
ความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสนามบินสตูล
กรมท่าอากาศ เลือกพื้นที่ตำบลเจ๊ะบิลังเป็นพื้นที่เหมาะสมในการสร้างสนามบินสตูล
ที่รร.สินเกียรติบุรี อ.เมือง จ.สตูล นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผวจ.สตูล เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ งานศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสตูล จัดโดยกรมท่าอากาศยาน เพื่อศึกษาออกแบบและประเมินความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสตูล จ.สตูล โดยมีอ.พงศ์จักรกฤษณ์ สิทธิบุศย์ ประธานชมรมวุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดสตูล(ประธานชมรมคนรักษ์สนามบินสตูล) พี่น้องประชาชนและภาคส่วนต่างๆ เข้ารับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะเป็นจำนวนมาก
โดยมีตัวแทนของบริษัทที่ปรึกษาได้ชี้แจงรายละเอียดของโครงการให้ที่ประชุมได้รับทราบ หลังจากที่ได้มีการศึกษาความเหมาะสมด้านต่างๆ ซึ่งในที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการก่อสร้างสนามบิน เพราะจะทำให้การเดินทางภายในและระหว่างประเทศสะดวกมากขึ้น ปัจจุบันประชาชนและนักท่องเที่ยวต้องเดินทางไปใช้บริการสนามบินหาดใหญ่และจ.ตรัง ซึ่งใช้เวลาเดินทาง 1-2 ชั่วโมง และหากเดินทางด้วยรถไฟก็ต้องไปใช้บริการที่สถานีหาดใหญ่ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง ส่วนข้อกังวลของประชาชนส่วนใหญ่คือเรื่องของการเวนคืนที่ดินว่าจะได้ราคาที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ได้ชี้แจงว่ามีการตั้งคณะกรรมการช่วยพิจารณาราคาที่เหมาะสม ซึ่งปกติก็จะพิจารณาจากราคาที่ซื้อขายจริงในพื้นที่
นายสมเกียรติ มณีสถิต รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการก่อสร้างสนามบินสตูล คือบริเวณพื้นที่ตำเจ๊ะบิลัง อำเภอเมืองสตูล เนื่องจากไม่กระทบต่อพื้นชุมชนและป่าสงวน เป็นพื้นที่ราบและไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนหนาแน่นน้อย ไม่มีสิ่งกีดขวางที่เป็นอุปสรรคต่อการบินใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองสตูลประมาณ 31 นาที ใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือปากบาราประมาณ 46 นาที(แหล่งท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ เกาะตะรุเตา) อยู่ห่างจากท่าอากาศยานหาดใหญ่ 95 กิโลเมตร ห่างชุมชนใกล้เคียง คือ บ้านปาเต๊ะ ตำบลเจ๊ะบิลัง อำเภอเมืองสตูล 2.20กิโลเมตร โดยใช้เนื้อที่โครงการ ประมาณ 3,500 ไร่ ความยาวของรันเวย์ 2.5 กิโลเมตร งบประมาณการก่อสร้าง 4,597 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น3ช่วง คือระยะที่ 1 ซึ่งรองรับ 10 ปีแรก มีค่าก่อสร้าง 2,837 ล้านบาท ระยะที่ 2 รองรับ 20 ปี มีค่าก่อสร้าง 1,130 ล้านบาท และระยะที่ 3 รองรับ 30 ปี มีค่าก่อสร้าง 630 ล้านบาท ซึ่งหลังจากได้ผลสรุปในครั้งนี้ก็จะมีการเสนอต่อ ครม.เพื่อพิจารณาโครงการ หากเห็นชอบ ก็จะเข้าสู่การทำข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม การออกแบบฉบับจริง และการจัดการเรื่องการเวณคืนที่ดิน 3,500 ไร่ ซึ่งจะทำให้ทราบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่แท้จริงได้ ส่วนความเป็นไปได้ของโครงการก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้โดยสารที่เพียงพอหรือนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาใช้บริการที่มากพอ ถ้าทางจังหวัดและหน่วยที่เกี่ยวข้อร่วมกันสนับสนุนสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้โครงการมีความคุ้มค่ายิ่งขึ้น
ข่าว สุไหล โพธิ์ดก ผู้สื่อข่าวจ.สตูล //รายงาน
ขอบคุณภาพจากสวท.สตูลและอ.พงศ์จักกฤษณ์ สิทธิบุศย์