ข่าว

เปิดโลกผลงานสิ่งประดิษฐ์   สู่รางวัล"สภาวิจัยแห่งชาติ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดโลกผลงานสิ่งประดิษฐ์   สู่รางวัล"สภาวิจัยแห่งชาติ"

               สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) จัดประกวด “ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2563” เพื่อขอรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติเพื่อแสดงศักยภาพด้านการประดิษฐ์คิดค้น และเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชน และเกิดความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ  ซึ่งในปีนี้ มีผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 177 ผลงาน ใน 9 สาขา ได้แก่ 1.สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ 2.สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3.สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช 4.สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา 5.สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย 6.สาขาสังคมวิทยา 7.สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ 8.สาขาปรัชญา และ 9.สาขาการศึกษา 

เปิดโลกผลงานสิ่งประดิษฐ์   สู่รางวัล"สภาวิจัยแห่งชาติ"

 

         “รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติเป็นอีกหนึ่งเวทีที่จะช่วยส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจแก่นักวิจัยและนักประดิษฐ์ ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติ”

          ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2563 ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ถ.พหลโยธิน เมื่อวันที่ 23 กันยายน เขาระบุอีกว่า เป็นรางวัลในการสนับสนุนนักวิจัย นักประดิษฐ์ ในการพัฒนางานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนการพัฒนาประเทศด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ สามารถนำไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” 

             เลขาธิการ วช. เผยต่อว่า กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือเรียกชื่อย่อว่า อว. เป็นกระทรวงที่จัดตั้งใหม่ มีบทบาทภารกิจสำคัญในการวางรากฐานประเทศสู่อนาคต โดยอาศัยกลไกในการขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก การสร้างและพัฒนาคนให้เป็นสมาร์ท ซิติเซ็น สร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำลดช่องว่างทางสังคม สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ พร้อมกับการปลูกฝังลักษณะนิสัยที่พร้อมรับมือกับโลกในศตวรรษที่ 21

เปิดโลกผลงานสิ่งประดิษฐ์   สู่รางวัล"สภาวิจัยแห่งชาติ"

               ประการต่อมา การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า บูรณาการการวิจัย 3 ศาสตร์คือวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ที่สามารถแปลงการวิจัยเป็นความสามารถความเป็นปกติสุขและนวัตกรรมครอบคลุมทั้งนวัตกรรมธุรกิจ นวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมชุมชน และประการสุดท้ายการสร้างและพัฒนานวัตกรรมไปสู่ประเทศฐานนวัตกรรม โดยการแปลงนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชนอย่างยั่งยืน

                “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักของ อว. ซึ่งมีหน้าที่ภารกิจทั้งหมด 7 ประการด้วยกัน 1 ใน 7 ประการนี้มีหน้าที่ให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมและสนับสนุนให้การวิจัยและและนวัตกรรมนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และที่สำคัญอีกประการคือ การให้รางวัลเพื่อเชิดชูยกย่องเพื่อเป็นกำลังใจแก่นักวิจัยและหน่วยงานวิจัยในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง” ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวย้ำ

                 สำหรับการจัดประกวด “ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2563” เพื่อขอรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ “รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น” ในครั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช.1 และบริเวณห้องโถงกิจกรรม 1 อาคาร วช. 4 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 23-24 กันยายนนี้

          เปิดโลกผลงานสิ่งประดิษฐ์   สู่รางวัล"สภาวิจัยแห่งชาติ"

  จากอาราบิก้าหมักยีสต์สู่กาวดักแมลง 

               ผศ.ดร.สุขุมาภรณ์ กระจ่างสังข์ และคณะ นักวิจัยจากภาคจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะเจ้าของผลงานกาแฟอาราบิก้าหมักด้วยยีสต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่นำมาประกวดในครั้งนี้ กล่าวกับ “คม ชัด ลึก” ถึงที่มาของผลงานชิ้นนี้ โดยระบุว่า การประดิษฐ์คิดค้นนี้ได้ปรับปรุงกระบวนการหมักเมล็ดกาแฟอาราบิก้า โดยการเติมหัวเชื้อยีสต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหมักให้ได้กลิ่น รส และคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นกว่าการใช้เชื้อจุลินทรีย์ตามธรรมชาติ ซึ่งการที่เกษตรกรใช้กระบวนการหมักแบบดั้งเดิมเมื่อสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงเช่นอุณหภูมิ ความชื้น มักส่งผลให้เชื้อจุลินทรีย์ในการหมักแบบธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้คุณภาพกาแฟไม่คงที่และไม่สามารถปรุงกลิ่นรสได้ตามที่ต้องการ

เปิดโลกผลงานสิ่งประดิษฐ์   สู่รางวัล"สภาวิจัยแห่งชาติ"

     ผศ.ดร.สุขุมาภรณ์ กระจ่างสังข์

               “งานวิจัยชิ้นนี้จะปรับเปลี่ยนกลิ่นกาแฟซึ่งจะเพิ่มมูลค่าของกาแฟจากเดิมเป็น 2-3 เท่า เป็นกระบวนการที่ง่าย แค่นำหัวเชื้อไปละลายน้ำก็สามารถหมักได้ เราจะนำหัวเชื้อนี้ไปให้เกษตรกรใช้เพื่อเพิ่มมูลค่ากาแฟของตัวเองได้ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วในหลายกลุ่มในพื้นที่ จ.เชียงราย” ผศ.ดร.สุขุมาภรณ์ อธิบาย

                 การนำหัวเชื้อยีสต์ไปใช้ในการหมักกาแฟทำให้เพิ่มคุณภาพ ดันกลิ่นรสกาแฟได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อนำกาแฟไปประเมินคุณภาพตามวิธีการมาตรฐานของ SCAA Cupping Protocol และทดสอบกลิ่นรสโดย Arabiga Grader จำนวน 3 ท่านที่ได้รับใบรับรองจากสถาบัน Coffee Quality Institute(CQ) พบว่ากาแฟที่ผ่านการหมักด้วยหัวเชื้อยีสต์จะมีรส กลิ่น ที่แปลกใหม่ไม่เหมือนเดิม

              ขณะที่ ดร.ปณิธิ วิรุฬห์พอจิต และคณะ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ เจ้าของผลงานกาวดักแมลงปลอดสารพิษจากยางพาราเพื่อการเกษตร กล่าวถึงผลงานสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ว่า กาวดักแมลงจากยางพาราสามารถผลิตได้จากน้ำยางธรรมชาติได้แก่น้ำยางสด น้ำยางข้น และยางธรรมชาติชนิดแห้ง ได้แก่ ยางแผ่นผึ่งแห้ง ยางแท่ง เป็นต้น ซึ่งกาวดักแมลงที่ได้จะมีลักษณะเหนียว สีเหลืองใส ไม่มีกลิ่น ผลิตได้ง่าย ไม่มีกระบวนการที่ซับซ้อนแต่อย่างใด

                ในการผลิตกาวดักแมลงจากยางพาราใช้หลักการผสมยางธรรมชาติกับน้ำมันจากพืชในสัดส่วนที่พอเหมาะและกระบวนการที่จะช่วยในการบวมตัวของยาง นอกจากนี้ยังสามารถปรับคุณสมบัติความหนืดและความเหนียวติดของกาวกับถุงพลาสติกด้วยสารละลายสบู่และแป้งจะได้กาวดักแมลงที่ทำง่าย สามารถยึดติดบนแผ่นกับดักแมลงได้ยาวนานมากกว่า 2 สัปดาห์ โดยไม่แห้งและยังมีอายุการเก็บรักษาได้นานมากกว่า 1 ปี เมื่อทากาวลงบนกับดักสามารถดักจับแมลงในแปลงผักได้นานกว่า 15-30 วัน

                “กรรมวิธีในการผลิตกาวดักแมลงนี้เป็นกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทำได้ง่ายภายในชุมชน มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากนี้ผู้ประดิษฐ์ยังออกแบบแผ่นกับดักแมลงจากยางพาราให้อยู่ในรูปแบบสติกเกอร์เพื่อการใช้งานที่สะดวกยิ่งขึ้น” นักวิจัยคนเดิมกล่าว

                 เช่นเดียวกับ ดร.สายัณห์ บัวบาน นักวิจัยสำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เจ้าของผลงานโคนมพันธุ์ทรอปิคอล โฮลสไตน์ จากโครงการพัฒนาและผลิตน้ำเชื้อพ่อโคนมพันธุ์ดี ของกรมปศุสัตว์ โดยกำหนดเป้าหมายในการปรับปรุงพันธุ์โคนมของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการผลิต ระบบการตลาดและโครงสร้างของประชากรโคนมคือจะสร้างโคนมพันธุ์ทรอปิคอล โฮลสไตน์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูของประเทศไทย มีสายเลือดของพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชียนมากกว่าหรือเท่ากับ 75% ขึ้นไป และมีพันธุกรรมของลักษณะการให้ผลผลิตน้ำนมคือปริมาณน้ำนม ไขมันและโปรตีนเหมาะสม มีลักษณะรูปร่าง ขา กีบ และระบบเต้านมที่ดี ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีทางการปรับปรุงพันธุ์ เช่น วิธีการประเมินค่าทางพันธุกรรมที่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงให้มีความถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้นตามลำดับอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาทั้งวิธีการทางสถิติโมเดลที่ใช้ในการวิเคราะห์มาช่วยในการคัดเลือก โดยโครงการนี้จะช่วยประหยัดเงินตราในการสั่งซื้อน้ำเชื้อจากต่างประเทศอีกด้วย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ