ข่าว

ผุด 245จุดตรวจ  ทุก 90 กม. ทั่วปท.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

.

 

 

          คมนาคมงัดมาตรการคุมเข้มความปลอดภัยบนถนน สกัดอุบัติเหตุ สั่งขนส่งทางบกตั้ง 245 จุดตรวจทั่วประเทศ ภายใน 2 สัปดาห์ ตรวจรถโดยสารสาธารณะ-โชเฟอร์ 24 ชม.ทุก 90 กม. ใน 111 เส้นทาง ประสานใช้ปั๊มน้ำมัน ขอประชาชนเป็นหูเป็นตา ร้องเรียนได้ที่จุดตรวจและผ่านเว็บไซต์

 

 

 

 

          วานนี้(21ส.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม แถลงถึง มาตรการเร่งด่วนคุมเข้มรถโดยสารสาธารณะว่า หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ส.ค. เรื่องมาตรการความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ วันนี้ (21 ส.ค.) ได้นัดกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มาหารือถึงมาตรการในเบื้องต้น จนได้ข้อสรุปดังนี้

 

          1.การตรวจสอบสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถโดยสาธารณะจำนวนรวม 1,203,790 คน (ข้อมูล 31 ก.ค. 2562) ในระยะเวลา 1 เดือน ขบ.จะต้องตรวจสมรรถภาพร่างกายผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะให้ได้ 120,000 คน และในระยะเวลา 3 เดือน จะต้องตรวจสอบให้ครบทั้งหมด การตรวจสอบจะดำเนินการใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 


          1.ปฏิกิริยาการใช้เบรกเท้า และ 2.ทดสอบสายตา มองกว้างลึกและตาบอดสี หากผู้ใดไม่ผ่านตาม 2 ข้อข้างต้นจะให้ตรวจสอบใหม่อีกครั้ง เฉพาะส่วนที่ไม่ผ่านได้อีกครั้งหนึ่งในวันเดียวกันทันที แต่หากไม่ผ่านอีกจะต้องมาตรวจสอบจนกว่าจะผ่านในวันทำการถัดไปภายใน 90 วัน และในระยะเวลา 3 เดือน และในระหว่างที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบห้ามขับขี่รถโดยสาธารณะเด็ดขาด คาดว่าจะต้องใช้กำลังผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ขนส่งทั่วประเทศประมาณ 440,216 ราย




          2.การตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะ ทั้งประจำและไม่ประจำทางจำนวน 150,747 คัน จะประสานสำนักงานขนส่งทั่วประเทศ และสถานบริการตรวจสภาพรถยนต์ (ตรอ.) ตรวจสภาพรถใน 7 รายการ ได้แก่ ทดสอบการห้ามรถ ตรวจสอบศูนย์ล้อ โคมไฟหน้า ควันดำ ระดับเสียง อ็อกก๊าซ และเครื่องวัดก๊าซรั่ว รวมถึงอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ เช่น ระบบ GPS เข็มขัดนิรภัย เบาะที่นั่ง สภาพยางรถ เครื่องดับเพลิง ประตูฉุกเฉิน ค้อนทุบกระจก และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ใน 1 เดือน จะต้องตรวจให้ได้ก่อน 15,000 คัน และใน 3 เดือนจะต้องตรวจสอบให้ครบทั้งหมด


          นอกจากนี้ ได้ทราบว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีต รมว.คมนาคม ได้ลงนามแต่งตั้งผู้ตรวจการขนส่ง 2,000 คนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีอำนาจในการตรวจสอบประเด็นต่างๆ อย่างที่กล่าวมาแล้ว 


          ขณะที่การจัดตั้ง "จุดตรวจความพร้อมเข้มข้นของกรมการขนส่งทางบก 24 ชั่วโมงตลอดปี” หรือ Checking Point การกำหนดจุดจัดตั้ง จะให้เริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ วัดระยะทางที่เหมาะสมออกไปทุกๆ 90 กิโลเมตร ตาม 111 สายทางทั้งหมดทั่วประเทศ โดยให้ประสานงานกับปั๊มน้ำมันทุกแห่งทั่วประเทศในการตั้งจุดตรวจ จะต้องตั้งให้ได้ 245 จุดกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งจะให้เวลากรมฯไปดำเนินการให้เสร็จใน 2 สัปดาห์


          แต่ละจุดต้องปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง แบ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการ 3 ช่วงเวลา ช่วงเวลาละ 8 ชั่วโมงโดยจะให้สำนักงานขนส่งจังหวัดแต่ละแห่งออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะประจำจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ตรวจการขนส่งเป็นหัวหน้า ส่วนผู้ช่วย ให้สำนักงานขนส่งจังหวัดพิจารณาตามความเหมาะสม คาดว่าจะใช้ผู้ตรวจการขนส่งจำนวน 735 คน ส่วนผู้ช่วยจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 คน/จุด 


          สำหรับงบประมาณดำเนินการ จะดึงจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนจำนวน 180 ล้านบาท หรือประมาณ 10 ล้านบาท/เดือน ใช้จ่าย ค่าเบี้ยเลี้ยงและอุปกรณ์การตรวจสอบต่างๆ


          “Checking Point จะเริ่มตรวจตั้งแต่คนขับเริ่มสตาร์ตรถในขนส่ง เพราะรถโดยสารแต่ละคันติดตั้ง GPS อยู่แล้ว ถ้าเข้ารับการตรวจที่จุดแรก และใช้เวลาเดินทางเร็วกว่า 1 ชม. ถือว่าใช้ความเร็วเกินกฎหมายทันที เบื้องต้นจะเตือนก่อน แต่หากไปจุดถัดไป ยังขับเร็วอีก ก็จะดำเนินการขั้นต่อไป คือพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาตตามขั้นตอน ซึ่งจะทำให้เวลาเดินทางของประชาชนช้าลง 5-10 นาที ส่วนรถที่ไม่ยอมเข้า Checking Point ก็จะแจ้งจุด checking Point ถัดไปและตำรวจทางหลวง เพื่อสกัดจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป หากเป็นไปได้ก็อยากให้อุบัติเหตุลดลงเหลือศูนย์”


          รมว.คมนาคม ระบุด้วยว่า นอกจากนี้ ก็ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัย สามารถร้องเรียนได้ 2 แบบคือ ร้องเรียนที่จุด Checking Point กับร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ www.dlt.go.th หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ ส่วนรถที่ไม่ขึ้นทะเบียนก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ