ข่าว

เปิดเงื่อนไข...ใครได้สิทธิ์จีเอสพี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดเงื่อนไขใครมีสิทธิ์ได้ จีเอสพี สิทธิทางภาษีประเทศพัฒนา ให้ประเทศที่กำลังพัฒนา หวังสร้างงาน เศรษฐกิจเติบโต

 

27 ตุลาคม 2562 ท.พ.ประโยชน์ เพ็ญสุต อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า จีเอสพี (GSP) ย่อมาจาก generalized system preference คือ สิทธิทางภาษีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย 

 

โดยไม่ต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าบางรายการเมื่อส่งสินค้าไปขายในประเทศผู้ให้สิทธิ เพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถส่งออกสินค้าไปแข่งกับสินค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแข่งกับประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าได้ราคาถูกและมีประสิทธิภาพ เช่น จีน เป็นต้น

 

เมื่อสามารถขายสินค้าของตนเองได้ จะทำให้เกิดการผลิต การจ้างงาน และทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับสิทธิมีความเจริญเติบโต ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนและมาตรฐานการครองชีพคนงานในประเทศดีขึ้น นอกจากนี้ GSP ยังมีส่วนช่วยผู้ประกอบการของประเทศผู้ให้เองสามารถลดต้นทุนในการผลิตสินค้า เมื่อนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP เพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าด้วย

 

การให้สิทธิ GSP นี้ เป็นการให้แบบฝ่ายเดียว (unilateral) คือประเทศที่ให้สิทธิ GSP ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากประเทศผู้รับ แต่เป็นการให้แบบมีเงื่อนไข คือ ประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP นี้จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประเทศผู้ให้วางไว้ เช่น ในกรณีของประเทศสหรัฐ ประเทศผู้มีสิทธิได้รับ GSP จากสหรัฐ จะต้องมีรายได้ของประชากรต่อหัว (GNP per capita) ไม่เกิน 12,476.00 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี (ประเทศไทยมีรายได้ประมาณหกพันเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี)

 

"ต้องเป็นประเทศที่ไม่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่ดีพอสมควร มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล มีความพยายามในการขจัดการใช้แรงงานเด็ก และมีเงื่อนไขอื่น ๆ ในด้านการค้าและการปฏิบัติต่อสหรัฐอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่น เป็นต้น"

 

 

ในปัจจุบันสหรัฐให้สิทธิ GSP แก่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ 125 ประเทศ ครอบคลุมสินค้าประมาณ 3,500 รายการ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป แต่ประเทศกำลังพัฒนาในระดับน้อยที่สุด (least developed country : ซึ่งมีรายได้โดยเฉลี่ยต่อหัวน้อยกว่า 1,305 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี) สหรัฐจะเพิ่มรายการที่ได้รับสิทธิ GSP นี้อีกประมาณ 1,500 รายการ สหรัฐเริ่มให้สิทธิทางภาษีแก่ประเทศต่าง ๆ โดยออกเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 แต่ไม่ได้เป็นการถาวร โดยเมื่อกฎหมายหมดอายุลงก็มีการต่ออายุออกไปเป็นระยะ ๆ จนถึงปัจจุบัน

 

การให้สิทธิทางภาษี GSP นอกจากจะเป็นการช่วยประเทศต่าง ๆ ในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่สหรัฐใช้ในการชักจูงและกดดันประเทศต่าง ๆ ให้ปรับปรุงกฎระเบียบและพัฒนาแนวทางปฏิบัติทางการค้าและทางสังคมที่เกี่ยวข้องในระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การควบคุมการใช้แรงงานเด็ก รวมถึงลดการกีดกันทางการค้าให้น้อยลงด้วย

 

ในอดีตสหรัฐมีการยกเลิกการให้สิทธิ GSP แก่ประเทศต่าง ๆ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ได้แก่ กรณีไม่คุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น บังกลาเทศ ในปี 2556 เบลารุส ในปี 2543 กรณีไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ฮอนดูรัส ในปี 2541 ยูเครน ในปี 2544 ซึ่งเมื่อประเทศที่ถูกยกเลิก GSP มีการปรับปรุงและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะได้สิทธิ GSP กลับคืนมา แต่มีบางประเทศที่ถูกยกเลิกสิทธิ GSP เป็นการถาวรเมื่อมีระดับการพัฒนาประเทศที่สูงมากจนไม่จำเป็นต้องได้รับสิทธิ GSP แล้ว ได้แก่ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง ในปี 2532 มาเลเซีย ในปี 2541 และรัสเซีย ในปี 2556 ส่วนประเทศไทยยังคงเป็นประเทศหนึ่งที่ยังได้รับสิทธิทางภาษี GSP จากสหรัฐ

Cr.ประชาชาติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ปรี๊ดแตก แอ๊ด คาราบาว ปลุกคนไทยสู้อเมริกา
-(คลิป)จุรินทร์ สั่งดูผลกระทบสหรัฐไม่ปลื้มแบน 3 สาร
-571 สินค้าไทยถูกสหรัฐฯตัด GSP
-อนุทิน ไม่กังวลกระแสข่าวสหรัฐฯ กดดันไทย เลิกแบนสารพิษ

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ