ข่าว

เมืองนครจำปาศรี ที่นาดูน

เมืองนครจำปาศรี ที่นาดูน

23 ธ.ค. 2552

โบราณวัตถุกลุ่มหนึ่งที่ถูกโจรกรรมไปจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น คือ พระพิมพ์นาดูน โบราณวัตถุสมัยทวารวดี ที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่แพร่เข้าไปถึงยังลุ่มน้ำมูล-ชี

  บริเวณ บ้านนาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม เคยเป็นเมืองโบราณมาก่อน สันนิษฐานว่าบริเวณนี้น่าจะเป็น “เมืองนครจำปาศรี” ตามที่มีจารึกไว้ในหนังสือก้อม ซึ่งเป็นหนังสือผูกใบลานที่ค้นพบโดยพระอริยนุวัตรเขมจารีเถระ เมื่อพ.ศ.2492 ที่วัดหนองทุ่ม ต.นาดูน เพราะได้พบหลักฐานสถูปเจดีย์และวัตถุโบราณเป็นจำนวนมาก มีสถูปสัมฤทธิ์ และพระพิมพ์ดินเผา เป็นต้น

 แสดงถึงหลักฐานความรุ่งเรืองของเมืองนครจำปาศรีในสมัยทวารวดี ราว พ.ศ.1000-1200 และอยู่อาศัยต่อเนื่องมาถึงสมัยลพบุรี ราว พ.ศ.1600-1800 พบศาสนสถานในยุคนี้ มีกู่ที่ก่อด้วยศิลาแลงแบบขอมอยู่หลายแห่ง เช่น กู่น้อย และกู่สันตรัตน์ บริเวณกลางเมืองนครจำปาศรีแห่งนี้ ได้พบศิลาจารึก เอ่ยถึงพระนามกษัตริย์เขมร “พระบาทกมรเตงอัญศรีชัยวรมันเทวะ” อาจหมายถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 แห่งอาณาจักรเขมรโบราณ

 ภายในนครจำปาศรีมีลักษณะเป็นเนินดินมีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานและแหล่งฝังศพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ พบภาชนะดินเผาแบบทุ่งกุลา อายุราว 3,000 ปีมาแล้ว เป็นบรรพชนของชาวนครจำปาศรีและชาวนาดูนในปัจจุบัน

 ชื่อ นาดูน น่าจะหมายถึงที่พื้นที่บนเนินสูง มีน้ำซับน้ำซึมผุดขึ้น
 คำว่า ดูน มีความหมายว่าสูงขึ้น มีน้ำซับ น้ำคำไหลรินตลอดเวลา สอดคล้องกับการที่เมืองเก่าตั้งอยู่บนพื้นที่มีลักษณะเป็นเนินและมีบ่อน้ำเก่ามีน้ำผุดจากดินขึ้นมาตลอด ชาวบ้านเรียกว่า “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” เดิมเรียก “น้ำดูน” หรือ “นาดูน”

 ต.นาดูน เดิมเป็นหมู่บ้านเรียก “บ้านหนองดูน” หรือ "บ้านนาดูน” ยกฐานะเป็น “ตำบลนาดูน” อยู่ในความปกครองของ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ในปี พ.ศ.2512 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่ง อ.นาดูน ต่อมาได้จัดตั้งเป็นสุขาภิบาลนาดูน

 ปี 2542 ได้มีพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะเป็น “เทศบาลตำบลนาดูน”

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"