ข่าว

ดูแลสุขภาพอย่างไร ลดเสี่ยง เลี่ยงปัญหาจากฝุ่น PM2.5

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กทม.ติดตามสถานการณ์ฝุ่นPM2.5 ใกล้ชิด เพิ่มความถี่ล้างถนน ฉีดพ่นละอองน้ำ แนะวิธีดูแลสุขภาพ ลดความเสี่ยง เลี่ยงปัญหาจากฝุ่น PM2.5

 

8 พฤศจิกายน 2562 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 อย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที  

 

 

โดยเฉพาะพื้นที่ที่พบปริมาณฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน สำนักสิ่งแวดล้อม ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งเพิ่มความถี่การล้างทำความสะอาดถนนและพ่นฉีดละอองน้ำในอากาศ ล้างทำความสะอาดใบไม้เพื่อดักจับฝุ่นละออง ตลอดจนรณรงค์การบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษ รณรงค์ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างต่อเนื่อง 

 

กทม. ยังมีช่องทางการติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพฯ และการแจ้งเตือนบริเวณที่มีค่าฝุ่นละอองสูง รวมถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง พร้อมแนะนำการปฏิบัติตนเพื่อดูแลสุขภาพอนามัย โดยสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศของ กทม. แบบ Real Time ได้ที่ www.bangkokairquality.com www.air4bangkok.com Facebook : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และแอปพลิเคชัน "กทม. Connect"

 

ขณะเดียวกันในส่วนของสำนักอนามัย กทม. ได้ประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสะสมตัวเพิ่มขึ้นและคุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงได้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น แผ่นพับ โปสเตอร์ แผ่นปลิว และสื่อออนไลน์ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 

                                                                  

แนะวิธีดูแลสุขภาพ ลดความเสี่ยง เลี่ยงปัญหาจากฝุ่น PM2.5

 

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่บางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 มีค่าเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด คือ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย 1. เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ

 

2. กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจ โรคหืด โรคปอด โรคถุงลมอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง และ 3. ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ได้แก่ ตำรวจจราจร คนกวาดถนน พ่อค้า แม่ค้าที่ขายของอยู่ริมฟุตบาท ซึ่งเมื่อได้รับฝุ่นละอองมากๆ ก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองได้และส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ดังนั้นอยากให้ทุกคนและผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงป้องกันอันตรายจากฝุ่น PM2.5 และดูแลสุขภาพของตนให้แข็งแรงอยู่เสมอ 

 

 

ดังนี้ อยู่ภายในบ้านไม่ออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงจากฝุ่น PM2.5 ปิดประตูหน้าต่างป้องกันฝุ่นละออง หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง N95 หรือใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก หลีกเลี่ยง  การออกกำลังกาย และทำงานหนักที่ออกแรงมากๆ เพราะการหายใจเร็วในระหว่างออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายรับฝุ่นละอองเข้าไปมากขึ้น ดื่มน้ำ ทานอาหารให้เหมาะสมและพักผ่อนให้เพียงพอ โดยผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการทรุดให้รีบพบแพทย์

 

สำหรับดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) แบ่งออกเป็นดังนี้ ปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่า 0 – 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งและการท่องเที่ยว ปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่า 26 – 37 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศดี สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและท่องเที่ยวได้ตามปกติ ปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่า 38 – 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศปานกลาง

 

ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหากมีอาการ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่า 51 – 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไปควรเฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น

 

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการ ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์ และปริมาณฝุ่น PM2.5 มีค่า 91 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกคนควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงพื้นที่มลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

 

 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ