
"พงตึก"บนเส้นทางการค้าโบราณแห่งลุ่มแม่กลอง
พงตึก เป็นทั้งชื่อตำบลหนึ่งใน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี และเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณ มีวัตถุสถานยุคทวารวดี เมื่อพุทธศตวรรษที่ 11 หรือราวหลัง พ.ศ.1000 บนที่ราบลุ่มฝั่งขวาคุ้งน้ำแม่กลอง
ชื่อ “พงตึก” สันนิษฐานว่าเป็นชื่อเรียกตั้งขึ้นในสมัยหลัง แม้ชื่อเดิมยังไม่มีข้อมูลหลักฐานที่กล่าวถึง แต่อย่างน้อย ชื่อพงตึก ก็มีเรียกกันอยู่ในต้นยุครัตนโกสินทร์แล้ว ดังกล่าวถึงในนิราศพระแท่นดงรัง ที่เดิมเชื่อกันว่าแต่งโดยสามเณรกลั่น แต่ภายหลังมีการวิเคราะห์กันว่าควรเป็นงานของสุนทรภู่เองมากกว่า ได้กล่าวถึงพงตึกไว้ดังนี้
๏ แล้วจากท่ามาถึงตรงคุ้งพงตึก อนาถนึกสงสัยได้ไถ่ถาม
ท่านผู้เฒ่าเล่าต่อเป็นข้อความ ว่าตึกพราหมณ์ครั้งแผ่นดินโกสินราย
แต่ตึกมีที่ริมน้ำเป็นสำเหนียก คนจึงเรียกพงตึกเหมือนนึกหมาย
ถึงท่าหว้าป่ารังสองฝั่งราย กับเซิงหวายโป่งกลุ้มดูคลุมเครือ ๏
จากเนื้อความในนิราศ ทำให้เป็นที่เข้าใจได้ว่า ชื่อ พงตึก น่าจะมาจาก “พง” ที่หมายถึง พงหญ้าหรือพงไม้ขึ้นหนาแน่น และ “ตึก” ที่คงหมายถึง ซากอาคารโบราณต่างๆ ที่พบเจอกันในย่านนั้น
จากหลักฐานต่างๆ ที่พบ แสดงถึงว่าชุมชนที่พงตึกนับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลัก โดยมีศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกายปะปนอยู่ด้วย จากการพบพระวิษณุที่มีอายุร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดี
พงตึก เป็นจุดผ่านเส้นทางคมนาคม ที่ได้รับการติดต่อค้าขายกระจายสินค้าบนเส้นทางแม่น้ำแม่กลองเชื่อมอ่าวไทย หรือเชื่อมเส้นทางบกผ่านช่องเขาตะนาวศรีด่านเจดีย์สามองค์ต่อไปยังมะริดออกอันดามัน ร่องรอยที่บริเวณใกล้กันนั้นยังมีชื่อ “บ้านอู่ตะเภา” ใน ต.พงตึก ที่น่าจะแสดงถึงสภาพพื้นที่เดิมที่น้ำจะท่วมในฤดูน้ำหลาก เรือสำเภาที่ล่องตามแม่กลองจะแวะเข้ามาจอดพักหรือส่งถ่ายสินค้าได้
ร่องรอยจากโบราณสถานวัตถุ ผสมกับชื่อนามท้องถิ่นดั้งเดิม คือร่องรอยมีคุณค่าที่ทำให้เราจินตนาการภาพของอดีตได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
เรือนอินทร์ หน้าพระลาน