ข่าว

ผู้พิพากษาเซ็นรับรองฎีกา "เปรมชัย" สู้ชั้นฎีกาคดีล่าเสือดำได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เปรมชัย-คนขับรถ-นายพราน" ยื่นคำร้องขอผู้พิพากษาเซ็นรับรองฎีกาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ.สู้คดีล่าเสือดำ ก่อนครบกำหนดยื่นฎีกา 10 เม.ย.หลังขอขยาย 3 รอบ

 

 

          เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 - จากที่เมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมานายเปรมชัย กรรณสูต อายุ 66 ปี ประธานบริหารและกรรมการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 , นายยงค์ โดดเครือ อายุ 68 ปี คนขับรถและคนใกล้ชิดนายเปรมชัย จำเลยที่ 2 , นายธานี ทุมมาศ หรือพรานแกละ อายุ 59 ปี นายพรานนำนายเปรมชัยเข้าป่า จำเลยที่ 4 ได้ยื่นคำขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาและที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ รับรองและอนุญาตให้ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในคดี ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 218 และ 221 กรณีที่ชั้นศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้โทษแต่จำคุกไม่เกิน 5 ปี

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

ศาลไม่อนุญาต เปรมชัย ถอดกำไลอีเอ็ม

คดีล่าเสือดำ ยังไม่ถึงฎีกา "เปรมชัย" ขอขยายฎีกาครั้งที่ 3

 

          ซึ่ง ป.วิ.อ.มาตรา 218 บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงฯ

 

          มาตรา 221 บัญญัติว่า ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218 , 219 และ 220 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป


          ล่าสุด (1 เม.ย.) มีรายงานแจ้งว่า ผู้พิพากษาได้รับรองอนุญาตให้จำเลยที่ 1,2,4 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้แล้ว โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญ อันควรส่งศาลสูงสุด จึงอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในส่วนความผิดที่ต้องห้ามฎีกาได้


          โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นที่จำเลยได้ยื่นคำฎีกาไว้ ก็จะต้องส่งสำเนาคำฎีกาของจำเลยที่ 1,2,4 ให้อัยการโจทก์ทำคำแก้ฎีกาต่อไป และเมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ยื่นคำฎีกาและคำแก้ฎีกาครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ก็จะส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมสำนวนคดี ไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาและมีคำพิพากษาชั้นฎีกาต่อไป


          สำหรับ นางนที เรียมแสน อายุ 46 ปี แม่ครัว จำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้รอการลงโทษไว้ 2 ปีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จากโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาจำคุกมีกำหนด 1 ปี 8 เดือน และปรับ 40,000 บาท ฐานร่วมกันทําให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ , ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น คดีในส่วนของจำเลยที่ 3 นี้เป็นอันยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เนื่องจากฝ่ายอัยการโจทก์ไม่ได้ยื่นฎีกา และในส่วนของจำเลยที่ 3 เองก็ไม่ได้ยื่นคำฎีกาเช่นกัน


          ทั้งนี้ในการฎีกานั้น ก่อนหน้านี้นายเปรมชัยกับพวกได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดทองผาภูมิ ขอขยายระยะเวลา มาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดให้ขยายเวลายื่นฎีกาถึงวันที่ 10 เม.ย.นี้ ส่วนของอัยการโจทก์เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ครบกำหนดการยื่นฎีกาตามที่ขอขยายไว้รอบที่สอง ก็เป็นที่ชัดเจนว่า อธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลสูงภาค 7 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 (ผบช.ภ.7) พิจารณาความเห็นตามขั้นตอน ป.วิ.อ.มาตรา 145/1 แล้วสรุปว่าไม่ฎีกาเกี่ยวกับผลคดีดังกล่าวอีกต่อไปเนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาแล้วเห็นว่าครบถ้วนตามที่อัยการฟ้องแล้ว


          ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับคดีร่วมล่าเสือดำ สัตว์ป่าคุ้มครองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตกนี้ นายเปรมชัยกับพวกได้ประกันตัวคนละ 1 ล้านบาท พร้อมการติดกำไลข้อเท้า EM และเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศระหว่างการยื่นฎีกาคดี

 

          โดยคดีมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไปเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.62 ที่พิพากษาแก้เพิ่มโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา นายเปรมชัย ประธานบริหารและกรรมการ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ จำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 14 เดือน (เดิมศาลชั้นต้น จำคุก 16 เดือน) , นายยงค์ คนขับรถ จำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 17 เดือน (เดิมศาลชั้นต้น จำคุก 13 เดือน) และจำคุกนายธานี นายพราน จำเลยที่ 4 มีกำหนด 2 ปี 21 เดือน (เดิมศาลชั้นต้น จำคุก 2 ปี 17 เดือน) ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 , 31 วรรคหนึ่ง , พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 16, 19 วรรคหนึ่ง , 36 , 47 , 53, 55 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80,83 พ.ร.บ.อาวุธปืนเครื่องและกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง , 72 วรรคสาม , 72 ทวิ วรรคสอง , ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ฐานร่วมกันทําให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ , ร่วมกันล่าสัตว์ป่า (เสือดำ สัตว์ป่าคุ้มครอง) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า , ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) โดยไม่ได้รับอนุญาต , ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (ไก่ฟ้าหลังเทา) โดยไม่ได้รับอนุญาต , ร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต , และนายพราน มีโทษฐานพยายามล่าสัตว์ป่า (กระรอก) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น

 

          ส่วนนางนที แม่ครัว จำเลยที่ 3 จำคุกมีกำหนด 1 ปี 8 เดือน และปรับ 40,000 บาท ฐานร่วมกันทําให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ , ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยโทษจำคุกนั้นให้รอการลงโทษไว้ 2 ปีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น (จากเดิมศาลชั้นต้นจำคุก 4 เดือนและปรับ 10,000 บาท ฐานร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองเสือดำและไก่ฟ้าหลังเทา ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และยกฟ้อง 3 ข้อหาเกี่ยวกับความผิดอาวุธปืน)


          และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวน 2 ล้านบาท (มูลค่าความเสียหายเสือดำ) พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. 2561 (วันที่เจ้าหน้าที่พบการกระทำผิด) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแก่ผู้ร้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ