
กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงแสดงผลงานจบปริญญาเอกสาขาทัศนศิลป์
คกก.สอบลงมติให้การสอบปากเปล่า กรมพระศรีสวางควัฒนฯในปรัชญาดรุษฎีบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ผ่านเอกฉันท์ คะแนนระดับดีมาก
ทรงเปิดนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ชุด “หลากลาย หลายชีวิต” ครั้งที่ 2 นำเสนอวิทยานิพนธ์ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร
เวลา 16.44 น. วันที่ 28 มกราคม 2563 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปทรงนำเสนอผลงานวิทยานิพนธ์ และทรงเปิดการแสดงนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด “หลากลาย หลายชีวิต 2 ”(Various Patterns; Diversity of Life 2) ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการทำวิทยานิพนธ์ด้วยการจัดนิทรรศการเผยแพร่แก่สาธารณชน ครั้งที่ 2 โดยเป็นการสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ครั้งสุดท้าย เพื่อจบการศึกษา ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
ในการนี้ ศาสตราจารย์ ถาวร โกอุดมวิทย์ ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกล่าวถวายรายงาน และขอพระราชทานพระอนุญาตเบิกคณะกรรมการสอบจบวิทยานิพนธ์ 5 คน ได้แก่ ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์, ศ.เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร, ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง, รศ.ดร.ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์ และ ศ.เดชา วราชุน การนี้ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายถึงเนื้อหาสาระและการปฏิบัติงานของวิทยานิพนธ์ในชุด “หลากลาย หลายชีวิต 2” โดยการสร้างสรรค์ผลงานชุดนี้ จะใช้สัญลักษณ์และความหมายการแสดงออกจากสิ่งที่ทรงมีความประทับใจ นั่นคือ “เสือ” อันหมายถึง ความสัมพันธ์และความผูกพันอย่างลึกซึ้ง ทั้งความใกล้ชิด ความผูกพันทางสายเลือด และความเป็นผู้นำของอาณาจักร ซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชบิดา
นอกจากนั้นลวดลายของเสือยังปรากฏเป็นตัวอักษรสัญลักษณ์ DNA หรือชื่อย่อทางสารพันธุกรรมเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านวิทยาศาสตร์อันเป็นประสบการณ์ในด้านวิทยาศาสตร์ของพระองค์ มาผสมผสานกับจินตนาการจากจิตใต้สำนึกตามบริบทแวดล้อม เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านรูปทรงและความหมายของพื้นที่ต่าง ๆ ที่ทรงคุ้นเคย ผ่านลายเส้นที่ทรงวาดลงบนผืนกระดาษที่แสดงถึงความแม่นยำ เด็ดเดี่ยว เคลื่อนไหว มีชีวิต มีลมหายใจ มีจิตวิญาณ เพื่อส่งต่อความฝัน ความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยความรักต่อตนเอง ครอบครัว ประชาชนชาวไทยไปจนกระทั่งผู้คนในโลกนี้ได้อย่างเต็มที่
โดยรูปแบบของงานศิลปะเป็นกึ่งแฟนตาซีผสมผสานกับคุณลักษณะของงานศิลปะที่ซื่อตรงบริสุทธิ์ใจโดยไม่ยึดติดหรือใช้หลักทฤษฎีทางวิชาการของศิลปะใด ๆ แต่ขยายขอบเขตของการสร้างสรรค์ออกไปตามสัญชาตญาณและความรู้สึกภายในใจจิตใจใต้สำนึก ซึ่งเป็นลักษณะการเขียนแบบศิลปะนาอีฟ หรือ นาอีฟอาร์ต (Naive Art) โดยทรงทำการศึกษาผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงทางด้านนี้คือ อองรี รุสโซ จิตรกรชาวฝรั่งเศส และยะโยะอิ คุสะมะ จิตรกรหญิงชาวญี่ปุ่น มาเป็นต้นแบบในการสร้างสรรค์ผลงาน
จากนั้น ศาสตราจารย์ ญาณวิทย์ กุญแจทอง คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถวายสูจิบัตร ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถวายรายงานการจัดแสดงนิทรรศการวิทยานิพนธ์ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด “หลากลาย หลายชีวิต 2 ” (Various Patterns; Diversity of Life 2)
ถัดมา นายภราเดช พยัฆวิเชียร นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร กราบทูลสรุปผลการสอบจบวิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิตอย่างเป็นทางการว่า ดังที่ได้รับฟังการบรรยายของใต้ฝ่าละอองพระบาท เนื่องจากการสอบปากเปล่าดุษฎีนิพนธ์เรื่อง"หลากลาย หลายชีวิต 2" รู้สึกถึงความปลื้มปิติในสาระของงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่ได้ทรงแสดงมา บัดนี้คณะกรรมการสอบได้ลงมติให้การสอบปากเปล่าในครั้งนี้ผ่านเป็นเอกฉันท์ คะแนนระดับดีมาก ขอพระบรมราชานุญาตแสดงความยินดีกับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาทัศนศิลป์ ของใต้ฝ่าละอองพระบาทในครั้งนี้
โอกาสนี้ เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการวิทยานิพนธ์ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด “หลากลาย หลายชีวิต 2 ”(Various ถPatterns; Diversity of Life 2) โดยแบ่งออกเป็น 9 กลุ่มของผลงานตามเนื้อหาสาระ ได้แก่
กลุ่มที่ 1 อัตลักษณ์ของเสือ แสดงภาพของเสือที่ปรากฎอยู่ในผลงานวิทยานิพนธ์ แทนความหมายของผู้ปกครองราชอาณาจักร เสือมีความหมายเฉพาะตัวและมีความสำคัญยิ่งแก่ตัวผู้สร้าง เสือในภาพเขียนแต่ละตัวมีรูปร่าง ท่าทางและลวดลายแตกต่างกัน มีความน่าเกรงขาม นุ่มนวล หรือมีดวงตาใสซื่อบริสุทธิ์
กลุ่มที่ 2 เสือกับธรรมชาติการจัดวาง กลุ่มนี้ผู้สร้างต้องการจัดวางเสือให้อยู่กับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ บรรยากาศสะท้อนเรื่องราวธรรมชาติในขณะที่บางภาพสะท้อนเรื่องราวลึกลับแต่แสดงออกในบุคลิกภาพเรียบง่ายใสซื่อบริสุทธิ์ ผู้ชมเห็นได้ทั้งความเป็นรูปแบบและนามธรรม
กลุ่มที่ 3 เสือกับลายเส้นและภาพขาว-ดำ เป็นการทำงานด้วยการใช้เพียงลายเส้นขาว-ดำ เป็นแนวคิดที่เรียกว่า ทำน้อยให้ได้มาก มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง
กลุ่มที่ 4 เสือสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์ ผลงานผสมผสานด้วยกานนำสัญลักาณ์ของโครโมโซม โครงสร้างของดีเอ็นเอ สูตรเคมีต่างๆ รวมถึงสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวลงไปในตัวเสือ ทำให้เกิดลวดลายที่แปลกตา เป็นงานสร้างสรรค์แบบใหม่ที่ยังไม่มีใครทำ
กลุ่มที่ 5 เสือกับจินตนาการสร้างสรรค์ ศิลปินใช้จิตนาการให้เกิดความงดงามได้ ทำให้เกิดความรู้สึกใหม่ สุนทรียภาพที่แปลกตาและสร้างรอยยิ้มแก่ผู้ชม
กลุ่มที่ 6 เสือ ดอกไม้ และ สิ่งมีชีวิตต่างๆ เสือที่ปรากฎอยู่ในงานวิทยานิพนธ์ แรกเห็นอาจจะเป็นภาพที่ดูดุร้าย แต่เสือในงานศิลปกรรมศิลปืนใช้การตีความตามเบื้องหลังของตนเอง บุคลิกของเสือจึงกลายเป็นภาพที่อ่อนโยนมีเมตตา ผลงานกลุ่มนี้ศิลปินได้ผูกสัมพันธ์กับศิลปะหลายแขนง แสดงทั้งจิตรกรรม ดินตรี วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ และงานออกแบบเครื่องประดับ ทรงเป็นศิลปินหญิงจึงไม่แปลกที่จะปรากฎดอกไม้อยู่ในงานคู่กับเสือ
กลุ่มที่ 7 นกฮูกกับสัตว์มีปีก ใช้นกฮูกเป็นสัญลักษณ์ทั้งความมีโชค และความเฉลียวฉลาด แต่สำหรับอีกหลายประเทศนกฮูกเป็นตัวแทนความโชคร้าย แสดงให้เห็นว่า มีบุคลิกลี้ลับน่าสงสัยเป็นที่สนใจของศิลปินผู้สร้างสรรค์ นอกจากนกฮูก ยังมีสัตว์มีปีกอื่นๆ เป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและเสรีภาพ
กลุ่มที่ 8 จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในเทคนิคภาพพิมพ์ เป็นการนำจิตรกรรมฝีพระหัตถ์มาเปลี่ยนให้เป็นศิลปะภาพพิมพ์. ได้แก่ภาพพิมพ์โลหะ ภาพพิมพ์หิน ภาพพิมพ์แกะไม้ และภาพพิมพ์ตระแกรงไหมรวม 8 ภาพ
กลุ่มที่ 9 ศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ในกระบวนการอื่นๆ คณะทำงานนิทรรศการ ขอพระราชทานอนุญาตอัญเชิญต้นแบบจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่งดงาม มาขยายแบบ เปลี่ยนเป็นงานสื่อผสม งานสามมิติ งานประติมากรรม ศิลปะจัดงาง และมัลติมีเดียสื่อผสม
ต่อจากนั้น เสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการเครื่องดนตรี “กู่เจิง” และนิทรรศการการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม ชุด “สายสัมพันธ์ สองแผ่นดิน” ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวของพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี เครื่องดนตรีแห่งราชสำนักจีน “กู่เจิง” ที่ทรงโปรด และภาพการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม ชุด “สายสัมพันธ์ สองแผ่นดิน”ครั้งที่ 1-6 ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ต่อด้วยห้องจัดแสดง “เลโก้” ที่ทรงใช้เวลาว่างจากพระกรณียกิจให้เป็นประโยชน์ ด้วยทรงใช้พระสมาธิต่อตัวเลโก้ทุกชิ้นด้วยพระองค์เอง
จากนั้นเสด็จไปยัง หอศิลป์พิมานทิพย์ (อาคาร 1) เพื่อทรงร่วมงานถวายพระกระยาหารค่ำ แสดงความยินดีในโอกาสทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะ จิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
สำหรับนิทรรศการวิทยานิพนธ์ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ ชุด “หลากลาย หลายชีวิต 2 ” (Various Patterns; Diversity of Life 2) ในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพในด้านศิลปะของเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์พระองค์นี้ ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.อัตราค่าเข้าชมท่านละ 150 บาท โดยจะได้รับแก้วเซรามิคที่ระลึก 1 ใบ ทั้งนี้รายได้จากค่าเข้าชมสมทบทุนมูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่ง ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี