ข่าว

ประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโควิด-19 จนถึงตอนนี้ยังนึกไม่ออกว่าไปติดตอนไหน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่งแชร์ประสบการณ์เล่าเกี่ยวกับการเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเจ้าตัวเริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 รักษาตัวจนกระทั่งวันที่ 11 เมษายน 2563

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Jassada Pornsomboonsiri แชร์ประสบการณ์เล่าเกี่ยวกับการเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งเจ้าตัวเริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 รักษาตัวจนกระทั่งวันที่ 11 เมษายน 2563  ที่คุณหมออนุญาตให้เขากลับบ้านได้ ซึ่งเขาบอกว่าโรคไวรัสโควิด-19 เป็นอะไรที่ติดง่ายมาก ๆ 

 

- 18 - 19 มี.ค. เริ่มไอเล็กน้อยแต่ยังไม่มีไข้ เลยนึกว่าเป็นจากฝุ่นตามปกติ คืนวันที่ 19 มีอาการกรดไหลย้อน (น่าจะจากอาหารไม่ย่อย)

 

 

- 20 มี.ค. เริ่มมีไอและจามตั้งแต่เช้า เลยใส่หน้ากากทั้งวัน อันนี้ช่วยได้เยอะ ไม่งั้นคงมีคนติดอีกเพียบ ตอนเที่ยงหลังกินข้าวรู้สึกมีไข้ต่ำๆ เลยกินยาลดไข้ แต่ก็ไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไหร

 

 

- 21 มี.ค. ไปหาหมอที่ รพ. หมอบอกโพรงจมูกอักเสบมาก น่าจะเกิดจากกรดไหลย้อน แต่หมอก็ไม่ฟันธงว่าไม่เป็นโควิด เพราะอาการมันก็คล้ายๆกัน หมอให้กลับไปสังเกตอาการ ถ้ามีไข้สูงและไอมากให้มาตรวจโควิดอีกที หมอจ่ายยาแก้อักเสบ แก้ไอ แก้คัดจมูกให้ พอกลับบ้านเริ่มแยกห้องกับคนอื่นๆ เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นโควิดไหม

 

 

- 22-24 มี.ค. หลังกินยาแก้อักเสบที่ได้มา อาการไข้ก็หายไปจนดูเหมือนปกติ

 

 

-25 มี.ค. ตอนเช้ารู้สึกปวดเมื่อยตัวและมีไข้ราวๆ 37.6 และเริ่มรับรสกับกลิ่นไม่ได้ เลยตัดสินใจลงทะเบียนตรวจโควิดที่ รพ. ราม แต่ได้คิวตรวจวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 

 

 

- 26-27 มี.ค. มีอาการไข้ขึ้นๆ ลงๆ บางครั้งกินยาแล้วไข้ไม่ลง เย็นวันที่ 27 มีนัดพบหมอไว้ ไปตรวจอาการแล้วหมอบอก เปอเซนต์เป็นโควิดสูงเพราะอาการมันใช่ ก่อนกลับหมอให้เอ็กซเรย์ปอด ผลมีฝ้าที่ปอดด้านล่างเล็กน้อยทั้ง 2 ข้าง คือ มีอาการปอดอักเสบแล้ว แต่สรุปไม่ได้ว่าเป็นโควิดไหมต้องรอตรวจอย่างเดียว

 

 

- 28 มี.ค. ไปตรวจโควิดที่ รพ. ราม เวลา 8.00 น. ตรวจแบบไดรฟ์ทรู มีคนมาตรวจกันเยอะ รถต่อกันราวๆ 20 คันได้ ค่าตรวจ 6,500 บาท พอถึงจุดเขาก็จะเอาสำลีแยงจมูกและไม้ปาดในลำคอเพื่อเก็บตัวอย่าง ใช้เวลาเก็บตัวอย่างไม่นาน แต่เข้าคิวรอนานมากเกือบๆชั่วโมงได้ กลับบ้านมา คืนนี้ไข้ขึ้นสูง 38.5 ถึง 39 กินยาลดไข้ ก็ไม่ลด จนเวลาเที่ยงคืนตัดสินใจเอาพาราฯ ที่ซื้อจากอเมกามากินดู เพราะมีหมอเคยบอกว่าเราอาจแพ้แค่ตัวที่ทำให้ยาขึ้นรูปไม่ใช่ตัวยาพาราเอง หลังกินไปได้ครึ่ง ชม. ไข้ลดลงมากเหงื่อออกเยอะมาก ถ้าไม่กินพารารอบนี้น่าจะแย่ โชคดีที่ไม่แพ้ยาตัวนี้

 

 

 

29 มี.ค. ราวๆ 9.00 น. มีโทรศัพท์มาแจ้งผล และถามเราว่าจะไป รพ.ที่เขาโคไว้ไหม (รพ.วิภาราม-ชัยปราการ) หลังจากคุยกับที่บ้านเราเลยตกลงว่าไปที่นี่แหละ เพราะกลัว รพ. รัฐใหญ่ๆ จะไม่มีห้อง เลยโทรไปยืนยันกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่บอกว่าน่าจะได้ห้องช่วงบ่ายหรือไม่ก็เช้าวันพรุ่งนี้ ราวๆ 16.00 น. เจ้าหน้าที่โทรมาแจ้งว่าได้ห้องแล้ว เลยให้ รพ. ส่งรถมารับที่บ้านเลย

 

 

 

17.00 น. รถก็มารับที่บ้าน เป็นรถพยาบาลทั่วไป ใช้เวลาไม่ถึง ชม. ก็ถึง รพ. วิภาราม-ชัยปราการ เมื่อมาถึงก็มีเจ้าหน้าที่ใส่ชุด PPE มาพาไปที่ห้อง เมื่อถึงห้องเจ้าหน้าที่ได้ให้เครื่องวัดระดับออกซิเจนและปรอทวัดไข้ไว้ โดยเราจะต้องวัดค่าและส่งให้พยาบาลทางไลน์ทุกๆ 3 ชม. จากนั้นเราก็ได้ส่งเอ็กซเรย์จาก รพ.รามฯ ให้เจ้าหน้าที่ เย็นนั้นได้คุยกับคุณหมอทางโทรศัพท์ หมอเลยให้เราเริ่มยาต้านไวรัสในคืนนั้นเลย เพราะเชื้อเริ่มลงปอดแล้ว คืนนั้นยังมีไข้อ่อนๆ อยู่ หลังทานข้าวเลยต้องกินพาราเพิ่ม

 

 

 

21.00 น. เจ้าหน้าที่เอายาต้านไวรัสมาให้ เป็นตัวยาต้านมาลาเรียกชื่อ chloroquine ยาตัวนี้ช่วยลดการเพิ่มจำนวนไวรัสโควิดในร่างกายได้ครับ ทำให้ภูมิคุ้มกันตามปกติพอจะสู้กับไวรัสไหว หลังทานมีอาการมึนหัวนิดๆ


- 30 มี.ค. ตื่นมามีอาการมึนๆ แต่ไม่มีไข้แล้ว เริ่มมีอาการเบื่ออาหารและเวลาทานข้าวจะรู้สึกว่ากลืนยากมากๆ เหมือนน้ำลายมีน้อยกว่าปกติ อาหารที่ รพ. เป็นอาหารกล่องแช่แข็ง ปกติทานได้ไม่มีปัญหา แต่นี่กว่าจะกินหมดแต่ละมื้อใช้ความพยายามสูงมาก

 

 

- 31 มี.ค. - 3 เม.ย. ไม่มีอาการไข้แล้ว ทุกวันจะได้ยาต้านไวรัส 2 dose อาการที่เหลือคือไอมีเสมหะ ท้องเสีย และมึนหัวแทบตลอดเวลา ช่วงนี้เหมือนสมองเบลอๆ มาก เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว ไม่สามารถโฟกัสอะไรได้เลย ลองพยายามอ่านหนังสือก็ไม่รู้เรื่อง ได้แต่นอนไปเรื่อยๆ เป็นช่วงที่อึดอัดมาก ช่วงนี้มีเอ็กซเรย์ซ้ำเพื่อดูอาการ ผลที่ได้ฝ้าที่มีไม่ได้เพิ่มขึ้น

 

 

- 4 เม.ย. เริ่มหยุดยาต้านไวรัสหลังจากได้ยามา 10 dose ช่วงนี้อาการต่างๆเริ่มดีขึ้น มึนหัวน้อยลง และไม่มีอาการเบื่ออาหารแล้ว จะเหลือแค่อาการไอมีเสมหะแค่เล็กน้อย

 

 

 

- 6 เม.ย. อาการต่างๆเหมือนจะปกติ เหลือไอนิดหน่อย มีเอ็กซเรย์ซ้ำ หมอบอกเหลือฝ้าที่ปอดซ้ายอีกนิดหน่อย ที่เหลือแค่รอให้ครบ 14 วัน

 

 

 

- 10 เม.ย. มีเอ็กซเรย์ซ้ำเพื่อดูอาการ ผลที่ได้หมอบอกมีฝ้าเพิ่มนิดหน่อย เลยต้องให้อยู่ รพ. เพิ่มอีก 48 ชม. เพื่อดูอาการ เพราะกลัวว่าจะอาการทรุดลงเวลากลับไปบ้าน แต่อาการอื่นๆไม่มีอะไรเลยนอกจากไอนิดหน่อย

 

 

- 11 เม.ย. เช้ามีเอ็กซเรย์ซ้ำเพื่อดูอาการ ตอนบ่ายแก่ๆ พยาบาลโทรแจ้งผลว่าดีขึ้นเหลือฝ้าเล็กน้อย หมอเลยให้กลับบ้านได้ สรุปได้กลับบ้านเร็วขึ้นครึ่งวัน
 

 

 

 

สรุปโรคโควิด-19 ในมุมผมเป็นโรคที่ติดง่ายมาก ที่ผ่านมาก็ใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้ไปที่เสี่ยงหรือมีคนใกล้ตัวที่เป็น ในความรู้สึกจุดเสี่ยงสุดที่คิดออกคือขนส่งสาธารณะ เพราะรถเมล์กับเรือคลองแสนแสบที่นั่งช่วงนั้นคนแน่นและอากาศค่อนข้างร้อนไม่ถ่ายเท แต่ปกติเวลาขึ้นรถขึ้นเรือหรือรถไฟฟ้า เราก็ใส่หน้ากากตลอดเวลา เวลาถึงบ้านหรือออฟฟิตก็ล้างมือทุกครั้ง นึกไม่ออกจริงๆ ว่าไปติดตอนไหน ติดได้ยังไง บางทีอาจจะเป็นแค่ตอนปาดเหงื่อที่หน้าหรือบางครั้งที่เราเผลอโดนตาเวลาขยับแว่นก็อาจจะเป็นไปได้ ครั้งนี้โชคดีมากๆ ที่ไม่มีคนใกล้ตัวติดจากเราเลย เหตุการณ์นี้สอนให้เรารู้อย่างแท้จริงว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐจริงๆ หลังจากนี้ก็ต้องกลับมากักตัวต่ออีก 14 วันที่บ้าน
 

 

 

 

หลายๆ คนถามมาว่าค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ การรักษาครั้งนี้ของผมรัฐฯ ออกค่าห้อง รพ. ให้ครับ เท่าที่ทราบมาที่ รพ. วิภาราม-ชัยปราการค่าห้องคืนละ 1500 ส่วนค่ารักษาผมใช้ประกันสังคมกับประกันกลุ่มของบริษัทแต่ตัวเลขค่ารักษาไม่ทราบครับ ไม่ได้จ่ายเพิ่มเองครับ ของที่ รพ. ที่ผมไปไม่มีการตรวจเชื้อซ้ำหลังจากออกมาครับ คุณหมออธิบายว่าส่วนใหญ่ในระยะ 1 เดือนหลังพบเชื้อครั้งแรกถ้าไปตรวจจะยังเจอครับ เพราะการตรวจบอกได้แค่ว่าในร่างกายเรามีสารพันธุกรรมไวรัสอยู่ไหม ถ้าไม่มีอาการไข้หรืออื่นๆแล้ว ปกติร่างกายจะใช้เวลาราวๆ 1-2 เดือนในการขับซากไวรัสออกหมดครับ ระยะเวลาแล้วแต่คนครับ แต่โดยทั่วไปถ้าไม่มีอาการใดๆ หลัง 8 วันจากวันที่พบเชื้อครั้งแรกเชื้อในร่างกายน่าจะตายหมดไม่แพร่ให้คนอื่นแล้วครับ ของไทยเราหมอเขาเผื่อไว้ให้เป็น 1 เดือนไปเลยเพราะข้อมูลไวรัสนี้ยังมีไม่มากครับ ขอขอบคุณ บุคคลากรทางการแพทย์ทุกท่านที่ รพ. วิภาราม-ชัยปราการด้วยครับที่ช่วยดูแลตลอดเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้แทบจะไม่เคยเห็นหน้ากันเลยครับ เพราะทุกคนต้องใส่ชุด PPE ตลอด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ