ข่าว

กทม.แจงแก้ไข ควบคุมป้ายจอแอลอีดี

กทม.แจงแก้ไข ควบคุมป้ายจอแอลอีดี

18 พ.ย. 2562

กทม. แจงแก้ไขป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย พร้อมมีมาตรการควบคุมป้ายจอแอลอีดี

 

               กทม. แจงแก้ไขป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย พร้อมมีมาตรการควบคุมป้ายจอแอลอีดี หลังเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน โพสต์แฉป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ใน กทม. ผิดกฎหมาย 244 ป้าย สงสัยจ่ายเงินเป็นค่ามองไม่เห็น

 

อ่านข่าว (คลิป) หวาดเสียว ลมแรงพัดป้ายโฆษณายักษ์หักคาเสา

 

               นายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวกรณีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ มีป้ายขนาดใหญ่ที่ติดตั้งโดยไม่ได้ขออนุญาตหรือก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ขออนุญาตไว้โดยเฉพาะ “ป้ายจอ LED” ที่มีแสงสว่างเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ขับขี่รถยนต์ ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น ว่า 

 

               กทม. ได้ดำเนินการแก้ไขป้ายโฆษณาที่มีการก่อสร้างฝ่าฝืนกฎหมาย โดยดำเนินคดีกับผู้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารประเภทป้ายอย่างเคร่งครัด ป้ายที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ยื่นขออนุญาตให้ถูกต้อง

 

               ส่วนป้ายโฆษณาที่ก่อสร้างผิดแบบให้แก้ไขให้ถูกต้อง หากยื่นขออนุญาตหรือแก้ไขไม่ได้ ให้ดำเนินการรื้อถอนออกไป รวมทั้งได้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้าย และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับป้าย ทราบถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากป้ายล้มในช่วงที่มีลมกระโชกแรง 

 

อ่านข่าว กทม.งัดมาตรการเด็ดขาด จัดการป้ายผิดกฎหมาย

 

               ขณะเดียวกันได้วางมาตรการควบคุมป้ายโฆษณาประเภท LED โดยแจ้งให้เจ้าของป้ายดำเนินการลดระดับความเข้มของแสง ไม่ให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ

 

               ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2558 กำหนดให้ป้ายที่ใช้ระบบไฟฟ้าและมีแสงสว่างในตัวเอง แสงสว่างที่ออกจากป้ายจะต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อบริเวณข้างเคียง และไม่รบกวนการมองเห็นสภาพการจราจรของผู้ขับขี่ยานพาหนะจนอาจส่งผลต่อการควบคุมหรือขับขี่ยานพาหนะ

 

 

               ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2562 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า

 

               ภัยจากป้ายโฆษณาข้างทางด่วน..

 

               ทราบหรือไม่ว่ามีกฎหมาย “ห้ามติดตั้งป้ายโฆษณาฯ ในระยะ 50 เมตรจากเขตทางด่วน”

 

               แต่ทุกวันนี้เราทุกคนต่างได้เห็นเหมือนกันว่า มีป้ายขนาดใหญ่โดยเฉพาะ “ป้ายจอแอลอีดี” จำนวนมากสร้างอยู่ชิดสองข้างทางด่วนซึ่งหลายแห่งน่าจะใกล้มากกว่า 50 เมตร โดยไม่รู้ว่าป้ายเหล่านั้นได้รับอนุญาตจาก กทพ. แล้วหรือไม่


อ่านข่าว ฟดูดคนงานเปลี่ยนป้าย

 

               การที่กฎหมายห้ามไว้เช่นนี้ เข้าใจว่าเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในสภาพจราจรที่คับคั่งและใช้ความเร็วสูงบนทางด่วน เพราะป้ายโฆษณาที่สวยงามชวนมองย่อมสามารถเบนความสนใจของผู้ขับขี่รถยนต์ไปชั่วขณะไปจากการควบคุมยานพาหนะ ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มมากและรุนแรงขึ้น

 

               ยิ่งเป็นป้ายจอแอลอีดีที่กำลังฮิตอยู่ทุกวันนี้จะยิ่งเพิ่มดีกรีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีกเพราะมีแสงสว่างจ้า วูบวาบ ภาพประกอบที่เคลื่อนไหวไปมา มีเรื่องราวต่อเนื่องชวนติดตามและมีขนาดใหญ่สะดุดตา เหล่านี้ล้วนดึงดูดความสนใจผู้คนได้มากและนานขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนกลางคืน

 

               แม้จะยังไม่เป็นที่ยืนยันว่าป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่มีรายงานในสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า 6 - 9% ของอุบัติเหตุเกิดจากปัจจัยภายนอกที่เบนความสนใจผู้ขับขี่จากการควบคุมรถยนต์ชั่วขณะ เช่น ป้ายโฆษณาข้างถนน

 

               ยังมีตลกร้ายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาที่ควรทราบกันอีกก็คือ

 

               ทั่ว กทม. มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่หรือบิลบอร์ดที่ “ผิดกฎหมาย” มากถึง 244 ป้ายหรือราวร้อยละ 23 จากทั้งหมดที่ติดตั้งอยู่ 1,079 ป้าย (ข้อมูลปี 2561) นั่นหมายความว่า เมืองหลวงของประเทศไทยกำลังเต็มไปด้วยป้ายโฆษณาใหญ่โตจำนวนมากที่ติดตั้งโดย “ไม่ได้ขออนุญาต ลักลอบติดในที่ห้าม หรือก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ขออนุญาตไว้”

 

               ทำให้รัฐขาดรายได้จากการเก็บภาษี เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรมในหมู่เอกชนผู้ประกอบการ และยังอาจทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนรำคาญหรือเกิดอันตรายจากอุบัติเหตุป้ายโค่นล้มเมื่อมีพายุลมแรงได้ตลอดเวลา แต่ปัญหานี้เจ้าหน้าที่กลับทำอะไรไม่ได้!!


อ่านข่าว จอดำป้ายโฆษณาสัมภาษณ์ "เสรีพิศุทธ์"

 

               เรื่องที่กล่าวมาจึงมีทั้งที่เป็นความผิดตามกฎหมาย สร้างความเสียหายต่อรัฐ เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 

               ถึงตอนนี้ผมยังไม่มีข้อมูลที่ระบุได้ว่า มีใครเรียก – รับสินบนหรือจ่ายเงินเป็นค่ามองไม่เห็นกันอย่างไรหรือไม่ แต่เชื่อว่าทุกคนใน กทม. มองเห็นป้ายโฆษณาเหล่านี้

 

               ขณะที่หลายคนตั้งข้อสงสัย หลายคนอาจรู้ปัญหาแต่นิ่งเฉยกันไปเพราะไม่รู้จะทำอะไรได้ แต่ถ้าเรายังทนปล่อยให้มีการทำผิดกฎหมาย เอาเปรียบสังคมกันต่อไป ยิ่งนานบ้านเมืองจะยิ่งไร้ระเบียบจนกลายเป็นสังคมมือใครยาวสาวได้สาวเอาเข้าสักวัน