ข่าว

กรมควบคุมมลพิษ จ่อชง 12 มาตรการแก้ PM 2.5 เข้า ครม.

กรมควบคุมมลพิษ จ่อชง 12 มาตรการแก้ PM 2.5 เข้า ครม.

17 ม.ค. 2563

กรมควบคุมมลพิษ จ่อชง 12 มาตรการ แก้ PM 2.5 เข้า ครม. 21 ม.ค.นี้ ห้ามรถบรรทุกเข้ากทม.ชั้นในวันคี่ ตรวจจับควันดำ ขอความร่วมมือลดใช้รถส่วนตัวมาทำงาน

 

              เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2563 เวลา 15.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการเป็นประธานการประชุมการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่า ตามข้อสังเกตการณ์ของนายกฯอยากให้ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) และสำนักโฆษกสำนักนายกฯมีส่วนร่วมในการสร้างการรับรู้กับประชาชนเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการกำจัดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยสถิติสถานการณ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ อยากให้จำนวนวันที่มีฝุ่นละออง PM 2.5 เกินลดลงกว่านี้อีก จึงมีมาตรการต่างๆ ออกมา โดยกรมควบคุมมลพิษได้พิจารณามาตรการเพิ่มเติม จะมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในการประชุมครม.สัญจรในวันที่ 21 ม.ค.นี้ ที่ จ.นราธิวาส

 

 

กรมควบคุมมลพิษ จ่อชง 12 มาตรการแก้ PM 2.5 เข้า ครม.

 

 

 

              ทั้งนี้ อยากเรียนประชาชนว่าเหตุการณ์ไม่น่าตื่นตระหนกอย่างที่เข้าใจกัน เพราะจากตัวเลขสถิติจริงๆสถานการณ์ดีขึ้น แต่รัฐบาลอยากให้ดีขึ้นกว่านี้จึงเตรียม 12 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

              ด้านนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึง 12 มาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละออง ว่า 1.ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯจากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก 2. ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯในวันคี่ ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ.63 3.ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ครบทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ 4.กรมการขนส่งทางบกปฏิบัติการร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจรในการตรวจสอบ ตรวจจับรถควันดำสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุก เพื่อออกคำสั่งห้ามใช้รถ 5.ตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองหากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้สั่งปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ

 

 

กรมควบคุมมลพิษ จ่อชง 12 มาตรการแก้ PM 2.5 เข้า ครม.

 

 

              6.กำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าและก่อสร้างอื่นๆเป็นไปตามข้อกำหนดไม่ทำให้เกิดฝุ่นและปัญหาการจราจร บริเวณรอบพื้นที่ก่อสร้าง 7.ไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่กระทำการเผา 8.จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงสถานการณ์วิกฤติฝุ่นละออง และเข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง 9.ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM ซึ่งเป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อย 10.ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานและรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน 11.ให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถานศึกษาสนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง และ 12.สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง