
เกาหลีใต้เล็งยกเลิกอภิสิทธิ์รร.เอกชนเพิ่มความเสมอภาคการศึกษา
รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศแผนยกเครื่องการศึกษาระดับมัธยม ยุบสถานะพิเศษของโรงเรียนหัวแถว 3 กลุ่ม คุมการรับเข้าและหลักสูตรเอง
กระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ แถลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแผนการปฏิรูประบบโรงเรียนมัธยมปลาย โดยสาระสำคัญอยู่ที่การยุบสิทธิพิเศษและความเป็นอิสระในการรับเข้า การเงินและหลักสูตรการเรียนการสอน ของโรงเรียน 3 กลุ่มที่มักเรียกกันว่าโรงเรียนอภิสิทธิ์ ได้แก่ โรงเรียนภาษาต่างประเทศ โรงเรียนนานาชาติศึกษา และโรงเรียนเอกชนอิสระ เพื่อยกระดับความเสมอภาคทางการศึกษาและปรับปรุงการศึกษาของรัฐในภาพรวม
โรงเรียนเอกชนแบบบริหารเป็นอิสระ โรงเรียนภาษาต่างประเทศ และโรงเรียนนานาชาติศึกษา เริ่มเข้าไปในระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ในปี 2544 2535 และ 2541 ตามลำดับ ปัจจุบัน เกาหลีใต้มีโรงเรียนมัธยมปลายเอกชนอิสระ 42 แห่ง โรงเรียนภาษาต่างประเทศ 30 แห่ง และโรงเรียนมัธยมปลาย 7 แห่ง
ทั้งหมด 79 แห่งที่ว่านี้ จะเปลี่ยนสถานะเป็นโรงเรียนปกติภายในปี 2025
แต่โรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ และเฉพาะเจาะจงในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น สายวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และกีฬา สถานภาพยังคงเดิม
โรงเรียนเอกชนอิสระโดยทั่วไป ไม่ได้มุ่งสาขาใดเป็นพิเศษ แต่สามารถพัฒนาหลักสูตรเองได้อย่างเป็นอิสระ ส่วนโรงเรียนภาษาต่างประเทศ จะให้เวลากับหลักสูตรการศึกษาภาษาต่างประเทศมากเป็นพิเศษ และโรงเรียนนานาชาติศึกษา จะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กฎหมาย วัฒนธรรมและธุรกิจระหว่างประเทศ โรงเรียนทั้ง 3 ประเภท ไม่พึ่งงบประมาณจากรัฐบาล คัดเลือกนักเรียนได้อย่างอิสระ พัฒนาหลักสูตร และกำหนดอัตราค่าเทอมเอง
แต่ประธานาธิบดีมุน แจ อิน มองว่าระบบโรงเรียนอภิสิทธิ์ เป็นตัวการสำคัญของความไม่เสมอภาคทางการศึกษา ค่าใช้จ่ายสูง มุ่งเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยเป็นหลัก และส่งเสริมการแข่งขันทางวิชาการอย่างเกินเหตุ
แผนปฏิรูปการศึกษายิ่งถูกพูดถึง หลังเกิดเรื่องอื้อฉาว บุตรสาวของนายโช กุก อดีตรัฐมนตรียุติธรรม ถูกก่าวหาใช้เส้นสายและอภิสิทธิจากปูมหลังครอบครัว เข้าเรียนสถาบันชั้นนำ
“ระบบโรงเรียนแบบมีชนชั้น ไม่เพียงสร้างความไม่เสมอภาคในระบบการศึกษามัธยมปลายในภาพรวม แต่ยังเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่สอดรับอนาคต ดังนั้น เราจึงตัดสินใจปรับปรุงอย่างพลิกโฉม” ยู อึน แฮ รัฐมนตรีศึกษาเกาหลีใต้แถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ขณะปฏิเสธความวิตกที่ว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะทำให้คุณภาพการศึกษาและทางเลือกของนักเรียกตกต่ำลง
สถิติแอดมินชันของผู้สมัคร 2.02 ล้านคนที่มหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ 13 แห่ง รวมถึง 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง โซล ยนเซและโคเรีย พบว่านักเรียนจากโรงเรียนภาษาต่างประเทศ และนานาชาติศึกษา ทำได้ดีกว่านักเรียนจากโรงเรียนปกติ ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้นักเรียน ยิ่งพยายามจะเข้าแต่โรงเรียนเอกชนในกลุ่มนี้ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความไม่เสมอภาคในระบบโรงเรียนม.ปลายมากขึ้นอีก
รัฐมนตรีศึกษาให้สัญญาว่า รัฐบาลเตรียมอัดฉีดงบประมาณ 2.2 ล้านล้านวอน รองรับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาคุณภาพโรงเรียนม.ปลายและในภาพรวม ระยะ 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ภายในปี 2025 จะนำระบบการเรียนการสอนรายวิชาเป็นหน่วยกิตมาใช้ในโรงเรียนมัธยม ให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกวิชาเรียนอีกด้วย