหรับ 40 คนที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้เบื้องต้นศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จังหวัดสงขลา พบว่า 40 คนดังกล่าวไม่พบเชื้อ แต่ทางผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข มองว่า 2 Lab.ในการตรวจหาเชื้อยังไม่เพียงพอจึงต้องส่งมายังส่วนกลาง เพื่อให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ตรวจ โดยขณะนี้แพทย์ทวีศิลป์ระบุว่า 40 ราย ยังไม่มีการยืนยันที่จะประกาศผลแต่ยืนยันได้ว่า ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรจะไม่มีการปกปิดข้อมูลอย่างแน่นอน
 
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ที่ปรึกษาด้านโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข เรื่องนี้จากการตรวจกับพื้นที่แล้ว และการนำตัวอย่างเชื้อ
ของกลุ่มคนทั้งหมดไปตรวจสอบยืนยันที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ จังหวัดสงขลา อีกครั้ง พบให้ผลเป็นลบ ทั้งนี้จึงเชื่อว่าผลบวกที่ได้ตอนแรก เป็นผลบวกลวง เนื่องจากความคลาดเคลื่อนในการติดตั้งเครื่องสกัด อาร์เอ็นเอ อาจทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้ออื่น ทำให้เกิดผลบวกลวง
 
 

ล่าสุด เพจหมอแล็บแพนด้า ได้โพสต์รายละเอียดเกี่ยวกับกรณีการตรวจเชื้อที่จังหวัดยะลา หลังพบว่ามีการรายงาน เรื่องผลแล็บที่ผิดพลาด  

 

ได้อ่านข่าวว่าที่ยะลาแล้ว พอบอกว่าผลแล็บผิด ผมตกใจเล็กน้อยแต่ตกใจไม่แรง เพราะเข้าใจว่ากระบวนการตรวจมันต้องใช้ความชำนาญมากๆ แต่ถ้าเราทำตามมาตรฐานสากลแล้ว จะไม่มีอะไรผิดพลาดเลย
.
เวลาที่เราบอกว่าผลแล็บผิด เขาจะวิเคราะห์ความผิดพลาดซึ่งอาจเกิดได้จาก 3 ขั้นตอน ดังนี้ครับ
.
1. Pre-analytic หรือขั้นตอนก่อนตรวจแล็บ
เช่น การเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกและลำคอไม่ถูกต้องตามหลักการ ไม่เปลี่ยนถุงมือ ทำความสะอาดไม่ดี เขียนชื่อสลับกัน
.
2. Analytic หรือขั้นตอนการตรวจแล็บ
ซึ่งการตรวจแล็บนั้นในการตรวจ PCR หรือการตรวจเกี่ยวกับดีเอ็นเอ เป็นที่รู้กันว่ายุ่งยาก มีหลายขั้นตอน ทั้งขั้นตอนสกัดดีเอ็นเอ การเพิ่มจำนวนดีเอ็นเอ และการอ่านผล
.
ทุกขั้นตอนต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เชื้อจะปนเปื้อนง่ายมากๆ จากหลอดที่เป็นลบหรือไม่มีเชื้อก็อาจจะทำให้ให้บวกได้ เพราะดีเอ็นเอมันกระจายไปตกหล่นใส่หลอดอื่นๆ
.
แต่เรามีตัวช่วยในการทำแล็บให้ถูกต้อง ซึ่งหัวใจของการตรวจแล็บก็คือน้ำยาควบคุม หรือที่เราเรียกว่าคอนโทรล มันแปลว่าแบบนี้ครับ
.
“น้ำยาควบคุม” คือตัวอย่างที่เรารู้อยู่แล้วว่าผลมันเป็นยังไง จะมีน้ำยาที่ให้ผลบวก และน้ำยาที่ให้ลบ ถ้าน้ำยาที่เรารู้ผลล่วงหน้าอยู่แล้วเนี่ย เครื่องมันยังแปลผลไม่ถูก เราห้ามรายงานผลการตรวจเด็ดขาด คอนโทรลลบกลับกลายเป็นบวก จากบวกกลายเป็นลบ ให้ถือว่าผลการตรวจทั้งชุดนั้น เสียทั้งหมด
.
3. Post-analytic หรือขั้นตอนหลังการตรวจแล็บ
เช่น ตรวจถูกแต่รายงานผลผิด โอกาสผิดพลาดเกิดได้ทุกขั้นตอน แต่หากโรงพยาบาลได้ทำตามระบบมาตรฐานแล้ว ก็คงไม่มีอะไรน่ากังวลใจ
.
ส่วนกรณีของห้องแล็บ จ.ยะลา ผมเพิ่งได้อ่านเฟซของ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา
ซึ่งหมอโพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งว่า
.
"เหตุที่ห้องแล็บ รพ.ยะลา รายงานผลเป็นบวกนั้น เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค เข้าใจว่าเกิดจากการปนเปื้อนของไวรัสโควิดในระบบเครื่องตรวจ RT- PCR ทั้งนี้ ในการตรวจพบว่า หลอดที่เป็นน้ำไม่มีตัวเชื้อ ที่เป็นตัว control (No Template Control) ซึ่งในการเดินเครื่อง PCR ทุกรอบก็ต้องมีการ control ด้วย NTC เสมอ นั้น ที่แล็บยะลาผลการทดสอบของ NTC เป็นบวกด้วย ซึ่งบอกถึงการปนเปื้อน จึงทำให้ไม่อาจตัดสินได้ว่า ผลการตรวจนั้นเป็นผลบวกจริง (true positive) หรือ ผลบวกลวง (false positive) จึงต้องตรวจใหม่ทั้งหมด"
.
ถ้าหมอสุภัทรโพสต์เป็นข้อเท็จจริง แปลง่ายๆว่า ผิดขั้นตอนที่ 2 หรือขี้นตอนตรวจแล็บนั่นเอง
แต่ก็น่าแปลกใจ ถ้าคอนโทรลลบกลายเป็นบวก ทางแล็บก็ไม่น่าจะรายงานผลออกมาสู่สาธารณชนได้ ต้องตรวจแล็บใหม่ทั้งหมดนะครับ ยังไงก็ตามกรณีนี้จะรู้ว่าถูกหรือผิด ให้รอยืนยันจากแล็บที่ 3 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กรุงเทพฯอีกทีนะครับ

 

 

 

CR.หมอแล็บแพนด้า

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ