ข่าว

ข้อดี-ข้อเสียไม่กักไวรัสโคโรน่า "ปล่อยระบาดสร้างภูมิคุ้มกัน"

ข้อดี-ข้อเสียไม่กักไวรัสโคโรน่า "ปล่อยระบาดสร้างภูมิคุ้มกัน"

17 มี.ค. 2563

โดย ทีมรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


 

            “I must level with you, the British public. Many more families are going to lose their loved ones before their time”

 

          วงการแพทย์ทั่วโลกสั่นสะเทือนหลังประโยคนี้หลุดจากปาก “บอริส จอห์นสัน” นายกรัฐมนตรีอังกฤษช่วงแถลงรับมือแพร่ระบาดไวรัสโรคโควิด19  เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา แปลสรุปเป็นคือ

           “ผมต้องพูดความจริงกับชาวอังกฤษว่า จะมีครอบครัวจำนวนมากต้องสูญเสียบุคคลที่รักก่อนเวลาอันควร”  

อ่านข่าว-โลกผวา'โควิด-19'หลายชาติปิดประเทศ

 

 

            นายบอริสกล่าวประโยคนี้เหมือนประกาศเตรียมความพร้อมให้ชาวอังกฤษ “รีบทำใจเนื่องจากรัฐบาลอาจใช้แนวทางจัดการไวรัสร้ายตัวนี้แตกต่างไปจากประเทศอื่นทั่วโลก ที่เน้น “ป้องกัน ควบคุม กักกัน” การแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นแบบเด็ดขาด แต่จะทำตรงข้ามคือปล่อยให้ร่างกายคนอังกฤษ “สร้างภูมิคุ้มกัน” ให้รวดเร็วที่สุด หรือภาษาแพทย์เรียกว่าการมี “ภูมิคุ้มกันระดับชุมชน” (Herd Immunity)  หรือ ภูมิคุ้มกันหมู่  ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ช่วยป้องกันการติดต่อของเชื้อโรคตัวใหม่ ๆ  

 

           ข้อมูลพื้นฐานที่รู้กันทั่วไปคือ เชื้อโรคที่สามารถติดต่อจากคนสู่คน เช่น ไวรัสโคโรน่าหรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ นั้นหากใครเคยป่วยหรือติดเชื้อสายพันธุ์ไหนมาก็ตาม ร่างกายของคนนั้นจะสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้เมื่อเจอเชื้อตัวเดิมซ้ำมักไม่ป่วยอีก ยกตัวอย่างโรคที่คนไทยคุ้นเคยดีคือ เชื้อหัดเยอรมัน เชื้ออีสุกอีใส ฯลฯ  ตอนเด็กหากใครเคยป่วยด้วยเชื้อพวกนี้ จะไม่กลับไปป่วยเป็นโรคนี้อีก แม้มีบางคนอาจโชคร้ายป่วยซ้ำเชื้อเดิมบ้าง แต่เป็นจำนวนที่น้อยมากเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์

 

 

 

           วิธีการที่ร่างกายของคนสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคตัวใดตัวหนึ่งนั้น นอกจากต้องมีประสบการณ์เคยติดเชื้อโรคตัวนี้มาก่อนแล้ว อาจเป็นกรณีเคยได้รับ “วัคซีน” ป้องกันเชื้อตัวนี้ แพร่หลายทั่วไป เช่น วัคซีนโปลิโอ คอตีบ ไข้ทรพิษ ฯลฯ การมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” แสดงว่าชุมชนนั้นเคยรับเชื้อนี้หรือเคยได้วัคซีนไปแล้วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 –70ของประชากรทั้งหมด 

           ข้อเสนอของผู้นำอังกฤษหากนำไปปฎิบัติจริง แสดงว่าจะไม่มีการใช้นโยบายปิดเมืองหลวง ปิดสนามบิน กักกันหรือคุ้มเข้มผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโควิด – 19 แต่ปล่อยให้ค่อย ๆ แพร่กระจายผ่านประชาชนทั่วไป ปัจจุบันอังกฤษมีประชากรประมาณ 66.8 ล้านคนถ้าจะสร้างภูมิคุ้มกันให้สำเร็จผลต้องปล่อยให้มีทั่วประเทศอย่างน้อย 47 ล้านคนติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้

            นักวิทยาศาสตร์ไวรัสวิทยาพยายามอธิบายให้นายบอริสเข้าใจว่า อาจมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน มีการประเมินว่าในอังกฤษนั้น เชื้อโควิด – 19 จะขึ้นไปถึงจุดระบาดสูงสุดอีกภายใน 2 -3 เดือนข้างหน้า

 

 

 

 

 

ข้อดี-ข้อเสียไม่กักไวรัสโคโรน่า \"ปล่อยระบาดสร้างภูมิคุ้มกัน\"

 

 

             ดร.แอนโธนี คอสเตลโล (Anthony Costello) ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก ให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า รัฐบาลอังกฤษไม่น่าจะกล้าใช้นโยบายนี้จริง เพราะขัดแย้งกับแนวทางขององค์การอนามัยโลก ที่สำคัญคือเชื้อไวรัสตัวนี้ยังไม่มีข้อมูลมากพอว่าจะกลายพันธุ์หรือเปลี่ยนแปลงตัวเองได้รวดเร็วแค่ไหน ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายมนุษย์สร้างตามธรรมชาติอาจไม่แข็งแรงเพียงพอ

              ทำให้เกิดคำถามว่า “แนวคิดสร้างภูมิคุ้มกันระดับชุมชน” เป็นวิธีการที่เหมาะสมหรือไม่ ?

             ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ประจำกระทรวงสาธารณสุข อธิบายให้ “คมชัดลึก” ฟังถึง ข้อดี – ข้อเสีย ของวิธีการสร้าง “ภูมิคุ้มกันชุมชน” ในกรณีไวรัสร้ายโควิด – 19 ว่า ขณะนี้คนทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะตื่นตระหนก หลายพื้นที่เริ่มแย่งชิงการบริการทางการแพทย์และทรัพยากรทางสาธารณสุข ทำให้รัฐบาลบริหารจัดการได้ยาก ถ้ามีคนป่วยเชื้อนี้มารักษาพร้อมกันหลายพันคน โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ก็รับมือไม่ไหว โดยเฉพาะเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ

 

 

 

          “กลายเป็นว่ามีเฉพาะคนรวยหรือคนมีอำนาจบางส่วนเท่านั้นที่ได้รับการดูแล แต่คนป่วยอื่น ๆ จะถูกทอดทิ้ง อย่าลืมว่าคนป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลไม่ได้มีแค่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาเท่านั้น แต่มีโรคร้ายแรงอื่น ๆ ด้วย จากปกติมีคนป่วยเต็มห้องไอซียูอยู่แล้ว จะมีสักกี่ประเทศที่หาสถานที่รองรับผู้ติดเชื้อโคโรนาได้ทั้งหมด หลายประเทศยอดคนเสียชีวิตพุ่งขึ้นเป็นร้อยคนในไม่กี่วัน เพราะไม่มีอุปกรณ์การแพทย์รองรับที่เพียงพอ อาจเป็นไปได้ที่อังกฤษมองเห็น ข้อดี ของวิธีการนี้ คือปล่อยให้เชื้อระบาดตามธรรมชาติ แล้วร่างกายชาวบ้านในแต่ละพื้นที่สร้างภูมิคุ้มกันมาสู้ รัฐบาลบริหารจัดการสถานพยาบาลไว้ดูแลเฉพาะคนสูงอายุ คนร่างกายอ่อนแอ หรือคนป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับดูแลจริง ๆ เท่านั้น ไม่ถูกเบียดบังจากภาวะตื่นตระหนก แย่งหน้ากากอนามัย แย่งห้องแล็บตรวจเชื้อ แย่งเตียงโรงพยาบาล แย่งเครื่องช่วยหายใจ หรือเกิดภาวะกักตุนสินค้า ฯลฯ ”

 

 

ข้อดี-ข้อเสียไม่กักไวรัสโคโรน่า \"ปล่อยระบาดสร้างภูมิคุ้มกัน\"

 

 

          แต่โดยส่วนตัวแล้ว นักระบาดวิทยาข้างต้น ไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้สำหรับเชื้อโควิด- 19 เพราะเปรียบเทียบกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่อื่นที่เคยระบาดมาก่อนเช่น  “โรคไข้หวัดนก” (bird flu) แพร่จากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก นก ไก่ เป็ด ฯลฯ ระบาดในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยช่วงปี 2004 ทำให้สัตว์ปีกจำนวนมากเสียชีวิตและติดต่อจากสัตว์สู่คนเป็นหลายระลอก แต่โชคดีที่ไวรัสตัวนี้มีประสิทธิภาพในการแพร่เชื้อระดับต่ำ ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง สามารถใช้ยาและวัคซีนที่มีอยู่ของไข้หวัดใหญ่ได้ผล เมื่อฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับกลุ่มเสี่ยงจำนวนมาก เชื้อโรคตัวนี้ก็ค่อย ๆ หยุดแพร่ระบาด นอกจากนี้ยังมีกรณีไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ( A H1N1) ที่ระบาดลุกลาม ตอนนั้นก็ตื่นตระหนกไปทั่วโลกเหมือนกัน แต่โชคดีมียารักษาราคมไม่แพง เช่น  โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) ใครป่วยติดเชื้อมาแพทย์สั่งตัวนี้ให้กินได้ทันที

 

 

 

           “ข้อเสีย คือเชื้อไวรัสโคโรนาตัวใหม่นี้ ยังไม่มียารักษาและไม่มีวัคซีน และมีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายเชื้อได้เร็ว หากไม่เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น หรือไปใช้แนวทางสร้าง “ภูมิคุ้มกันในชุมชน” จะยิ่งกลายเป็นภาวะวิกฤติ ลองคำนวณเบื้องต้นว่า ประชากรไทย 70 ล้านคน ถ้าอยากให้มีภูมิคุ้มกันอย่างน้อย 70 % ก็ประมาณ 36- 50 ล้านคนที่ควรติดเชื้อตัวนี้ หากอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 1 -3 แสดงว่าจะมีผู้เสี่ยงชีวิตเป็นหลักล้านคน นับว่าเสี่ยงเกินไปมาก ถ้ายังไม่มียารักษาหรือวัคซีนออกมาช่วย เชื่อว่าคงไม่มีรัฐบาลประเทศไหนกล้าใช้วิธีการนี้” ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นกล่าว

 

            สรุปคือ “แนวทางสร้างภูมิคุ้มกันระดับชุมชน” หรือปล่อยให้ร่างกายประชาชนเกิดภูมิคุ้มกันมากที่สุด เพื่อต่อสู้เชื้อโรคตัวใหม่นั้น จะได้ผลต่อเมื่อมีตัวช่วยเช่น “ยา” หรือ “วัคซีน” ตอนนี้เริ่มมีข้อมูลหลุดจากนักวิทยาศาสตร์จีนว่า การผลิตและทดลอง “วัคซีนโควิด – 19” กำลังได้ผลอย่างดี

 

            มนุษย์โลกจะไม่พ่ายแพ้ต่อไวรัสร้ายตัวนี้แน่นอน !

 

ทีมรายงานพิเศษ คมชัดลึก