ข่าว

 P-Move ผนวกแนวร่วมเรียกร้องรัฐ4 ข้อแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เสวนาจากเคสปารีณา1,700 ถึงปัญหาที่ดินป่าคนจน นักพัฒนาเอกชน ชี้ รัฐบาลประยุทธ์ไร้มาตรฐาน ขอทบทวนนโยบายป่าแก่งชาติ กรองคนยากไร้จากนายทุนฮุบที่

         จากกรณีปัญหาการครอบครองที่ดินของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่เป็นข่าวครึกโครมต่อเนื่อง และมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตรวจสอบ รวมทั้งการแก้ปัญหาป่าไม้ในประเทศ 

       ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) , มูลนิธิชุมชนไทกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน , คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป. อพช.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง "จากปารีณา 1,700 ถึงกรณีปัญหาที่ดินป่าไม้ซึ่งคนจนรัฐบาลประยุทธ์มีมาตรฐาน? " ณ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ 

 P-Move ผนวกแนวร่วมเรียกร้องรัฐ4 ข้อแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้

   โดย "นายประยงค์ ดอกลำใย" ประธาน กป.อพช. และที่ปรึกษา P-Move ได้พูดถึงเรื่องนโยบายป่าไม้แห่งชาติว่า ตัวกฎหมายทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงนโยบายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความผิดเพี้ยนนโยบายต่างๆ ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นที่กระทบกับชาวบ้าน โดย พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ส่วนหนึ่งสร้างความขัดแย้งเรื่องสิทธิที่ดิน ซึ่งเจตนารมณ์กฎหมายต้องการให้ป่าไม้ทั้งประเทศกลายเป็นที่ดินอยู่ในอำนาจของรัฐหลังจากที่อดีตเจ้านายหัวเมืองต่างๆ เคยให้มีสัมปทานชาวต่างชาติทำไม้
 

       โดยกฎหมายดังกล่าวให้นิยามคำว่า "ป่า" หมายถึง ที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลใดได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายที่ดิน ดังนั้นอย่างเช่น ที่ตั้งชุมชนซึ่งไม่มีการจดทะเบียนก็เป็นป่า แล้วแผนที่ประเทศแนบท้ายกฎหมายนี้ 320 ล้านไร่ ถ้าวันนั้นใครยังไม่ได้สิทธิที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าสภาพจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ จะไม่มีต้นไม้เลย หรือมีสวนลำไย สวนข้าวโพดอยู่ ถือเป็นป่าตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายนี้ยังมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2507 ก็มี พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติเกิดขึ้นแล้วประกาศทับซ้อนกับ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ต่อมาก็ประกาศเขตป่าอุทยานแห่งชาติซ้อนทับอีกด้วย ดังนั้นป่าและอุทยานแห่งชาติที่มีในปัจจุบันเปรียบเหมือนขนมชั้นที่ซ้อนทับกันไป ซึ่งทำให้เห็นว่านิยามที่การประกาศไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ดังนั้นเวลาถูกดำเนินคดี คือบุกรุก ยึดถือ ครอบครองอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ที่ไม่ว่าอย่างไรก็เป็นครอบครองที่ป่า ไม่ใช่ที่ดิน

 P-Move ผนวกแนวร่วมเรียกร้องรัฐ4 ข้อแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้

        ส่วนนโยบายป่าไม้แห่งชาตินั้น ก็มีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2528 ที่มีมติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ เป็นประธาน โดยในปี 2528 ยังให้มีสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศโดยการขออนุญาตตามกฎหมาย ขณะที่การประกาศป่าสงวนแห่งชาติที่เริ่มตั้งแต่ ปี 2507 ทั่วประเทศ จนถึงปัจุบันมี 1,220 แห่ง ดังนั้นป่าทุกผืนนี้จึงเคยถูกสัมปทานมาแล้วทั้งสิ้น และมีมติต่อมาอีกปี 2532 , ปี 2562  ขณะที่ตามมติจากอดีตปี 2528 นั้น กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40% ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งเป็นป่าเศรษฐกิจ 25% ประมาณ 80 ล้านไร่แต่เมื่อเกิดอุทกภัยใหญ่กระทบหมู่บ้านด้วยท่อนซุง ในปี 2533 จึงยกเลิกสัมปทานป่าทั่วประเทศ และแบ่งสัดส่วนเพื่มเป็นป่าอนุรักษ์ 25% ลดสัดส่วนเป็นป่าเศรษฐกิจเหลือ 15% หรือ 48 ล้านไร่

        ดังนั้นเท่ากับไทยต้องมีป่า 120 ล้านไร่ จึงจะเท่ากับ 40% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ แต่จริงๆ เรามีป่าแค่ 31% หรือ 102 ล้านไร่ตามภาพถ่ายทางอากาศ ดังนั้นหากจะทำตามมติคณะกรรมการนโยบายป่าแห่งชาติ ต้องหาพื้นที่เพิ่มอีก 26-28 ล้านไร่ ขณะที่คณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีมติล่าสุดเดือนที่ผ่านมาว่ายืนยันเหมือนเดิมให้ไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40% เป็นป่าอนุรักษ์ 25% โดยตอนนี้กรมอุทยานแห่งชาติประกาศป่าได้แค่ 71 ล้านไร่เศษ ยังเหลืออีก 9 ล้านไร่เศษ ก็ราว 21 แห่งโดยทั้งหมดนั้นยังมีชาวบ้านอยู่ทั้งสิ้น จึงไม่เป็นธรรมกับประชนทั้งจากกฎหมายเดิมและมติคณะกรรมการฯ

 P-Move ผนวกแนวร่วมเรียกร้องรัฐ4 ข้อแก้ปัญหาที่ดินป่าไม้

       ขณะที่หากจะให้เป็นธรรมแปลว่าทุกจังหวัดจะต้องทีพื้นที่ป่า 40% ซึ่งตัวอย่าง จ.แม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ป่า 
86% ลำปางมี 70% น่านมี 61% เช่นนี้แปลว่าสามารถจัดสัดส่วนเกิน 40% มาให้ประชาชนใช้เป็นที่ทำกินได้ อันนี้ก็พูดเชิงคณิตศาสตร์ และ กทม.ก็ต้องมีป่าด้วย 40% แต่ในวันนี้ที่กำลังมีความพยายามกำลังจะทวงคืนผืนป่าจากที่ต่างๆ ซึ่งบางส่วนมีที่ป่าเกินแล้วจะเอาไปชดเชยให้กับส่วนที่ขาดนั้น เป็นนโยบายไม่เป็นธรรม

        ขณะที่นโบาย คสช.ที่ออกประกาศตั้งแต่ปี 2557 ว่าจะให้มีป่า 40% ในปี 2567 ดังนั้นต้องทวงคืนปีละ 2.8 ล้านไร่ อันนี้ก็คืออีกหนึ่งต้นตอของความขัดแย้ง โดย 5 ปีที่ผ่านมาเหมือนกำลังประกาศเป็นศัตรูกับประชาชน 10 ล้านคนที่อยู่พื้นที่ป่าซึ่งหากคิดเช่นนี้ก็จะล้มเหลว โดยสิ่งที่ คสช.ได้ทำ คือออกคำสั่งที่ 64,66/2557 แล้วบอกว่าการทวงคืนจะไม่กระทบกับผู้ยากไร้

         แต่ใน จ.น่าน ล่าสุด 298  ราย โดยไม่มีคัดกรองว่าเป็นผู้ยากไร้หรือไม่ ต่อมามีการเรียกร้องให้คัดกรอง ก็พบว่า  48 รายที่เข้าสู่กระบวนการนั้นพบเป็นผู้ยากไร้หมดเลย โดยก็มีเหตุหนึ่งคือการจับพี่แสงเดือน เป็นผู้ยากไร้ โดยมีหลักฐานบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท  (นางแสงเดือน ตอนยอดหรือวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง ชาวบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง) คดีขึ้นศาลรอตัดสิน 18 ธ.ค.นี้ ดังนั้นการทวงคืนผืนป่าที่บอกไม่กระทบผู้ยากไร้ก็ไม่เป็นจริง ซึ่งรอบ 5 ปีที่ผ่านมานี้ มีผู้ถูกดำเนินคดี 46,000 คดี แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่ากรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ มีคดีที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 38% ในปีแรกของการประกาศทวงคืนผืนป่า และในเขตป่าอุทยานเพิ่มขึ้น 18% จากปกติก่อน มีคสช.เข้ามา แต่ที่น่าเสียใจคือกรมอุทยานฯและป่าไม้ ไม่สามารถบอกได้ 46,000 คดี เป็นนายทุนเท่าใด  เป็นชาวบ้านเท่าใด เพราะตามนโยบาย คสช.ย้ำต้องไม่กระทบ 1.ผู้ยากไร้ 2.ผู้มีรายได้น้อย 3. ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง 

       ส่วนเรื่องป่าชุมชน ที่ยุค คสช. ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าชุมชนฯแล้วแต่เรื่องขัดแย้งที่ต่อสู้มา 35 ปียังไม่ได้รับการแก้ไขโดย พ.ร.บ.นี้ คือการจัดตั้งป่าวัด ป่าบ้าน ป่าโรงเรียน ป่าช้า จัดตั้งป่าเสื่อมโทรมไม่มีคุณค่าแล้วให้ชุมชนมาร่วมรักษา ตนจึงจะเรียกว่า พ.ร.บ.ป่าช้า มากกว่า ขณะที่คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ให้กรมป่าไม้-อุทยานฯ สำรวจการอาศัยทำกินของชาวบ้านได้เฉพาะป่าที่ประกาศอุทยานแล้วสำรวจให้เสร็จ 240 วัน แล้วพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติอีก 21 แห่ง ประมาณ 9 ล้านไร่ที่กำลังจะประกาศ ชุมชนจะไม่มีสิทธิเลย 

     ส่วนเรื่อง 2 มาตราฐานหรือไม่นั้น มีกรณีน่าสนใจ ให้บริษัทปูนขนาดใหญ่ สัมปทานระเบิดหิน 3,000 ไร่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1-2 ได้โดยไม่มีผลกระทบ แต่กับประชาชนที่อยู่มาก่อนปี 2515 ใช้ที่ดินไม่ได้ 

       "และที่มีคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 เจตนาดีให้ทวงคืนพื้นที่ ส.ป.ก.ที่มีนายทุนครอบครองอยู่แล้วยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน ที่ยังไม่ได้เอามาจัดสิทธิ ก็มีที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน 500 ไร่ขึ้นไป ซึ่งคำสั่งนี้ออกเดือน ก.ค.59 ให้ ส.ป.ก.ทวงคืนให้หมดแล้วมาจัดสรรให้ชาวบ้าน แต่ปรากฏว่าที่ดินที่คุณปารีณา ครอบครองเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน แล้วทำไมปี 59-60 จึงไม่โดน รอดตาไปได้อย่างไร และต่อมาพบว่าที่ดิน จ.ราชบุรี มีการทวงคืน 9 แปลงอยู่ที่ อ.ดอนบึง 2 แปลง  ที่ ต.ลานบัวซึ่งเป็นที่ดินของคุณปารีณาแปลงเดียวในหมู่ 8 ส่วนที่ดินของคุณปารีณาที่มี ภบท.5 อยู่ในหมู่ 6 ไม่รู้ว่าอยู่ไกลกันมากหรืออย่างไร ส.ป.ก.จึงไปไม่ถึง"

        ดังนั้นควรทบทวนมติคณะกรรมการนโยบายป่าแห่งชาติ โดยให้ยกระดับป่าธรรมชาติ เป็นป่าอนุรักษ์ให้หมด แล้วให้ประชาชนร่วมมาดูแลอย่างยั่งยืน ส่วนป่าอุทยานให้ท้องถิ่นดูแล และยุบรวม 3 กรมป่าไม้ , กรมอุทยานฯ , กรมทะเลและชายฝั่ง เพื่อลดงบประมาณ โดยเปลี่ยนชื่อเป็นกรมส่งเสริมจัดการทรัพยากรป่าไม้ และการส่งเสริมท้องถิ่นรักษาป่า พร้อมกับให้มีคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนิน 46,000 คดีว่าเป็นนายทุนหรือไม่ หากไม่ใช่นายทุนแต่เป็นผู้ยากไร้ก็ให้นิรโทษกรรมให้หมด รวมทั้งการจัดหาที่ดินทำกินเพื่อเป็นการเยียวยาให้ผู้ยากไร้เหล่านี้ที่ถูกดำเนินคดีไปโดยขัดหลักการด้วย ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการจับกุมผู้ยากไร้ถือว่าขัดคำสั่ง คสช.นั้น ก็ต้องถูกดำเนินคดีไปเพราะถือว่าไม่ดำเนินการตามคำสั่ง คสช.ที่ 64,66/2557 ขณะเดียวกันยังต้องทบทวนกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าชุมชุน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ออกโดย สนช.สมัย คสช. ด้วยเพราะ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย แล้วแก้ไขให้ถูกหลักการมีส่วนร่วม , การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตรวจสอบได้ , เรื่องสิทธิชุมชน และหลักสิทธิมนุษยชน 

      ทั้งนี้ "นายสุมิตรชัย หัตถสาร" ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และทนายความซึ่งเคยทำคดีให้กับชาวบ้านเกี่ยวกับพื้นที่ป่านั้น มองว่า ช่วงปี 2557-58 ที่มีกระบวนการให้ชาวบ้านออกมาแสดงตัวเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินนั้นว่าหากไม่เป็นไปตามเกณฑ์ต้องคืนที่ให้รัฐ โดยมีการให้เซ็นเอกสารแต่กระบวนการตรวจสอบนั้นกลับเป็นการย้อนศรมาทำให้ชาวบ้านถูกดำเนินคดี ดังนั้นก่อนจะเอาคำสั่ง คสช.ที่ 64,66/2557 มาใช้ จริงๆ แล้วคุ้มครองใคร และไม่รู้ว่าความหมายนายทุนของรัฐคืออย่างไรบ้าง ดังนั้นอยากเห็นข้อมูลว่า 700,000 ไร่ที่ยึดมานั้นเป็นใครบ้าง นายทุนจริงหรือไม่ หรือยึดจากชาวบ้าน และเป็นคำถามใหญ่ว่าการดำเนินการถูกต้องชอบธรรมจริงหรือไม่             2.ประเด็นปัญหาใหญ่อีกข้อคือกระบวนการต่อสู้คดีมีกระบวนการบางอย่างเหมือนกดดันให้ยอมรับสารภาพ ไม่สู้คดี หากสู้คดีต้องไฟท์อย่างมาก เหมือนที่เคยได้ยินว่าเป็นคดีนโยบาย เรื่องนี้สำคัญว่าฝ่ายนโยบายมีอิทธิพลหรือไม่โดยเรื่องนี้ต้องถกเถียงกันต่อไป  ขณะที่อยากฝากให้คิดถึงเรื่องต้นทุนทางคดี เชิงเศรษฐศาสตร์ โดยผลวิจัยของ TDRI เกี่ยวกับต้นทุนการทำคดีอาญาพบว่า มีค่าใช้จ่าย 70,000 บาท/คดี หากคำนวณรัฐใช้เงินภาษี เราถึง 2,800 ล้านบาท ในการดำเนินคดีทวงคืนผืนป่า 46,000 คดี ที่ยังไม่รู้ว่าเป็นชาวบ้านเท่าใด แต่สุดท้ายเป็นเหมือนการผลิตคนจน และผลิตความเหลื่อมล้ำเพิ่มจากการทวงคืนผืนป่าโดยไม่คัดกรองให้เป็นธรรม ซึ่งในรอบ5 ปีเท่ากับเราใช้เงินมหาศาล แล้วเราได้ป่าคืนมาหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการคิดค่าเสียหายที่เรียกว่าค่าทำโลกร้อน 500,000 บาท/ไร่ กับผู้ถูกดำเนินคดีหากเป็นชาวบ้านก็ลำบากหาทรัพย์สินมาชำระ คำถามคือค่าเสียหายคิดคำนวณจากสิ่งใด

      อย่างไรก็ดีอยากเสนอ ให้ทบทวนกฎหมายที่ซ้อนทับกันเป็นขนมชั้น ซึ่งถึงเวลาที่ต้องทำให้สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ โดยรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาเป็นประมวลกฎหมายป่าไม้ คล้ายประมวลกฎหมายอาญา และให้ปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวข้องป่าไม้ทรัพยากรทั้งหมด โดยให้กลับไปฝ่ายนิติบัญญัติดูแลสังคยานาใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีประชาชน และเสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรมกับผู้ถูกดำเนินคดีป่าไม้ที่ไม่เป็นธรรม 

       จากมุมมองทัศนะ ของนักพัฒนาเอกชน และนักกฎหมาย รวมทั้งการสะท้อนประสบการณ์จากชาวบ้าน
"กลุ่ม P-Move และเครือข่าย" ซึ่งประกอบด้วย ประชาชน นักพัฒนาเอกชน นักวิชาการและนักกฎหมาย ได้ออกร่วมแถลงการณ์ ข้อเรียกร้องต่อรัฐ และผู้เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ จากเรื่องราวจากคนเล็กคนน้อย ผู้ที่เผชิญกับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายการทวงคืนผืนป่าสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างมหาศาลของสังคมไทย และความเหลื่อมล้ำ มาตรฐานเลือกปฏิบัติของรัฐต่อประชาชนคนยากคนจน กับนายทุน และนักการเมืองผู้มีอำนาจอิทธิพล

       โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ดังนี้ 1.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้เป็นอิสระและให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงจากพื้นที่พิจารณาให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่ชาวบ้านที่โดนดำเนินคดีอันเนื่องมาจากนโยบายทวงคืนผืนป่าและคดีที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายของรัฐรวมถึงความบิดเบือนในการดำเนินการอาทิคดีโลกร้อน โดยจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทนทั้งในระดับบุคคลครอบครัวและชุมชนจากกฎหมาย นโยบาย และการดำเนินการที่ผิดพลาดของทุกหน่วยงาน 

      2.รัฐบาลจะต้องยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าแผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ พ.ศ.2557 โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทว.)  เพื่อยุติการขยายผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวทันที และจะต้องให้เอาหน่วยงานทหารและหน่วยงานด้านความมั่นคงออกจากกลไกการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดิน เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านที่ดินและทรัพยากรป่าไม้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนและผู้ได้รับผลกระทบ 

     3.การปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ ทบทวนและแก้ไขนิยามคำว่าป่าไม้ ตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) , พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ที่ดินทุกฉบับ รวมทั้งคำาสั่งภายใต้รัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากเป็นนโยบายและกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในวงกว้าง รัฐจะต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าการดำเนินการทางนโยบายและกฎหมายจะต้องยืนอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนการรับรองสิทธิชุมชน และจะต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและประชาชนสามารถเข้าถึงที่ดินอันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพได้อย่างเป็นธรรม

        4.รัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลการครอบครองที่ดินยกเลิกการประกาศที่ดินรัฐทุกประเภทที่ซ้อนทับกับที่อยู่อาศัยและที่ดินหรือพื้นที่สาธารณะของชุมชนจัดการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้กระทำผิดในการออกเอกสารสิทธิที่ดิน และ/หรือผู้ที่ครอบครองที่ดินโดยผิดกฎหมายโดยเฉพาะนายทุนและนักการเมืองที่มีการใช้อิทธิพลและอำนาจในการครอบครองที่ดินเ พื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) หรือ ภบท. อย่างมิชอบ รวมถึงให้ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับจะต้องแสดงความรับผิดชอบในทุกกรณีทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว 

      "ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จะร่วมกับเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์การจัดการป่าไม้ที่ดินของรัฐและการแก้ปัญหาที่ดินของคนจนตามข้อเรียกร้องดังกล่าวให้มีผลปฏิบัติจนถึงที่สุด"

      นี่คืออีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของการเรียกร้อง สิทธิชุมชนในการจัดการกับทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งการตรวจสอบแก้ปัญหาของรัฐที่จะกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้หรือไม่


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ