ข่าว

"อนาคตใหม่"เปิดร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ปลดล็อกผูกขาดกินรวบ

"อนาคตใหม่"เปิดร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ปลดล็อกผูกขาดกินรวบ

14 ม.ค. 2563

"อนาคตใหม่" เปิดตัวร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า หวังปลดล็อกอุตสาหกรรมสุราออกจากการผูกขาดกินรวบ

 

                                 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 พรรคอนาคตใหม่ นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, นายเท่าภิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพ, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, และนายวรภภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า โดยคาดจะส่งร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้ก่อนการปิดสมัยประชุมสภาในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

                                

 

\"อนาคตใหม่\"เปิดร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ปลดล็อกผูกขาดกินรวบ

 

                                 นายเท่าภิภพขึ้นพูดถึงอุปสรรคของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในวงการสุราประเทศไทย ในฐานะอดีตผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์ โดยกล่าวว่า อุปสรรคแรกคืออุปสรรคทางความคิด ทุกคนต่างคิดว่าเราคงต้องเป็นบริษัทใหญ่ถึงจะทำสุราขายได้ ซึ่งตนก็เคยคิดแบบนั้น แต่วันหนึ่งได้มีโอกาสชิมรสชาติเบียร์ยี่ห้อหนึ่งจากต่างประเทศ เสมือนเป็นการเปิดโลกให้เห็นถึงความหลากหลายของเครื่องดื่มชนิดนี้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลงมือผลิตเบียร์ยี่ห้อของตนเอง โดยหวังสร้างให้เป็นธุรกิจด้วย 

 

                                 แต่ในที่สุดความฝันสร้างธุรกิจคราฟต์เบียร์ก็ต้องยุติ เมื่อเจ้าหน้าที่สรรพสามิตบุกเข้าจับ ถึงได้รู้ว่าธุกิจที่คิดสร้างนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะขัดต่อกฎหมายที่กำหนดว่า ผู้ผลิตเบียร์ต้องมีกำลังผลิตถึง 10 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับคนธรรมดา  สิ่งนี้นำไปสู่คำถามในสังคมเช่นกัน ว่าเราจำเป็นต้องมีการปลดล็อกเพื่อให้ผู้ผลิตรายย่อยเข้ามาทำได้ด้วยหรือไม่

 

                                 เท่าภิภพเล่าต่อ ว่าจากการได้ลงพื้นที่มากมายเมื่อมาทำงานการเมือง ตนได้พบกับคนที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตสุราชุมชน สุราพื้นบ้านในประเทศไทย ผู้ผลิตเบียร์คราฟต์ที่ต้องระหกระเหินไปทำที่เมืองนอก เมื่อได้พูดคุยกัน พบว่าคนจำนวนมากมีปัญหาใกล้เคียงกัน และเห็นด้วยในเรื่องความไม่เท่าเทียมของกฎหมายที่มีอยู่

                                 “การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมสุรารายย่อยจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงผลผลิตเหลือๆ ของทางการเกษตรให้มาอยู่ในขวด เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยทำให้ระบบเศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้น และที่สำคัญคือ จะเป็นการเปลี่ยนประเทศนี้ไปโดยสิ้นเชิง เป็นการทำลายกำแพงอุปสรรคทางความคิดและกฎหมาย เพราะสุราไม่ใช่เรื่องเดียวที่คนไทยถูกปิดกั้นและผูกขาด” นายเท่าภิภพกล่าว

                                 แน่นอนว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยมักจะยกข้อกังวลถึงเรื่องศาสนา สุขภาพ และอุบัติเหตุ ซึ่งตนเห็นด้วย แต่ตนมองว่านี่เป็นคนละเรื่องกันกับการปลดล็อกให้คนร่ายย่อยมาทำธุรกิจได้ และตนยังมองว่าการส่งเสริมให้ดื่มอย่างปลอดภัย หรือการศึกษาให้คนดื่มอย่างปลอดภัย ประกอบกับการใช้กฎหมายที่ดีและเป็นธรรม เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป

 

 

 

\"อนาคตใหม่\"เปิดร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ปลดล็อกผูกขาดกินรวบ

 

                                 “พิธา” ชี้ปลดล็อกสุราจะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 1.5 - 2 หมื่นล้านบาทต่อปี กระจายมูลค่าสู่เกษตรกร-ธุรกิจรายย่อย

                                 ด้านนายพิธาได้กล่าวถึงการผลักดันกฎหมายปลดล็อกสุรา ในฐานะของการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าทางการเกษตร และการสร้างเศรษฐกิในประเทศไทย โดยระบุว่าประสบการณ์แรกๆ ที่ทำให้ตนได้เห็นถึงโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรไทย คือการเดินทางไปโอกินาวาและพบกับเหล้า “อาวาโมริ” ซึ่งถ้ายังจำกันได้เมื่อสองเดือนที่แล้วตนมีโอกาสอภิปรายในสภาด้วย

                                 ในครั้งนั้นตนพูดมาจากประสบการณ์จริง เหล้าอาวาโมริเ่กิดขึ้นเมื่อ 600 ปีที่แล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่คนญี่ปุ่นเดินทางเข้ามาเอาข้าวจากประเทศไทยไปทำเหล้าของเขา ข้าวที่ใช้คือข้าวอินดิก้า คือข้าวยาวที่ประเทศไทยมีอยู่จำนวนมาก

                                 40 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกข้าวอินดิก้าไปญี่ปุ่นทั้งหมด 2 แสนตัน ตกกิโลกรัมละ 10-20 บาทแล้วแต่ช่วงเวลา แล้วญี่ปุ่นก็ส่งออกเหล้าอาวาโมริกลับมาขายให้กับพวกเรา คิดเป็นลิตรแล้วตกลิตรละ 2,500 บาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มถึง 170 เท่า นี่คือผลผลิตที่มาจากวัตถุดิบไทยที่คนไทยมองข้าม แต่คนต่างชาติเห็นมูลค่าของมันมานานกว่า 600 ปี 

 

 

 

                                 จากการเดินทางของตนในช่วงที่มาเป็นนักการเมืองนั้น ได้พบกับความหลากหลายของเหล้าพื้นบ้านในทุกภาคทั่วประเทศ ขนาดมีการปิดกั้น ยังมีเหล้ากลั่นอยู่ประมาณ 2,000 โรง คราฟต์เบียร์ 70 ยี่ห้อ นี่คือสิ่งทีเ่ป็นศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยที่กำลังรอการปลดปล่อยอยู่

 

                                 นายพิธากล่าวต่อว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้มองสิ่งนี้เป็นน้ำเมา แต่มันคือเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น มันคือเรื่องประวัติศาสตร์ มันคือสูตรและความลับทางการค้า มันคือคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ และแน่นอนมันคือเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะแก้ปัญหาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำในประเทศไทยได้ และนี่คือเรื่องของเครื่องหมายทางการค้าและภาษีที่ประเทศไทยจะได้รับ

 

                                 ยกตัวอย่างถึงเหล้าสะเอียบ ที่ จังหวัดแพร่ เหล้าสะเอียบเสียภาษีให้สรรพสามิต 400 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นยอดขายประมาณ 1 พันล้านบาท ขนาดมีกฎหมายกดทับขนาดนี้ ขนาดที่ยังไม่มีการเปิดรับกับอุตสาหกรรมขนาดนี้ ยังสามารถสร้างมูลค่าได้มหาศาล เหล้าสะเอียบเป็นภูมิปัญญาที่มีมานานกว่า 200 ปี ในหนึ่งขวดใช้ข้าวเหนียวถึง 1 กิโลกรัม ผลิตจนข้าวเหนียวหมดจังหวัด ต้องไปซื้อมาจากภาคอีสาน

 

 

 

                                 นายพิธากล่าวต่อถึงมูลค่าตลาด โดยระบุว่าคราฟต์เบียร์มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 122-180 ล้านบาท หรือประมาณ 0.01% ของมูลค่าตลาดเบียร์ทั้งหมดในประเทศ ส่วนสุราชุมชน มุลค่าตลาดอยู่ที่ 2,800-3,200 ล้านบาท เก็บรายได้จากภาษีสรรพสามิตจากสุราชุมชนได้ประมาณปีละ 1 พันล้านบาท

 

                                 พิธายังกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับบางคนที่เป็นนักธุรกิจอาจจะไม่ตื่นเต้นกับตัวเลขนี้  แต่ในแง่การเจริญเติบโต คราฟต์เบียร์ที่นำเข้าจากออสเตรเลียและกัมพูชามีการเจริญเติบโตที่สูงมาก คำถามคือถ้าปลดล็อกแล้วเราจะได้อะไรบ้าง ตนชวนคิดง่ายๆ ในปัจจุบันเบียร์มีมูลค่าในตลาดอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท สุราชุมชนอยู่ที่ประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ถ้าเราปลดล็อกเรื่องของเบียร์แล้วให้คราฟต์เบียร์เป็นเพียง 1% ของส่วนแบ่งในตลาดที่ทุนใหญ่ครองอยู่ทุกวันนี้ ก็เท่ากับคราฟต์เบียร์มีโอกาสที่จะโตได้ขึ้นถึง 11 เท่าเป็นอย่างน้อย

 

                                 ส่วนสุราชุมชน ทุกวันนี้สุราชุมชนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์อยู่นอกระบบ ถ้าเราปลดล็อกแล้วเอาทุกคนมาอยู่ในระบบได้ มูลค่า 3 พันจะกลายเป็น 6 พันทันที และถ้าธุรกิจเติบโตเท่าที่เหล้าสะเอียบเคยทำได้ หรือโตแค่สองเท่า ส่วนแบ่งตลาดจะเป็นแค่ 7% แต่มูลค่าจะกลายเป็น 12,000 ทันที

 

 

 

                                 “เมื่อนำมูลค่าเหล่านี้มาบวกเพิ่มกับภาษีสรรพสามิตที่เคยอยู่นอกระบบ บวกกับการลงทุน การจ้างงาน เราจะได้มูลค่าทั้งหมดอย่างต่ำ 1.5 หมื่นล้านบาท อย่างกลาง 1.8 หมื่นล้านบาท และอย่างสูง 2 หมื่นกว่าล้านบาทที่จะป้อนเข้าสู่เศรษฐกิจไทย ถ้ามีการปลดล็อกตรงนี้ ให้สิทธิชุมชนและภูมิปัญญาของชาวบ้านได้กลับมา ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ก็จะเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่น่าจะเพิ่มให้กับเศรษฐกิจที่ซบเซาอยู่ในตอนนี้ได้” นายพิธากล่าว

                                 นายพิธากล่าวต่อว่าการแถลงข่าววันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้น ยังมีงานต้องทำอีกมากมาย ทั้งการเผยแพร่ความรู้ การศึกษา การรับฟังความคิดเห็น ตนมีแผนงาน จะเดินทางไปดูสุราพื้นบ้านที่อีสานและภาคเหนือในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ และหวังว่าจะสามารถนำเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าสู่สภาได้ก่อนการปิดสมัยประชุมนี้

 

 

 

\"อนาคตใหม่\"เปิดร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ปลดล็อกผูกขาดกินรวบ

 

                                 “วรภพ” เปิดสามเนื้อหาหลักร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า ยกเลิกข้อกีดกัน-ปรับภาษีขั้นบันได-ปลดล็อกปรุงแต่งสุรา

 

                                 ด้านนายวรภพ ได้กล่าวถึงที่มาของการผูกขาดสุรา และรายละเอียดเบื้องต้นที่พรรคอนาคตใหม่จะมีการเสนอให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการผูกขาดสุรา ซึ่งแม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่สาระสำคัญที่ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนไปไหน ก็คือการกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางเข้าสู่ตลาดได้

 

                                 สิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นมา ตั้งแต่การกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำของเบียร์ 10 ล้านลิตรต่อปี ของสุรา 3 หมื่นลิตรต่อวัน กำหนดให้เบียร์ต้องมีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือการกำหนดเกณฑ์สำหรับการผลิตสุราชุมชน ที่ให้ไม่เกิน 5 แรงม้า ใช้คนงานไม่เกิน 7 คน

 

                                 มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากกฎหมายลักษณะนี้กำลังกำหนดว่าสุราชุมชนขนาดเล็กไม่มีวันและไม่มีโอกาสที่จะเติบโตแข่งขันกับผู้เผลิตที่มีอยู่แล้วซึ่งเป็นกลุ่มทุนพันล้านได้เลย นั่นคือที่มาว่าทำไมเราจึงเสนอยกร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า

 

 

 

 

                                 ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีสาระสำคัญสามประเด็น ประกอบไปด้วย 1.การแก้ไขมาตรา 153 ของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ห้ามกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามาผลิตสุรา ห้ามจำกัดกำลังการผลิต กำลังการผลิตของเครื่องจักร และจำนวนคนงาน 2.การทำโครงสร้างภาษีขั้นบันไดตามขนาดกำลังการผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถทำธุรกิจแข่งขันภายใต้โครงสร้างต้นทุนที่แข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่และต่างประเทศได้ 3.ปลดล็อกการปรุงแต่งสุรา จากการแต่งกลิ่นแต่งสี และหมักสมุนไพรต่างๆ ได้ นี่คือโอกาสที่เราจะเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าทางการเกษตรในประเทศไทย

 

 

\"อนาคตใหม่\"เปิดร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ปลดล็อกผูกขาดกินรวบ

 

 

                                 “ธนาธร” ปิดท้าย ชี้ไทยยังต้องหนุนทุนใหญ่ แต่ต้องดันออกไปแข่งกับโลก ไม่ใช่มาปิดกั้นโอกาสคนไทย-ธุรกิจขนาดกลาง-รายย่อย

 

                                 ส่วนนายธนาธร กล่าวว่าในสิ่งที่เรานำเสนอวันนี้ เป็นเพียงด้านหนึ่งที่สะท้อนปัญหาของทุนผูกขาดในประเทศไทย ซึ่งตนอยากพาทุกคนมาดูโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เอื้อกับกลุ่มทุนผูกขาด และบทบาทของกลุ่มทุนใหญ่ที่ควรจะเป็น

 

                                 นายธนาธรกล่าวว่าถ้าเราย้อนกลับไปหลังการทำรัฐประหารปี 2557 มีการประกาศโมเดลเศรษฐกิจแบบประชารัฐขึ้นมา ภาครัฐกับกลุ่มทุนใหญ่ร่วมกันผลักดันนโยบายต่างๆ  มีการจับคู่ระหว่างผู้นำฝ่ายรัฐบาลกับตัวแทนจากภาคเศรษฐกิจ/ฝ่ายเอกชน นี่คือโมเดลที่การให้กลุ่มทุนใหญ่เป็นหัวหอกเศรษญกิจ ร่วมกำหนดนโยบาย โมเดลที่มุ่งการเปิดเสรีเพื่อดึงต่างชาติมาลงทุน ดึงทุนต่างชาติมาโดยไม่คิดจะพัฒนาเทคโนโลยีสร้างอุตสาหกรรมของตัวเอง และโมเดลการดูแลคนยากไร้ด้วยการให้เงินผ่านระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 

                                 แต่ปัญหาคือ การพัฒนาภายใต้โมเดลนี้ จะส่งผลในระยะยาวสี่ด้าน คือ 1. จะมีแนวโน้มการผูกขาดในธุรกิจต่างๆ มากขึ้น 2. อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนเสียงดังกว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ความเหลื่อมล้ำจะรุนแรงขึ้น 3. ภายใต้การพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติ การเติบโตของประเทศไทยจะเป็นไปโดยไร้เทคโนโลยีของตัวเอง 4. การกดทับปิดกั้นสิทธิเสรีภาพที่ดำรงอยู่อย่างแพร่หลายในสังคมไทยตอนนี้  จะนำไปสู่การกดทัพศักยภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในที่สุด

     

                                 นายธนาธร กล่าวต่อไป ว่าคำถามคือกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศที่กำลังพัฒนาควรจะเป็นอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาเราหนีไม่ได้เลยที่จะต้องมีกลุ่มทุนใหญ่ แต่บทบาทของกลุ่มทุนใหญ่ควรจะเป็นอย่างไร สิ่งที่รัฐควรจะทำคือการทำให้กลุ่มทุนใหญ่เติบโตและออกไปแข่งขันกับโลกภายนอกด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี แล้วนำมูลค่าเพิ่มที่อยู้ในตลาดโลกกลับเข้ามาในประเทศไทย  ปล่อยให้การแปรรูปขั้นปฐมภูมิเป็นของธุรกิจขนาดเล็ก การแปรรูปขั้นทุติยภูมิเป็นของธุรกิจขนาดกลาง แล้วแข่งขันกันด้วย supply chain