
ฝนจากฟ้า
น้อมรำลึกพระบิดาแห่งฝนหลวง เป็นผลงานอันเกิดจากพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระวิริยอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ
5 ธันวาคมของทุกปี นับเป็นวันสำคัญของชาติไทย ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรหรือในหลวงรัชกาลที่9 เป็น"วันชาติ"และเป็น"วันพ่อแห่งชาติ"
อ่านข่าว : ธ สถิตในดวงใจตราบนิรันดร์
ทว่า 14 พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น“วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” เป็นผลงานอันเกิดจาก พระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระวิริยอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันประเสริฐที่ทรงห่วงใยปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรพสกนิกรชาวไทย ในระหว่างที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 2-20 พฤศจิกายน 2498
ทอดพระเนตรภาพย่อทิศทางภูมิศาสตร์และภูมิอากาศ
โดยในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายนพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์เดลาเฮย์ ซีดานสีเขียว จาก จ.นครพนมไปยังจ.กาฬสินธุ์ ผ่าน จ.สกลนครและ เทือกเขาภูพานทรงสังเกตเห็นมีกลุ่มเมฆปริมาณมากปกคลุมเหนือพื้นที่ระหว่างเส้นทาง ความตอนหนึ่งว่า
“...แหงนมองท้องฟ้า เห็นมีเมฆมาก แต่ถูกลมพัดพาไป ทำอย่างไรจะบังคับให้เมฆเหล่านั้นตกเป็นฝน ตกลงสู่พื้นดินแห้งแล้งที่ต้องการ...” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(ที่มา...หนังสือที่ระลึก“ดั่ง...น้ำพระราชหฤทัย”ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร) ก่อนทรงมีพระราชดำริต่ออีกว่า
“...น่าจะมีลู่ทางที่คิดค้นหาเทคนิคด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้ฝนตกได้...”
จากนั้นพระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ทั้งด้านวิชาการ อุตุนิยมวิทยา และการดัดแปรสภาพอากาศ กระทั่งในปี 2499 จึงได้พระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง”แก่ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น รับไปดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนากรรมวิธีการทำฝนให้บังเกิดผลโดยเร็ว
กระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม 2512 ถือเป็นวันปฐมฤกษ์ในการปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆในท้องฟ้าเหนือภาคพื้นดิน บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และอ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ด้วยการใช้น้ำแข็งแห้ง(Dry-Ice) โรยที่ยอดของกลุ่มก้อนเมฆ ปรากฏว่าหลังการปฏิบัติการประมาณ 15 นาที ก้อนเมฆในบริเวณนั้นเกิดมีการรวมตัวกันอย่างหนาแน่นจนเห็นได้ชัด สังเกตได้จากสีของฐานเมฆได้เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาเข้ม ซึ่งผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เพียงแต่ยังไม่อาจควบคุมให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้
แต่พระองค์ก็มิได้ทรงท้อถอย ทรงได้ค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม 2515 พระองค์ทรงควบคุมปฏิบัติการสาธิตการทำฝนหลวงให้ผู้แทนรัฐบาลประเทศสิงคโปร์ชม โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี การทดลองปฏิบัติการครั้งนี้สามารถควบคุมให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมายได้ภายใน 5 ชั่วโมง จากนั้นไม่นานพระองค์ได้พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยให้เปลี่ยนพื้นที่ทดลองไปยังจุดแห้งแล้งอื่น ๆ
ทรงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานฝนหลวง
“... การทำฝนเทียมนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีเครื่องอุปกรณ์ วัสดุ และเจ้าหน้าที่ งานที่ทำนี้ก็ต้องสิ้นเปลืองไม่ใช่น้อย การทำฝนนี้ เป็นสิ่งที่ลำบากหลาย ๆ ประการ ทางด้านเทคนิค และในด้านจังหวะที่จะทำ เพราะถ้าพูดถึงด้านเทคนิค ฝนที่ทำนี้จะพลิกฤดูกาลไม่ได้ แค่ช่วยให้ประคองพืชผล ไม่ให้สิ้นไปพอได้ การทำฝนเทียมนี้เป็นสิ่งที่ใหม่ จึงต้องทำโครงการอย่างระมัดระวัง เพราะว่าสิ้นเปลือง ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลจะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ...” ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสเรื่องฝนเทียม เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2517 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
จากความสำเร็จของโครงการฝนหลวง รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี 2518 สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยแล้ง จนกระทั่งยกฐานะเป็นกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในปัจจุบัน
กล่าวได้ว่าฝนหลวงพระราชทาน เป็นการผสมผสานระหว่างหลักธรรมชาติกับหลักวิทยาศาสตร์ ทรงใช้สารเคมีมาโปรยบนท้องฟ้าเพื่อกระตุ้นให้ไอน้ำในอากาศก่อตัวเป็นก้อนเมฆและเร่งให้เมฆจับตัวกันหนาแน่น แล้วใช้สารเคมีเพื่อให้เกิดภาวะไม่สมดุลมากที่สุด เกิดเป็นเม็ดน้ำที่มีขนาดใหญ่มากตกลงมาเป็นฝนในพื้นที่เป้าหมายในช่วงเวลาที่ต้องการสารเคมีเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ได้พระราชทานนามว่า“สารฝนหลวง”ในปี2548
จากนั้นสำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตรฝนหลวง “Weather Modification by Royal Rainmaking Technology” เลขที่ 1491088 ด้วยเหตุนี้ ทำให้ฝนหลวงเป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศว่าด้วยการเป็นเทคโนโลยี ที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นได้
เห็นได้จากระหว่างวันที่ 22-25 มีนาคม 2559 พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลไทยเยือนกรุงอัมมาน ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน เพื่อร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ภายใต้โครงการดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยีฝนหลวง โดยการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลจอร์แดนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำฝนหลวงที่มาจากพระราชดำริของพระองค์ได้นำไปแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนชาวจอร์แดนจากปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
เทคโนโลยีฝนหลวง ที่พระองค์ท่านทรงคิดด้วยความอัจฉริยภาพของพระองค์มายาวนานถึง 64 ปี จนได้ตำรา“ฝนหลวง” ถือเป็นมรดกอันทรงล้ำค่าของประเทศไทย ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความแห้งแล้งให้กับชาวไทยและชาวโลก
“ปีนี้ถือเป็นวันครบรอบปีที่64 นับจากวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2498 ซึ่งเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัส ที่จะคิดค้นวิจัยหาวิธีการทำฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำของประเทศ จนเกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงสืบมาจนปัจจุบัน”
อนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายในระหว่างเป็นประธานเปิดงาน “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ประจำปี 2562 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้จัดอย่างยิ่งใหญ่เพื่อร่วมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ และจารึกไว้เป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ชาติไทย
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันที่โลกต้องจารึกถึงการกำเนิดของ “เทคโนโลยีฝนหลวง” นวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ที่สามารถเอาชนะภัยธรรมชาติ และร่วมประกาศก้องพระเกียรติคุณน้อมรำลึกแห่งองค์ “พระบิดาแห่งฝนหลวง”ของปวงชนชาวไทย ในวันพ่อแห่งชาติด้วย
ข้อมูลประกอบเรื่อง
กว่าจะมาเป็น"เทคโนโลยีฝนหลวง"
การทำฝนหลวง มาจากแนวคิดและทฤษฎีต้นกำเนิด หลักการคือให้โปรยเกลือทะเลจากเครื่องบินเพื่อดูดซับความชื้นในอากาศแล้วใช้สารเย็นจัดหรือน้ำแข็งแห้งเพื่อให้ความชื้นกลั่นตัวและรวมตัวกันเป็นเมฆ เป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า ซึ่งต้องใช้เครื่องบินที่มีอัตราการบรรทุกมาก ๆ บรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของจำนวนเมฆ และสภาพของทิศทางลมประกอบกัน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝน คือ ความร้อนชื้นปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพในปริมาณที่เหมาะสม นั่นคือ เมื่อมวลอากาศ ร้อนชื้นที่ระดับผิวพื้นขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศจะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง อุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอจะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จนเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำขึ้นบนแกนกลั่นตัวจนกลายเป็นฝนตกลงมา ฉะนั้นสารเคมีดังกล่าว จึงประกอบด้วยสูตรร้อน เพื่อใช้กระตุ้น กลไกการหมุนเวียนของ บรรยากาศสูตรเย็น ใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้น เพื่อกระตุ้นกลไกระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่หนึ่ง : ก่อกวน
การก่อกวน เป็นขั้นตอนที่เมฆธรรมชาติเริ่มก่อตัวทางแนวตั้ง การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนนี้ จะมุ่งใช้สารเคมีไปกระตุ้น ให้มวลอากาศเกิดการลอยตัวขึ้นสู่เบื้องบน เพื่อให้เกิดกระบวนการชักนำไอน้ำ หรือ ความชื้นเข้าสู่ระบบการเกิดเมฆ ระยะเวลาที่จะปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ ไม่ควรเกิน 10.00 น. ของแต่ละวัน โดยการใช้สารเคมีที่สามารถดูดซับไอน้ำจากมวลอากาศได้ แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ เพื่อกระตุ้นกลไกของกระบวนการกลั่นตัวไอน้ำในมวลอากาศ ทางด้านเหนือลมของพื้นที่เป้าหมาย เมื่อเมฆเริ่มเกิดมีการก่อตัวและเจริญเติบโตในแนวตั้ง จึงใช้สารเคมีที่ให้ปฏิกิริยาคายความร้อน โปรยเป็นวงกลม หรือเป็นแนวถัดมาทางใต้ลมเป็นระยะทางสั้น ๆ เข้าสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มแกนร่วมในบริเวณปฏิบัติการสำหรับใช้เป็นศูนย์กลางที่จะสร้างกลุ่มเมฆฝนในขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่สอง : เลี้ยงให้อ้วน
การเลี้ยงให้อ้วน เป็นขั้นตอนที่เมฆกำลังก่อตัวเจริญเติบโตซึ่งเป็นระยะที่สำคัญมากในการปฏิบัติการฝนหลวง เพราะจะต้องไปเพิ่มพลังงานให้กับการลอยตัวของก้อนเมฆให้ยาวนานออกไป โดยต้องใช้เทคโนโลยีและประสบการณ์ หรือศิลปะแห่งการทำฝนควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อตัดสินใจ โปรยสารเคมีฝนหลวงชนิดใด ณ ที่ใดของกลุ่มก้อนเมฆ และในอัตราใดจึงเหมาะสม เพราะ ต้องให้กระบวนการเกิดละอองเมฆสมดุลกับการลอยตัวของเมฆ มิฉะนั้นจะทำให้เมฆสลาย
ขั้นตอนที่สาม : โจมตี
การโจมตี ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกรรมวิธีปฏิบัติการฝนหลวง โดย เมฆ หรือ กลุ่มเมฆฝน ต้องมีความหนาแน่นมากพอที่จะสามารถตกเป็นฝนได้ ภายในกลุ่มเมฆจะมีเม็ดน้ำขนาดใหญ่มากมาย หากเครื่องบินบินเข้าไปในกลุ่มเมฆฝนนี้ จะมีเม็ดน้ำเกาะตามปีก และกระจังหน้าของเครื่องบิน ซึ่งในจะต้องปฏิบัติการเพื่อลดความรุนแรงในการลอยตัวของก้อนเมฆ หรือทำให้อายุการลอยตัวนั้นหมดไป สำหรับการปฏิบัติการในขั้นตอนนี้ จะต้องพิจารณาจุดมุ่งหมายของการทำฝนหลวง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเด็น คือ เพื่อเพิ่มปริมาณฝนตก และเพื่อให้เกิดการกระจายการตกของฝน
ขั้นตอนที่สี่ : เพิ่มฝน
การโจมตีเมฆในขั้นตอนที่ 3 อาจจะทำให้ฝนใกล้จะตกหรือเริ่มตกแล้ว ส่วนขั้นตอนที่ 4 นี้ จะเร่งการตกของฝนและเพิ่มปริมาณน้ำโดยการโปรยเกล็ดน้ำแข็งแห้ง (Dry ice) ที่ระดับใต้ฐานเมฆประมาณ 1,000 ฟุต เกล็ดน้ำแข็งแห้งซึ่งมีอุณหภูมิต่ำถึง -78 องศาเซลเซียส จะปรับอุณหภูมิของบรรยากาศระหว่างฐานเมฆกับพื้นดินให้เย็นลง ทำให้ฐานเมฆยิ่งลดระดับต่ำลง ฝนจะตกในทันที หรือที่ตกอยู่แล้ว จะมีอัตราการตกของฝนสูงขึ้น ลดอัตราการระเหยของเม็ดฝนขณะล่วงหล่นลงสู่พื้นดิน และทำให้ฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานานขึ้นและหนาแน่นยิ่งขึ้น
ที่มาข้อมูล:www.royalrain.go.th