ข่าว

เลขาฯครป. ระบุผู้พิพากษายะลายิงตัวสะท้อนปัญหายุติธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลขาฯครป. ระบุผู้พิพากษายะลายิงตัวเอง สะท้อนปัญหาโครงสร้างกระบวนการยุติธรรม เรียกร้อง รัฐบาล ปธ.ศาลฎีกา​​​​​​​ ปฏิรูปทั้งระบบ การตัดสินคดีต้องอิสระ เป็นธรรม

 

เลขาธิการ ครป. ระบุผู้พิพากษายะลา ยิงตัวเอง ประท้วงระบบยุติธรรม สะท้อนปัญหาโครงสร้าง ผู้มีอำนาจสามารถสั่งคดี ทำผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อ เรียกร้อง รัฐบาล ประธานศาลฎีกา  ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ แยกอำนาจสอบสวนออกจาก สตช. ผู้พิพากษา ต้องมีอิสระ การตัดสินคดีต้องเป็นธรรม

 

         นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวถึงกรณีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลจังหวัดยะลายิงตัวตาย เพื่อประท้วงระบบยุติธรรมในชั้นตุลาการ สะท้อนปัญหาทางโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ 

 

         นายเมธา กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวกำลังบอกเราอย่างชัดเจนว่า ประเทศนี้ผู้มีอำนาจสามารถสั่งคดีหรือออกแบบคดี สามารถสั่งให้ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อในกระบวนการยุติธรรมได้ ระบบศาลมีการพิจารณาคดีโดยไม่เป็นอิสระ ไม่ต่างจากระบบตำรวจที่พนักงานสอบสวนถูกสั่งให้ซ้ายขวาหันขวาได้ เพราะถูกกำกับด้วยระบบชั้นยศและโครงสร้างอำนาจ ที่ผู้บังคับบัญชาสามารถแทรกแซงสำนวนคดีได้ เหมือนกับกรณีที่อธิบดีศาลอาจใช้อำนาจมิชอบแทรกแซงก้าวก่ายคดีของผู้พิพากษาได้ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

 

         "ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบโดยเร่งด่วน ทั้งในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการและในชั้นศาล โดยเฉพาะการแยกอำนาจสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อความอิสระในการสอบสวนคดีและให้อัยการมีส่วนร่วม รวมถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ฝ่ายตุลาการต้องมีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน จะต้องปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจภายนอกและกลไกภายในที่ฉ้อฉล เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่า ปัจจุบันนี้เราอาจมีผู้บริสุทธิ์มากมายถูกจับกุมคุมขังอยู่ในคุก โดยไร้กระบวนการช่วยเหลือให้ได้รับความยุติธรรม การเยียวยาหรือตรวจสอบคดีอย่างเป็นรูปธรรม กระทรวงยุติธรรมจะต้องออกมาดูแลเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน" เลขาธิการ ครป. กล่าว

 

         นายเมธา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนขอเรียกร้องไปยังนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาคนใหม่ที่ออกมาเปิดการรับฟังและข้อเสนอแนะจากประชาชนเป็นครั้งแรก ถือเป็นเรื่องที่ดีและเป็นมิติใหม่ทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาฝ่ายตุลาการไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนในระบบ 3 อำนาจอธิปไตย ขอให้นำเรื่องนี้ไปแก้ไขและปฏิรูปตุลาการและระบบศาล ยุติการแทรกแซงอำนาจอิสระ การออกแบบคำพิพากษาโดยมีธงทางการเมืองจากฝ่ายความมั่นคงหรือจากผู้มีอำนาจใดๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง

 

         "เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่กระบวนการยุติธรรมไทยไร้มาตรฐานและตกเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจได้ เราจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเพราะเหตุใดเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงยังไม่เคยสงบสุข เพราะมีคนจำนวนหนึ่งตกเป็นเหยื่อของนโยบายความมั่นคงของผู้มีอำนาจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน. กองทัพ หรือหน่วยความมั่นคงอื่นๆ คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องปฏิรูปนโยบายความมั่นคง และรูปแบบการทำงานใหม่ เพื่อป้องกันภัยคุกคามในสมัยใหม่ที่แท้จริง เพราะเราผ่านยุคสงครามเย็นมาแล้วแต่เราไม่เคยปฏิรูปแนวคิดนี้กับผู้มีอำนาจเลย พวกเขาเลยอาจฉลาดมองคนไทยด้วยกันเพียงที่เห็นต่างทางการเมืองเป็นภัยคุกคามชาติและมีโครงข่ายขบวนการทำลายประเทศ" นายเมธา กล่าว

 

         นอกจากนี้ การที่ผู้แทนกองทัพและกอ.รมน. ได้แจ้งจับนักวิชาการและนักการเมือง กรณีที่อภิปรายเกี่ยวกับความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเช่นก้น เป็นการใช้อำนาจล้าหลังเข้ากลั่นแกล้งคุกคาม เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพที่กระทำได้ในทางวิชาการ ไม่เข้าองค์ประกอบผิดกฎหมายความมั่นคงใดๆ เพราะคนไทยมีสิทธิ์ตั้งคำถามต่อกฎหมายที่รัฐบาลทหารได้ร่างขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจไม่ต่างจากเขตปกครองพิเศษแบบพัทยา กรุงเทพมหานคร หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ พวกเขาในฐานะประชาชนไม่มีอำนาจที่จะกระทำการใดๆ ด้วยซ้ำนอกจากเปล่งเสียงเรียกร้องและตั้งคำถาม 

 

         ทั้งนี้ ในรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยย่อมต้องมีพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มมีสิทธิเสรีภาพที่จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายได้ตามบรรทัดฐานกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ ไม่ถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงต่อประเทศแต่อย่างใด.

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ