สตรีอเมริกันพบแม่เวียดนามหลังพราก44 ปีในปฏิบัติการเบบี้ลิฟต์
แม่เวียดนามส่งลูกสาวไปอเมริกาหลังเวียดนามใต้ล่มสลาย หวังว่าจะปลอดภัย และมีชีวิตที่ดี แต่รู้สึกผิดมาตลอด 44 ปีไม่เคยละความพยายามตามหา ล่าสุด ได้พบกันแล้ว
เลห์ บัฟตัน สมอลล์ อายุเพียง 3 ขวบ ตอนที่เป็นเด็กเวียดนาม 1 ในราว 3,000 คน ที่ได้รับการอพยพออกจากเวียดนามไปยังสหรัฐอเมริกา ใน “ปฏิบัติการ เบบีลิฟต์” ( Operation Babylift ) ตามคำสั่งประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ในเดือนเมษายน 2522 ก่อนไซง่อนแตก โดยส่วนใหญ่เป็นลูกครึ่งเวียดนาม-อเมริกัน หรือเด็กกำพร้า เนื่องจากเกรงว่าเด็กเหล่านี้จะไม่ปลอดภัยหลังฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าปกครอง โดยที่เธอไม่เคยรู้เลยว่า แม่ผู้ให้กำเนิดพยายามตามหาเธออยู่นานหลายสิบปี
สมอลล์ ในวัย 47 ปี กล่าวว่า เธอไม่เคยเห็นรูปถ่ายของตัวเองก่อนอายุ 3 ขวบ ความทรงจำวัยเยาว์เริ่มต้นเมื่อเธอได้รับการต้อนรับเข้าสู่ครอบครัวอเมริกันในนิวเจอร์ซีย์ แต่เธอรู้มานานว่า ตนเองถือกำเนิดจากผู้หญิงที่ยอมยกให้คนอื่นเพราะความรัก
หลายปีก่อน สมอลล์ตรวจดีเอ็นเอเพราะอยากรู้อดีตของตัวเองให้มากขึ้น พบว่าครึ่งหนึ่งในตัวเธอเป็นเวียดนาม ที่เหลือเป็นเลือดผสมอังกฤษ ซึ่งไม่ได้สร้างความประหลาดใจมากนัก เธอตัดสินใจตามหาอดีต โดยส่งข้อมูลดีเอ็นเอให้กับเวบไซต์ Ancestry.com เวบไซต์ช่วยตามหาครอบครัวและญาติ
เมื่อเดือนกันยายน เธอได้รับอีเมล์จากเวบไซต์ Ancestry ว่ามีคนแปลกหน้าคนหนึ่งที่ต่อมาทราบว่า เป็นน้องสาวต่างแม่ ที่เธอไม่เคยรู้เช่นกันว่ามีอยู่บนโลก ส่งข้อความสำคัญมาให้ ข้อความนั้นระบุว่า “ดีเอ็นเอของฉันบอกว่าเราเป็นพี่น้องกัน และแม่ชาวเวียดนามของพี่ กำลังตามหาอยู่”
คุณแม่ลูกสาว รู้ว่า เธอมีเลือดเวียดนาม แต่ไม่รู้ว่าแม่ผู้ให้กำเนิดตามหาเธออยู่ ไม่รู้กระทั่งว่าชื่อ Nguyen Thi Dep อายุ 70 ปีแล้ว แต่ชายคนหนึ่งในเวียดนามพบชื่อน้องสาวต่างแม่ของเธอในอนุสรณ์งานศพทหารอเมริกันในปี 2554 ซึ่งก็คือพ่อที่ให้กำเนิด น้องสาวของเธอตกลงตรวจดีเอ็นเอกับ Ancestry และได้รับการยืนยันว่าสตรีในรัฐเมน คือลูกสาวอีกคนของโจ พ่อของเธอ
ในเวลา 24 ชม. นับจากได้อีเมล์ หลังจากตรวจชื่อ วันเกิด และวันที่เดินทางถึงสหรัฐจนมั่นใจไม่ผิดตัว แม่และลูกสาวได้คุยกันทางวิดีโอแชทผ่านล่ามเป็นครั้งแรก
ประโยคแรกของสตรีที่ให้กำเนิด “มีชีวิตสุขสบายใช่ไหม สบายดีใช่ไหม” สมอลล์ ตอบว่า เธอมีความสุขดี
ย้อนกลับไปในปี 2511 Nguyen Thi Dep เป็นแม่บ้านในฐานทัพอเมริกัน จังหวัดดงไน พูดภาษาอังกฤษได้ ต่อมา ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นคนควบคุมวิทยุ เธอได้พบรักกับโจ ทหารอเมริกัน ให้กำเนิดพยานรักเมื่อ 5 มกราคม 2515 เป็นลูกสาวตั้งชื่อว่า เฟือง ไม
เธอตัดสินใจส่งลูกสาวเดินทางครึ่งโลกไปอเมริกาด้วยหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่า เธอจำได้ดีว่า เป็นวันที่ 26 เมษายน 2518 เวลา 15.00 น. นั่นคือครั้งสุดท้ายที่เห็นหน้าลูกสาว แต่เพียงแค่วันเดียว เธอรู้สึกผิดและเจ็บปวด ที่ตัดสินใจเร็วเกินไปโดยไม่รู้ว่าเที่ยวบินนั้นจะไปลงจอดที่ไหนในอเมริกา พยายามหาทางนำตัวกลับ แต่สายเกินไปแล้ว ไม่แน่ใจกระทั่งว่าลูกสาวยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะในสัปดาห์เดียวกัน มีข่าวเครื่องบินอพยพเด็กลำหนึ่งประสบเหตุตก คร่าชีวิตเด็กหลายสิบคนที่กำลังมุ่งหน้าไปยังบ้านใหม่
ตลอด 44 ปี เหวียน ไม่เคยละความพยายามตามหา เธอหวังจะได้พบลูกสาวสักครั้งก่อนตาย อยากรู้ว่าสุขสบายดีหรือไม่ เวลาของเธอเหลือน้อยเพราะแก่ตัวลงทุกวัน เธอไม่ยอมแต่งงานเพราะหวังว่าเฟือง ไม อาจจะกลับเวียดนามวันหนึ่ง เธอพยายามติดต่อโจ แต่จดหมายถูกตีกลับ เพราะที่อยู่นั้นไม่มีแล้ว และโจ เสียชีวิตในปี 2554
Van Pham
สมอลล์ ได้ดูรูปเก่าวัยเด็กที่มารดาส่งไปให้ เมื่อเห็นเด็กในรูป เธอได้แต่คิดว่าเป็นเรื่องยากขนาดไหนที่แม่ของเธอต้องตัดสินใจแบบนั้น
แม่เวียดนามบอกกับเธอว่า อยากให้รู้ไว้อย่างหนึ่งว่า แม่รักเธอเสมอ และไม่ต้องการอะไรจากเธอเลย แค่ได้รู้จักและรักเท่านั้น
สมอลล์กล่าวว่า เธอไม่แน่ใจว่าได้สื่อสารมากพอหรือเปล่าว่า เธอไม่ได้มีความรู้สึกแย่เลยแม้แต่นิดเดียว และอยากให้รู้เป็นอย่างแรกคือแม่ไม่ควรรู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน
อันที่จริง สมอลล์เคยไปเวียดนามครั้งแรกเกือบ 20 ปีก่อนเพื่อตามหาแม่ แต่มีข้อมูลจำกัดมาก ครอบครัวของเธอมีแผนเดินทางไปอีกครั้งกลางเดือนพ.ย. ซึ่งก็จะเป็นครั้งแรกใน 44 ปีที่แม่กับลูกสาวได้มาพบกันในที่สุด