
'หม่อมเต่า'การันตี กองทุนประกันสังคมยังมั่นคง
'หม่อมเต่า' การันตีกองทุนประกันสังคมยังมั่นคงอยู่ โต้กระแสข่าวถังแตกภายใน 15 ปี
วันที่ 4 พ.ย.2562 - ตามที่ได้มีการเสนอข่าวว่ากองทุนประกันสังคม จะหมดลงภายใน 15 ปี นั้น หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวชี้แจงในโอกาสเข้าตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาในเรื่องสถานะกองทุนประกันสังคม ณ สำนักงานประกันสังคม (สำนักงานใหญ่) ถ.ติวานนท์ จ. นนทบุรี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ว่า..
จากรายงานคณิตศาสตร์ประกันภัยของสำนักงานประกันสังคมร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รายงานเมื่อปี 2015 สถานะของกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันยังมีความมั่นคง แต่ด้วยปัจจัยในอนาคต ที่ต้องพบกับปัญหาผู้สูงอายุมากขึ้น แรงงานเข้าระบบประกันสังคมลดลง
ในขณะเดียวกันมีการพัฒนาสิทธิประโยชน์สูงขึ้น ปัจจัยเช่นนี้ส่งผลถึงสถานะของกองทุนประกันสังคมในระยะยาวจริง แต่อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคม ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เฝ้าติดตามตัวเลขปัจจัยที่มีผลกระทบกับสถานะของกองทุน
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล กล่าวย้ำว่า การดำเนินการแก้ปัญหานั้น ต้องคำนึงถึงระยะเวลา ความเหมาะสมกับสถานการณ์ ภาวะเศรษฐกิจ และต้องหาวิธีการดำเนินการที่เหมาะสมให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้กองทุนมีความมั่นคง ยั่งยืนยาวนานตลอดไป
ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมเองก็ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม
"ดังนั้นขอให้ผู้ประกันตนมีความเชื่อมั่นในการบริหารกองทุนและการสร้างผลตอบแทนสะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่กองทุนประกันสังคม ในการที่จะสามารถรองรับค่าใช้จ่ายในการดูแล และพัฒนาสิทธิประโยชน์กลับคืนสู่ผู้ประกันตนทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป" หม่อมราชวงศ์จัตุมงคลกล่าว
อนึ่ง ผลการดำเนินงานการบริหารการลงทุนประกันสังคม กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน 2562 พบว่า สถานะเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคม ณ 30 มิถุนายน 2562 มีเงินลงทุนจำนวน 2.02 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นเงินสมทบที่จัดเก็บจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาลจำนวน 1.41 ล้านล้านบาท และดอกผลจากการลงทุนสะสม 611,017 ล้านบาท โดยเงินลงทุนสามารถแบ่งออกเป็น หลักทรัพย์ที่มีความมั่งคงสูงร้อยละ 78.5 และหลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 21.5 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ที่กำหนดกรอบการลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงไม่เกินร้อยละ 40 และอยู่ภายใต้ค่าความเสี่ยงที่คณะกรรมการกำหนด
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง