
ประชุมสมาคม ก.ม.อาเซียน 10 ประเทศยกระดับ ก.ม.สอดคล้องกัน
ประชุมร่วม 10 ประเทศ ดันตั้ง สถาบัน ก.ม.อาเซียน ไทยสร้างคนรุ่นใหม่เรียนรู้ระบบ มีผลกับประเทศอย่างไร เพื่อประโยชน์สูงสุดอยู่ร่วมเพื่อนบ้านอย่างสันติ
21 พฤศจิกายน 2562 ที่ โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา เมอร์ลินบีช จ.ภูเก็ต นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติสมาคมกฎหมายอาเซียนประจำประเทศไทย (ASEAN Law Association (ALA), Thailand)
เปิดการประชุม คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมาธิการถาวรของสมาคมกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 41 (41th ASEAN Law Association Governing Council Meeting) ซึ่งปีนี้ประเทศไทย ได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีทั้งผู้พิพากษา อัยการ อาจารย์สอนวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัย นักกฎหมายภาครัฐและเอกชน จากประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม , กัมพูชา , อินโดนีเซีย , ลาว , มาเลเซีย , เมียนมา , ฟิลิปปินส์ , สิงคโปร์ , เวียดนาม และประเทศไทย ร่วมประชุม
โดย นายไสลเกษ ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการประชุมช่วงเช้า ว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมอาเซียน จะมีขึ้นปีละครั้ง ซึ่งปีนี้เรารับไม้ต่อจากประเทศสิงคโปร์
อ่านข่าว - ปธ.ฎีกา มองจับลิขสิทธิ์ ยกฎีกาเคยยกฟ้องจำเลยขาดเจตนา
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์สำคัญของการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมกฎหมายอาเซียน จะนำแผนงานของสมาคมฯ ที่จะทำในอนาคต รวมถึงที่ทำมาแล้วในอดีต มาประเมินความสำเร็จว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ พร้อมรับข้อเสนอต่างๆ ของสมาคมกฎหมายอาเซียนแต่ละประเทศที่จะเสนอ ในวันนี้ นายซุนดาเรส เมน่อน (Hon.CJ Sundaresh Menon) ประธานศาลฎีกาสิงคโปร์ ได้รายงานผลความคืบหน้าของการประชุมครั้งที่แล้ว พร้อมเปิดให้สมาชิกแสดงตัวตนมีส่วนร่วม ซึ่งประธานศาลฎีกาสิงคโปร์ ได้สรุปว่า ALA จะยกระดับบทบาทของสมาคมฯ ให้ทำงานร่วมกับกลุ่มประชาคมอาเซียนอย่างใกล้ชิดทางด้านกฎหมาย เป็นที่ปรึกษาหรือที่รวมของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย และอำนวยความสะดวกในทางกฎหมายด้านต่างๆ ของประชาคมอาเซียนจะเดินไปข้างหน้า
กลุ่มประเทศอาเซียนได้รับรู้รับรองบทบาทของ ALA โดยวันนี้รองเลขาธิการอาเซียน มานำเสนองานและแสดงการรับรู้บทบาทของ ALA ชัดเจน รวมถึงการรับรู้ในเรื่องตราสารต่างๆ ซึ่งใช้ในเวลาติดต่อกันระหว่างประเทศ วัตถุประสงค์คือ การพัฒนาระบบการรับรองเอกสาร เราต้องหาวิธีการที่จะมีการรับรองเอกสารระหว่างประเทศ สามารถนำเอาไปใช้ระงับข้อพิพาท หรือดำเนินการทางบริหารได้ง่ายขึ้น เช่น กรณีพ่อแม่ต่างสัญชาติกัน บุตรอยู่ต่างประเทศจะได้รับรองสิทธิ์ในการเป็นบุตรตามกฎหมายในประเทศก็จะต้องผ่านช่องทางนี้ อีกเรื่องคือการสร้างความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายให้แก่อาเซียน เรามีเป้าหมายสำคัญที่หวังว่ากลุ่มประเทศอาเซียนจะยกระดับสร้างกฎหมายที่มีความสอดคล้องกัน ซึ่งเวลานี้องค์การสหประชาชาติ และที่ประชุมนักกฎหมายระหว่างชาติ พยายามที่จะออกคำแนะนำว่าทำอย่างไรประเทศต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กัน ได้ใช้กฎหมายในระบบเดียวหรือใกล้เคียงกันให้ได้มากที่สุด เพื่อให้โลกเชื่อมโยงกันภายใต้การใช้ระบบกฎหมายเดียวกัน แต่จะเป็นไปได้แค่ไหนต้องใช้เวลาเนื่องจากคงมีขอบเขตว่ากฎหมายส่วนไหนที่สามารถเชื่อมโยงหรือทำให้เป็นระบบเดียวกันได้
อ่านข่าว - ฎีกาจำคุก 6 ปี ผู้พันตึ๋ง กรรโชกทรัพย์ ไนท์บาซาร์
เราคิดว่าทำอย่างไร ALA จะทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในระบบกฎหมาย เราก็จัดระบบการแข่งขันโดยเอาคนรุ่นใหม่ นักกฎหมายรุ่นใหม่มาแข่งขันกันตอบระบบกฎหมายอาเซียน นักกฎหมายจากไทยก็จะเรียนรู้ระบบกฎหมายของเพื่อนบ้านเรา 9 ประเทศ อีก 9 ประเทศก็เรียนรู้ระบบกฎหมายของไทย เชื่อว่าในอนาคตจะทำให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นนักกฎหมาย เข้าใจระบบของกฎหมายซึ่งกันและกันในกลุ่มประเทศอาเซียนดีขึ้น จะมีผลดีคือลดข้อพิพาทที่ไม่จำเป็นระหว่างประเทศ
นายไสลเกษ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการวางแผนดำเนินการจะตั้ง สถาบันกฎหมายระหว่างอาเซียน (Asian Law Institute) ในรูปแบบองค์กรถาวรมีการบริหารที่เป็นระบบ ทำหน้าที่รวบรวมค้นคว้ากฎหมายในกลุ่มประเทศอาเซียน และแสวงหางบประมาณเพื่อส่งเสริมให้อาเซียนเข้าใจซึ่งกันและกันในระบบกฎหมาย
สถาบันนี้อาจจะมีบทบาทส่งเสริมการฝึกอบรมเรียนรู้ร่วมกันในอนาคต ขณะนี้มีการวางแผนดำเนินการล่วงหน้าไป 3 - 4 ปี ถ้าทุกอย่างเดินไปตามแผน สถาบันฯ จะเกิดขึ้นและเป็นองค์กรในระดับโลก อย่างไรก็ดี ทุกอย่างที่จะได้รับการผลักดันออกไปต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันทุกประเทศ ไม่สร้างความขัดแย้ง จะพัฒนาต้องจับมือเดินไปด้วยกัน จึงใช้ระบบมติเอกฉันท์ ต้องยกมือทั้ง 10 ประเทศ ถ้าประเทศใดไม่เห็นชอบก็จะไม่ได้มติเอกฉันท์ที่ผลักดันต่อไป ตรงนี้ทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างประนีประนอม ขณะที่วันนี้ ประธานศาลฎีกาสิงคโปร์ ก็กล่าวว่าอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ปัจจุบันนี้มีศักยภาพ รายได้ ธุรกิจ มีรายได้เป็นอันดับ 5 ของโลก ดังนั้น ประชากรในแถบนี้การดำเนินธุรกิจธุรกรรมมีมูลค่ามหาศาลจึงได้รับความสำคัญและการยอมรับจากประเทศอื่นและองค์กรระดับนานาชาติ จึงเชื่อว่า ALA จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นและสำคัญขึ้น
อ่านข่าว - 3 นปช. กลับลำ คดีล้มประชุมอาเซียน เลื่อนอ่านฎีกา 3 ธ.ค.
"ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ภารกิจของเราต้องร่วมกันและศึกษาให้ถ่องแท้ถึงระบบกฎหมายอาเซียนว่าจะมีผลกับประเทศของเราอย่างไร จะผลักดันอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเรา เราจะสามารถทำงานอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านของเราอย่างสันติ สิ่งที่ดีใจปีนี้คือประธานสมาคมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เดินทางมาร่วมครบถ้วน ประธานสมาคมกฎหมายอาเซียน ประเทศฟิลิปปินส์ เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทางการจากสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะมาประชุมประธานศาลฎีกาอาเซียนในวันพรุ่งนี้" นายไสลเกษ ประธานศาลฎีกา ระบุ