ข่าว

ยาพร้อม เงินพร้อม บอร์ดสปสช.อนุมัติ 1,020 ล้านรักษาโควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บอร์ดสปสช.อนุมัติ 1,020 ล้านรักษาโควิด-9 ให้สธ.นำเข้าครม.พรุ่งนี้ พร้อมสำรองงบกลางอีก 3,500 ล้าน รับสถานการณ์ 7 เดือน "อนุทิน" เผยมีสต็อกยา 2 หมื่นเม็ด ดำเนินมาตรการสาธารณสุขเต็มที่ ขอปชช.มั่นใจ ปลุกกระแสสวมหน้ากากผ้า สั่งสอนมือกักตุนหน้ากากอนามัยให้เจ๊ง

 

 

          สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) - 2 มี.ค. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมบอร์ดสปสช. เพื่อพิจารณางบประมาณและการบริหารการจ่ายกรณีโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 โดยบอร์ด สปสช.มีมติเห็นชอบอนุมัติให้โรคโควิด 19 อยู่ในประเภทและขอบเขตการบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมอนุมัติหลักการให้ใช้เงินกองทุนที่มีเงินสะสมสูงกว่าค่าใช้จ่ายสะสม จำนวนไม่เกิน 1,020 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายในกรณีโรคติดเชื้อโควิด 19 โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันพรุ่งนี้

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

หมอธีร์ สวนผู้เชี่ยวชาญระบุ "คนปกติก็ใส่หน้ากากอนามัยได้"

พบหญิงไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม ทำงานใกล้ชิดคนขับแท็กซี่

ศธ.ยกระดับป้องกันโควิด -19 จริงจัง

 

 

ยาพร้อม เงินพร้อม บอร์ดสปสช.อนุมัติ 1,020 ล้านรักษาโควิด-19

 

          ส่วนการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่โรงพยาบาลเพื่อรองรับในการดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ต่อเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข พิจารณาออกประกาศเพื่อให้หน่วยบริการสามารถใช้เงินค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์สำหรับซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์หรือปรับปรุงพื้นที่ในหน่วยบริการมารองรับได้ ซึ่งเป็นวงเงินจำนวน 6,211 ล้านบาท

 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีข้อซักถามถึงการขาดตลาดของหน้ากากอนามัย โดยเสนอให้รัฐบาลสั่งห้ามส่งออกหรือส่งเสริมให้ทหารเร่งผลิตหน้ากากผ้า ซึ่งนายอนุทิน ชี้แจงว่า ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนเป็นกลไกการตลาด เป็นเรื่องทางธุรกิจที่ร่วมกับความเห็นแก่ตัว พูดไปก็ปากเปียกปากแฉะ ที่ผ่านมาตนพยายามสื่อสารให้ใช้หน้ากากผ้า หากสามารถทำให้หน้ากากผ้าเป็นกระแสในเรื่องความคุ้มค่าและปลอดภัย จะช่วยให้เราต่อสู้กับกลไกการตลาด ไม่เกิน 2 สัปดาห์คนที่กักตุนหน้ากากอนามัยต้องปล่อยสินค้ากลับเข้าสู่ตลาด คนเห็นแก่ตัวเหล่านี้ต้องทำให้หมดจากสังคมไทย ต้องทำให้เจ๊ง

 

          "ทั้งนี้จากการตรวจสอบก่อนเดือน ธ.ค.62 หน้ากากอนามัย ขายแผ่นละ 80 สตางค์ พบการทยอยกักตุน และปล่อยขายในเฟซบุ๊ก แผ่นละ 15-20 บาท มีสต๊อกเป็นล้านแผ่น คนไทยจึงไม่ควรคิดว่าหน้ากากอนามัยเป็นคำตอบสุดท้าย หากเราร่วมกันผลิตหน้ากากผ้าออกมาใช้ นอกจากจะเป็นการสั่งสอนผู้ที่กักตุนหน้ากากอนามัย ยังเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อม เพราะหน้ากากอนามัยไม่สามารถย่อยสลายได้เอง การกำจัดทิ้งได้ยากหากกำจัดไม่ถูกวิธี เราอาจจะเจอกับโรคอื่นไม่ใช่แค่โควิด 19" รมว.สาธารณสุข กล่าว


          นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ขอให้มั่นใจในอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษาโดยขณะนี้มีคนไข้ที่ติดเชื้อเข้าออกโรงพยาบาลไม่เกิน 20 คน การรักษาใช้ยารักษาเอดส์ และค็อกเทลไวรัสที่ผลิตโดยองค์การเภสัช เพื่อประคับประคองอาการให้ผู้ป่วยสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เอง นอกจากนี้ยังได้รับยาจากจีน และญี่ปุ่น ทำให้มีสต็อกยาเกือบ 20,000 เม็ด ขณะนี้ทางรัฐบาลขอเจรจาซื้อยาหรือลิขสิทธิ์การผลิตจากจีน ตนจึงเชื่อว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ เราจะสามารถรับมือกับสถานการณ์โรคได้ และเมื่อพ้นเดือนเม.ย. ก็เชื่อว่าสถานการณ์จะเบาตัวลง

          ยาพร้อม เงินพร้อม บอร์ดสปสช.อนุมัติ 1,020 ล้านรักษาโควิด-19

 

 

           นอกจากนี้ สธ.ได้สั่งให้ยกเลิกหรือเลื่อนการจัดการแข่งขันขนาดใหญ่ออกไปทั้งหมด รวมถึงการประชุมสัมมนาต่างๆ ล่าสุดการจัดแข่งขันโมโตจีพี ที่จ.บุรีรัมย์ก็ให้เลื่อนไปไม่มีกำหนดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุขปวดหัวมากที่สุดคือการกดไลค์-กดแชร์ในโซเชียล

 

          “กำลังการผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศมี 40 ล้านแผ่นต่อเดือน หรือ 1.4 ล้านชิ้นต่อวัน ผมให้สธ.แจกวันละแสนชิ้น ถามว่าอีก 1.3 ล้านชิ้นอยู่ที่ไหน ใช่กักตุนหรือไม่ ผมยอมโดนด่ามาเป็นสัปดาห์เรื่องแจกหน้ากาก แต่ต้องทำเพื่อสั่งสอนพวกกักตุน และหน้ากากที่นำมาแจกก็เป็นหน้ากากที่กรมศุลกากรตรวจยึดได้จากการส่งออกเกินจำนวน ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าสธ.ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเต็มที่ สถานการณ์หลังจากนี้จึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนในการปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำของสธ.และองค์การอนามัยโลก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” นายอนุทิน กล่าว

 

          ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้ให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองอยู่แล้ว และสามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายจากกองทุนบัตรทอง โดยมีงบประมาณกว่า 1,000 ล้าน สำหรับการรักษาและตรวจคัดกรอง และยังสามารถใช้งบประมาณอีก 5,000 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงพื้นที่สำหรับสร้างห้องกักกันโรคหรือห้องความดันลบ นอกจากนี้ยังสามารถขออนุมัติงบกลางได้อีก 3,500 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ของโรคในช่วง 7 เดือนนี้
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ