ข่าว

ยกทฤษฎี Rational Choice ช่วยลดฝุ่นPM 2.5  

ยกทฤษฎี Rational Choice ช่วยลดฝุ่นPM 2.5  

01 ก.พ. 2563

นักวิชาการ มธ. ยกทฤษฎี Rational Choice ช่วยลดฝุ่นPM 2.5  

                นักวิชาการม.ธรรมศาสตร์ ระบุมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM.2.5 ของรัฐบาลควรมีการสร้างสมดุลระหว่างมาตรการกดดันและมาตรการจูงใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน พร้อมกันนี้ได้ยกแนวคิดทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (Rational Choice Theory) เป็นตัวช่วยในการกำหนดนโยบายรัฐแก้ไขปัญหา  

ยกทฤษฎี Rational Choice ช่วยลดฝุ่นPM 2.5  
           

           ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาการบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า  ส่วนสำคัญของปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้นแยกไม่ขาดจากวิถีชีวิต  การจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ต้องเกิดจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคม งานชิ้นใหญ่ของรัฐบาลก็คือ ทำอย่างไร ให้คนในสังคมเปลี่ยนพฤติกรรมได้โดยราบรื่นและด้วยความสมัครใจ

ยกทฤษฎี Rational Choice ช่วยลดฝุ่นPM 2.5  
          ในเชิงวิชาการมีทฤษฎีหนึ่งที่ใช้อธิบายการตัดสินใจ และการกระทำของมนุษย์ ที่นักวิชาการในหลายสาขารวมทั้งนักกำหนดนโยบายรัฐนิยมนำไปใช้ นั่นคือ ทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (Rational Choice Theory)   ทฤษฎีนี้มีสมมติฐานที่สำคัญว่า มนุษย์ทุกคนมีความพึงพอใจเป็นของตนเองและสามารถจัดลำดับความพึงพอใจเหล่านั้นได้  มนุษย์จะเลือก “ทางเลือก” ที่ได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อมีข้อมูลที่ชัดเจนระหว่างทางเลือกต่างๆ ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจะมีการคำนวณก่อนการตัดสินใจกระทำการใดๆ บนพื้นฐานของความพึงพอใจและอรรถประโยชน์อยู่เสมอ  การตัดสินใจ “กระทำ” เหล่านี้เองที่ก่อร่างเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม   
              เมื่อวิเคราะห์การแก้ปัญหามลพิษในหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ พบว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาในหลายประเทศนั้นสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล  ตัวอย่างเช่น การแก้ไขปัญหามลพิษในมิติของการคมนาคม  หลายประเทศดำเนินการในลักษณะของมาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในรูปแบบต่างๆ  เช่น มาตรการทางภาษี ทั้งการขึ้นภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และอื่นๆ  

              ในขณะที่จัดสรรบริการขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีนี้แล้วจะพบว่า ความสำเร็จในการแก้ปัญหาในหลายประเทศนั้นมิได้เกิดจากมาตรการกดดันหรือบังคับเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการสร้างสมดุลระหว่างมาตรการกดดันและมาตรการจูงใจ ก่อให้เกิดความชัดเจนของ “ประโยชน์ที่จะได้รับ” ระหว่าง “ทางเลือก” สองทาง จนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยสมัครใจ

ยกทฤษฎี Rational Choice ช่วยลดฝุ่นPM 2.5  
                สำหรับประเทศไทย พบว่าในหลายกรณี  เช่น ด้านคมนาคม  ยังขาด “ทางเลือก” ให้คนในสังคมอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเลือกที่จะให้ “อรรถประโยชน์ที่มากพอ” ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมโดยสมัครใจ   มาตรการต่างๆ ที่ใช้ในหลายประเทศจึงอาจไม่สามารถเลียนแบบมาใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบในประเทศไทยได้   นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังด้วยว่า การจะบังคับใช้เพียงมาตรการกดดันเพียงอย่างเดียว  อาจกลายเป็นการผลักภาระไปให้ประชาชน  เมื่อสังคมอยู่ในสภาวะไร้ทางออกที่สมเหตุสมผลการเปลี่ยนแปลงก็ยากที่จะเกิดขึ้น  
          ยกทฤษฎี Rational Choice ช่วยลดฝุ่นPM 2.5  

 

      “ปัญหามลพิษสั่งสมมานาน  คงมิอาจแก้ไขได้ในเร็ววัน   การเน้นแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเดียวก็กินเวลาไม่น้อยเช่นกัน  การแก้ไขปัญหามลพิษจึงต้องดำเนินการทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อมกัน หากรัฐบาลต้องการออกมาตรการกดดัน อาจต้องสร้างมาตรการจูงใจเพิ่มเติมให้มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน เท่าที่จะทำได้เช่นกัน  เช่น มาตรการสนับสนุนพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า มาตรการทางภาษี หรือมาตรการอื่นๆ ที่จูงใจให้ผู้คนในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่พฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”    ดร.จารุพล กล่าว  พร้อมเน้นย้ำว่า การสร้างสมดุลระหว่าง “มาตรการจูงใจ” กับ “มาตรการกดดัน” เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงด้วยว่าจะมีผลทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้จริง