ข่าว

โควิด-19 เป็นภาวะระบาดใหญ่ มีความหมายและผลพัวพันอย่างไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในที่สุด องค์การอนามัยโลกก็ตัดสินใจใช้คำว่า pandemic หรือการระบาดใหญ่ บรรยายสถานการณ์โรคโควิด-19 หลังจากแพร่ลามไปทั่วโลกเกิน 100 ประเทศ ติดเชื้ออีกกว่า 1.2 แสน

 

 

                            “WHO ประเมินการระบาดครั้งนี้ตลอด24 ชม. และรู้สึกวิตกกังวลอย่างยิ่งกับทั้งระดับการแพร่กระจายและความรุนแรงอย่างน่าตกใจ และกับระดับความไม่กระตือรือล้นอย่างน่าตกใจ ดังนั้น เราจึงได้ประเมินว่า โควิด-19 เข้าเกณฑ์ ระบาดใหญ่..ระบาดใหญ่ไม่ใช่คำที่ใช้อย่างไม่รอบคอบหรือไม่จริงจัง”   ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าว 

อ่านข่าว-รัฐเพิ่มมาตรการเข้มสกัด"โควิด-19"ระบาดระยะ 3

 

แต่การประกาศว่าเป็น pandemic หรือระบาดใหญ่นี้มีความหมายและผลพัวพันอย่างไร 

 

คำว่า pandemic 


                    มาจากคำกรีก pan ( ทั้งหมด) กับ demos (ผู้คน ) เป็นคำที่ใช้เมื่อโรคติดต่อขยายวงกว้างในหลายประเทศและหลายทวีปในเวลาเดียวกัน  ต่างจากคำว่า  epidemic ที่หมายถึงการระบาดเหนือการควบคุมแต่ยังจำกัดในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือจุดใดจุดหนึ่ง 

                      ถึงฟังน่ากลัว แต่ pandemic โดยหลักคือการอ้างอิงการแพร่กระจายเชื้อ ไม่ใช่อัตราการเสียชีวิต หรือศักยภาพของโรค  

                       WHO นิยาม pandemic ว่าเป็นภาวะระบาดของโรคใหม่ที่แพร่จากคนสู่คนทั่วโลกได้ง่าย ซึ่งหมายถึงการที่การระบาดแผ่กว้างในหลายประเทศหรือหลายทวีป กระทบคนจำนวนมาก และโรคนั้นจะต้องเป็นโรคติดต่อ 

                       มะเร็งที่มีผู้ป่วยมากมายทั่วโลก ไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่ใช่การระบาดใหญ่ 

                       WHO เลี่ยงใช้คำว่าระบาดใหญ่มาจนกระทั่งชัดเจนว่า การระบาดในประเทศ หรือ local transmission แผ่กว้างออกไป ประเทศที่พบไวรัส Sars-CoV2 อยู่ที่ 115 ประเทศ และมีกว่า 10 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อยืนยันอย่างน้อย 500 ราย 

 

 

 

การประกาศภาวะระบาดใหญ่หลังสุด มีขึ้นเมื่อไหร่ 

 

                       ปี 2552 องค์การอนามัยโลกประกาศให้ไข้หวัดใหญ่ H1N1 เป็นภาวะระบาดใหญ่ แต่ในครั้งนั้น WHO ถูกวิจารณ์จากหลายประเทศที่มองว่าก่อความตื่นตระหนกโดยไม่จำเป็น ทั้งยังทำให้หลายประเทศสูญเงินไปกับการพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่สุดท้ายแล้ว อาการไม่ได้รุนแรง และยับยั้งได้ไม่ยาก 

                       ก่อนหน้านั้น  มีการใช้คำนี้กับ ไวรัสเอชไอวี ไข้หวัดหมู และไข้หวัดใหญ่สเปน 

 

 

 

กระบวนการประกาศเป็น pandemic 

                       มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างนับจากปี 2552  WHO ระบุว่าไม่มีขั้นตอนอย่างเป็นทางการอีกต่อไปในการจัดหมวดโรคระบาด ว่าเป็น pandemic เหมือนแต่ก่อนที่มีระดับเตือนภัย 6 ขั้น 

                       อันที่จริง การประกาศเมื่อ 30 ม.ค. ว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก นั่นคือการยกระดับสูงสุดในการระบุถึงสถานการณ์ระบาดของโลกภายใต้กฎระเบียบสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งอย่างเป็นทางการแล้ว อาจมีความหมายในเรื่องแนวทางรับมือมากกว่าการประกาศว่า เป็นระบาดใหญ่เสียอีก

                       เมื่อผอ.องค์การอนามัยโลกประกาศว่า โควิด-19 ว่าเป็นภาวะระบาดใหญ่ จึงไม่ใช่การตัดสินใจที่มาจากกระบวนการอย่างเป็นทางการ อีกทั้งไม่มีมาตรการใหม่ๆออกมาบังคับใช้แต่อย่างใด 

                      กระนั้น การประกาศว่าเป็น ระบาดใหญ่ ก็ถือเป็นก้าวสำคัญ ที่ผ่านการหารือทั้งในและนอกองค์การยาวนานก่อนใช้คำนี้ 

                       ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการฝ่ายฉุกเฉินของ WHO กล่าวว่า การประกาศว่าระบาดใหญ่ ไม่ใช่การจุดประเด็นอะไรมากไปกว่าความต้องการเห็นมาตรการเข้มข้นและแข็งกร้าวมากขึ้น เราถือเป็นเรื่องร้ายแรงและเราเข้าใจผลพัวพันของคำคำนี้ “
 

 

 

 


มีผลเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ 

 

                      ผู้อำนวยการ WHO กล่าวว่า เขาใช้คำนี้เพราะวิตกระดับความไม่กระตือรือล้นทั่วโลก


                      ดังนั้น ก็น่าจะเป็นเพราะต้องการกดดันประเทศต่างๆให้ดำเนินการมากขึ้นเพื่อสกัดกั้นไวรัส

 

                       “การบรรยายสถานการณ์ว่าเป็นระบาดใหญ่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการประเมินภัยคุกคามของไวรัส ไม่ได้เปลี่ยนสิ่งที่ WHO กำลังทำอยู่ และไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ประเทศต่างๆควรทำ” แต่ขอย้ำเตือนทุกประเทศให้ตื่นตัวและขยับขยายกลไกรับมือฉุกเฉิน สื่อสารกับประชาชนถึงความเสี่ยง และให้พวกเขารับรู้ว่าจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร การตรวจหา แยกกัก ตรวจเชื้อและรักษาผู้ป่วยทุกคน ติดตามสอบสวนผู้สัมผัสโรคทุกคน เตรียมพร้อมรพ. ปกป้องและอบรมบุคลากรการแพทย์ 

 

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ 

                      ธนาคารโลกคาดว่าการระบาดใหญ่ระดับปานกลางถึงรุนแรง จะก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก ประมาณ 5.7 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 0.7 % ของรายได้ทั่วโลก 


                      เมื่อครั้งโรคซาร์สระบาดในปี 2545-2546 คนติดเชื้อแค่ 8,000 เศรษฐกิจโลกเสียหาย 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนโควิด-19 แม้อัตราการตายต่ำกว่า แต่พลังทำลายล้างมากกว่า ส่วนหนึ่งเนื่องจากโลกทุกวันนี้พึ่งพาจีนมากกว่า 17 ปีก่อนอย่างเทียบไม่คิด  
                      17 ปีก่อน จีนมีสัดส่วน 5% ของเศรษฐกิจโลก ปัจจุบัน อยู่ที่ราว 20 % 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ