
ศิริกัญญา ชี้ จับตาการควบรวมเครือ CP และ Tesco Lotus
หลังจากที่ตั้งคณะกรรมการ กขค. ขึ้นมาติดตามการควบรวมแล้ว จะมีปฏิกิริยาต่อดีลนี้อย่างไร กขค. และ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2560 จะเป็นแค่เสือกระดาษหรือไม่
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล (Sirikanya Tansakun) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในฐานะประธาน กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ โพสต์ Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล จับตาการควบรวมเครือ CP และ Tesco Lotus !!!
อ่านข่าว - เจ้าสัวซีพี ทุ่ม 100 ล้าน สร้าง รง.ผลิตหน้ากากแจกฟรี
สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาต่างๆ ของประเทศ มีข่าวข่าวหนึ่งที่เป็นข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจ คือ การที่เครือ CP ซื้อกิจการ Tesco Lotus ในไทยและมาเลเซีย มูลค่ารวม 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 338,445 ล้านบาท โดย CP โฮลดิ้ง ถือหุ้น 40% , CPAll ถือหุ้น 40% และ CPF ถือหุ้น 20%
แน่นอนค่ะ ว่า การควบรวมกิจการใหญ่ของกลุ่มทุนค้าปลีกสำคัญของประเทศย่อมส่งผลกระทบกับการแข่งขันในตลาด
สำหรับฝั่งลูกค้า การแข่งขันที่ลดลงย่อมนำไปสู่ทางเลือกในตลาดที่ลดลง
สำหรับซัพพลายเออร์รายย่อย (หรือแม้แต่เจ้าใหญ่ก็ตาม) ก็จะมีอำนาจต่อรองน้อยลงหากจะส่งสินค้าวางขาย
อย่าลืมว่านะคะ ว่า เครือซีพี เองก็มีธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ ตั้งแต่ต้นน้ำปัจจัยการผลิตอย่าง ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ สารเคมีเกษตร อาหารสด อาหารแปรรูป การเข้ามายึดกุมธุรกิจค้าปลีกอย่างครบวงจรเช่นนี้ จะสร้างอำนาจต่อรองกับเกษตรกรรายย่อยได้ขนาดไหน
สิ่งที่เราต้องจับตาคือ “คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)” หลังจากที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามการควบรวมแล้ว จะมีปฏิกิริยาต่อดีลนี้อย่างไร คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2560 จะเป็นแค่เสือกระดาษหรือไม่
2 เรื่องที่เราต้องจับตา คือ
ประการแรก การนิยาม “อำนาจเหนือตลาด” ว่าจะใช้นิยาม “ตลาด” ว่าอย่างไร จะนิยามอยากแคบที่สุดว่าเป็นตลาดห้างค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ (hypermarket) จะใช้นิยามอย่างกว้างของตลาดค้าปลีก (retail market) ที่รวมร้านสะดวกซื้อและตลาดสดทั้งหมด
ส่วนที่สำคัญที่สุดก็การตีความนิยามขอบเขตของตลาดนี่แหละค่ะ ถ้าตีความว่าเป็นตลาดค้าปลีกที่รวมร้านสะดวกซื้อและตลาดสดเข้าไปด้วย ก็คงไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด และไม่จำเป็นต้องขออนุญาตด้วยซ้ำ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นตัวตัดสินว่าคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ หรือจะเข้าเกณฑ์ว่าเป็นเพียงต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบเฉยๆ
แต่การใช้เฉพาะส่วนแบ่งตลาดนั้นเป็นเกณฑ์ที่แข็งเกินไป ควรพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น รายได้ ยอดขาย หรือทรัพย์สิน หรือส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นหลังการควบรวม
ประการที่สอง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า จะมีมาตรการในการป้องกัน “พฤติกรรมที่อาจจำกัดการแข่งขัน” ซึ่ง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าให้อำนาจเอาไว้หรือไม่
เพราะถึงแม้ว่าส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่าเกณฑ์ ก็ไม่ได้หมายความจะไม่มีอำนาจเหนือตลาด และการคำนวณส่วนแบ่งตลาดนั้นมองได้จากทั้งฝั่งผู้ซื้อหรือผู้ขาย และท้ายที่สุด การควบรวมก็สามารถจำกัดการแข่งขันหรือนำไปสู่การค้าที่ไม่เป็นธรรมได้อยู่ดี
ในต่างประเทศ หากเห็นว่าการควบรวมกิจการอาจนำไปสู่การใช้อำนาจเหนือตลาด คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าอาจสั่งห้ามการควบรวมกิจการ หรืออนุญาตแบบมีเงื่อนไขให้มีการขายกิจการไปบางส่วน ส่วนในประเทศไทย เราก็คงต้องฝากให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีความกล้าหาญในการจัดการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
ปล. กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ให้นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาทั้งเคสนี้ และเคสการควบรวมโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แล้วนะคะ รอติดตามกันค่ะว่า สขค. จะชี้แจงว่าอย่างไร #ก้าวไกล